เถียนจ้าวหลิน ศิษย์เอกตระกูลหยางสามรุ่น
- 31/07/2017
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
เถียนจ้าวหลิน 田兆麟 (1891 – 1959) นามอักษรเส้าเซียน เป็นคนปักกิ่ง มีพี่น้องทั้งสิ้นสี่คน อาจารย์เถียนเป็นลูกคนรอง ในวัยเด็กพ่อและพี่ชายคนโตล้วนแต่ด่วนจากไป ครอบครัวจึงอยู่กันอย่างลำบากมาก ล้วนต้องพึ่งพามารดาทำงานซักเย็บเสื้อผ้าให้คนอื่นเพื่อยังชีพ อาจารย์เถียนพออายุได้ 8 ขวบ ก็ออกจากโรงเรียนของตระกูลด้วยตัวเอง (สมัยก่อนจะเป็นการจ้างครูมาสอนตระกูลหนึ่ง เด็กทั้งตระกูลออกเงินเรียนด้วยกัน) มาเปิดแผงขายผลไม้ที่หน้าบ้านเพื่อช่วยดูแลครอบครัว เวลานั้นบ้านตระกูลหยางแห่งมวยไท่จี๋อันเลื่องชื่อในปักกิ่งตั้งอยู่ไม่ไกล ผู้เฒ่าสามหยางเจี้ยนโหวสังเกตุเห็นเด็กคนนี้เป็นเวลานานจึงให้ความสนใจ หลังจากตรวจสอบนานนับปี จึงเชื่อว่าอาจารย์เถียนนั้นมีความซื่อตรงจริงใจและไหวพริบปฏิภาณ จึงรับเข้ามาเลี้ยงดูในบ้านตระกูลหยาง เพื่อให้เป็นผู้สืบทอดวิชา และยังช่วยเหลือฐานะทางบ้านของอาจารย์เถียนด้วย
อาจารย์เถียนเจ้าหลิน
อาจารย์เถียนนั้นมีพรสวรรค์และความฉลาด อายุ 13 เข้าบ้านตระกูลหยาง ก็มุมานะศึกษาวิชาอย่างหนัก เช้าเย็นฝึกฝนสุดยอดวิชาอันลี้ลับของไท่จี๋ ทั้งหมด 7 ปีเต็ม ชุดมวยตระกูลหยางทั้งแบบเก่า ใหญ่ กลาง แคบ และผลักมือ ต้าหลีว์ สานโส่ว ดาบ กระบี่ พลอง ปี้เซินเพียเซินฉุย (ปิดกายเบี่ยงร่างชก) (หรือเรียกว่าห้านิ้วหมัดยินหยาง) รวมทั้งชุดการถ่ายทอดลับอย่างปาต้วนจิ่น (ปาต้วนจิ่นของตระกูลหยาง ไม่ใช่แบบเพื่อสุขภาพตามที่สอนกันภายนอก) สกัดเนื้อเยื่อจับชีพจรคว้าเส้นเอ็นปิดจุดล้วนเชี่ยวชาญ ได้รับการถ่ายทอดที่แท้จริงอย่างเต็มที่ ฝีมือก็บรรลุถึงขั้นสำเร็จ เวลานั้นได้กราบอาจารย์หยางเส้าโหวเป็นอาจารย์ (ตามธรรมเนียม อ.เถียนถ้ากราบ อ.เจี้ยนโหวโดยตรงจะเป็นการข้ามรุ่น จึงต้องให้กราบ อ.เส้าโหวแทนไปก่อน) ท่ามวยของอาจารย์เถียนมีชี่ซื่อ (สภาพที่ก่อให้เกิดความรู้สึก) อันโอ่อ่าน่าเกรงขาม เบาคล่องแคล่วและหนักหน่วงทรงพลังล้วนแต่มีครบ ทั่วร่างของเขาสามารถฟาคนได้ ทุยโส่วสามารถเปลี่ยนแปลงระหว่างชักนำคนและฟาคนได้พิศดารตามใจ ฟาจิ้งบ่อยๆ ล้วนอยู่ในเสียงเฮิง-ฮ่า ทำให้คนทันทีมีความรู้สึกที่เสียศูนย์ถ่วงและทะยานปลิวออกไป ในบ้านอาจารย์เถียนเวลาที่ฝึกพลองยาวไม้เทียนขาว ไม้พลองที่ยาวกว่าหนึ่งจ้าง (ราว 3 เมตร) สามารถถูกสะบัดจนเหวี่ยงไปมาเหมือนเส้นหมี่ แม้ยังห่างจากหน้าต่างกว่าสองสามชุ่น เน่ยจิ้งจากหัวพลองก็ยังสามารถทำให้ประตูหน้าต่างสะเทือนเสียงดังกรอบแกรบได้ ว่ากันว่าอาจารย์เถียนสามารถใช้ไหล่พิงชน (เค่า) ต้นไม้ ก็สามารถทำให้ใบไม้บนต้นสั่นสะเทือนเกิดเสียงซ่าๆ ขึ้นมาได้
หลังจากอาจารย์เถียนอยู่ในตระกูลหยางศึกษาวิชาได้หลายปี ทุกครั้งที่มีแขกมาเยี่ยมเยือนเพื่อขอประลอง ผู้เฒ่าสามหยางเจี้ยนโหวก็จะให้อาจารย์เถียนออกหน้ารับมือ อาจารย์เถียนก็ไม่เคยพลาดท่าเสียที ผู้เฒ่าสามท่านยิ่งให้ความรักใคร่ อาจารย์เถียนเองก็เป็นผู้มีชื่อเสียงในเวลานั้น
ในปี 1912 รัฐบาลสนับสนุนการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาสุขภาพและส่งเสริมชาติให้เข้มแข็ง และมีการจัดงานประลองยุทธเหนือใต้ระดับชาติขึ้นครั้งแรกในหนานจิง (นานกิง) อาจารย์เถียนได้รับคำสั่งให้เป็นตัวแทนตระกูลหยางขึ้นประลองและได้ตำแหน่งชนะเลิศ มีชื่อเสียงทั่วเหนือใต้ ในเวลานั้นมีการตั้งเจียงซูกว๋อซู่กว่าน (สถาบันยุทธ์แห่งชาติเจียงซู) ขึ้นเป็นที่แรก อาจารย์เถียนก็ได้เชิญอาจารย์หยางเส้าโหวให้ขึ้นตำแหน่งในสถาบันด้วยความเคารพ ภายหลังอาจารย์เถียนเดินทางลงให้เพื่อเยี่ยมเยือนมิตรสหายร่วมวงการ ไปจนถึงกว่างโจว ภายหลังเดินทางกลับมา ในหังโจวก็มีการจัดตั้งเจ้อเจียงกว๋อซู่กว่าน (สถาบันยุทธ์แห่งชาติเจ้อเจียง) ขึ้น และได้เชิญให้อาจารย์หยางเฉิงฝู่และอาจารย์เถียนสอนอยู่ที่นั่น เพื่อถ่ายทอดศิลปะวิชา ในเวลานี้อาจารย์เถียนก็ได้รับคำสั่งให้กราบอาจารย์หยางเฉิงฝู่เป็นอาจารย์
เกี่ยวกับเรื่องความเป็นมาของไท่จี๋ตระกูลหยางวงกว้าง กลาง แคบ นั้น เถียนเจ้าหลินเคยอธิบายไว้เรื่องนี้ไว้ คนรู้เรื่องนี้ค่อนข้างน้อย ตามที่เขาเล่า ไท่จี๋ตระกูลหยางแต่เดิมนั้นมีแค่มวยวงแคบ ท่ารำค่อนข้างสูง เปิดปิดนั้นเล็ก เคลื่อนไหวเดี๋ยวช้าเดี๋ยวเร็ว ก้าวเท้าเบาคล่อง จิ้งแข็งและคล่องแต่ไม่สูญเสียความอ่อนหยุ่นราวสำลี วงเก็บไว้ข้างใน เหมือนมีเหมือนไม่มี ในวงรวมเข้ากับฟาจิ้ง เฮิงฮ่ามีเสียง จิงชี่เสินรวมตัวเข้าด้วยกัน ดังที่หยางปานโหวรวมทั้งหยางเส้าโหวฝึกฝน ลงมือรวดเร็วดุดัน มือแตะถูกผิวหนังอีกฝ่ายก็ทำให้เจ็บได้ มักจะใช้เหลิ่งจิ้ง (แรงฉับพลัน) ง่ายที่ทำให้คนบาดเจ็บ คนส่วนใหญ่รับไม่ได้ คนที่ไม่มีพื้นฐานเข้าใจได้ยาก ดังนั้นจึงมีคนเรียนน้อย แต่หยางเจี้ยนโหวคิดจากมุมของคนเรียน จึงนำเอาวงที่ซ่อนอยู่ข้างในทำให้ใหญ่และช้า การเคลื่อนไหวขยายออกมาอย่างพอดี ทำให้ภายนอกอ่อนหยุ่นเหมือนสำลี ภายในยังคงความแกร่งไว้ เพื่อนำให้นักเรียนได้ฝึกการเคลื่อนไหวที่เป็นวง นำไปสู่เงื่อนไขที่พร้อมฝึกวงแคบ และเพื่อพัฒนาพื้นฐาน ท่าทางจึงลดต่ำลง เพิ่มการเคลื่อนไหวที่ซ้ำๆ ที่สำคัญเข้าไป ผสานเข้ากับรูปแบบการหายใจ (คือถึงมวยไท่จี๋จะไม่ได้ให้ใส่ใจการหายใจ แต่เราจะพบว่า จังหวะการรำและเปลี่ยนท่วงท่าจะสอดคล้องกับการหายใจลึกยาวได้เองด้วย) เพื่อเป็นการยกระดับการสร้างเน่ยกงของคนเรียน แต่เนื่องจากยังเป็นการสอนอย่างจำกัด การเข้าใจจากการฝึกวงก็ยังไม่ง่ายดังใจหมาย ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าสัมผัสถึงเน่ยจิ้งได้ คนเรียนจึงยังไม่มาก ภายหลังหยางเฉิงฝู่เพื่อให้ง่ายต่อการฝึก จึงเอาการเคลื่อนวงที่ไม่จำเป็นออกไป การเคลื่อนไหวอ่อนช้า การเปลี่ยนแปลงน้อย เปิดใหญ่ปิดใหญ่ เปิดสอนคนในวงกว้าง คนเรียนจึงมาก การเผยแพร่กว้างขวาง เรียกว่าวงกว้าง หยางเฉิงฝู่เคยกล่าวว่า “เริ่มต้องเรียนให้กว้าง ภายหลังจึงกระชับ เริ่มต้นจากไร้วงจนมีวง จากมีวงจึงกลับถึงไร้วงอีก วงเก็บข้างในไม่ออกมา” ต่อมาในโลกยุคหลัง วงแคบวงกลาง กลับมีคนรู้จักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
อ.เถียนเจ้าหลิน (ซ้าย) แสดงการผลักมือ
ปี 1915 อาจารย์เถียนในวัย 24 ปี ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหน่วยดับเพลิงประจำกรุงปักกิ่ง ไม่ถึงสามปี อาจารย์หยางเจี้ยนโหวผู้เฒ่าก็ด่วนกลับเต้าซาน (ภูเขาธรรมวิถี – หมายถึงตาย) อาจารย์เถียนได้ติดตามอาจารย์หยางเส้าโหวฝึกฝนชุดมวยเร็วในตระกูลและสานโส่วด้วยความอดทนต่อความยากลำบาก จนทักษะนั้นอ่อนหยุ่นเหมือนสำลีและชี่ซื่อ (ลักษณ์อันก่อความรู้สึกต่ออีกฝ่าย) นั้นรวดเร็วรุนแรง อาจารย์หยางเส้าโหวนั้นมีชื่อเสียงว่า “กวนอิมพันมือ” อาจารย์เถียนเองนั้นก็มีทักษะมือที่เปลี่ยนแปลงมาก เท้าก้าวคล่องแคล่ว ค่อนข้างมีรูปแบบของอาจารย์เส้าโหว
ปี 1921 อาจารย์เถียนจ้าวหลินติดตามอาจารย์หยางเส้าโหวถึงหังโจว คนลากรถได้ยินสำเนียงเหนือของอาจารย์เถียน จึงตั้งใจโก่งราคาเป็นสองเท่า อาจารย์เถียนไม่ยินยอม คนลากรถคนนั้นก็ตรงเข้ามาคว้าแขนเสื้อ อาจารย์เถียนยืดแขนออกอย่างปลอดโปร่ง คนลากรถก็ลอยปลิวออกไป ข้างถนนตรงนั้นมีกลุ่มคนลากรถเห็นเหตุการณ์ก็ส่งเสียงดังขึ้น สิบกว่าคนวิ่งเข้ามาล้อม แต่ทันใดนั้นคนทั้งหมดก็ล้มลงไปกับพื้นมีอีกครั้งหนึ่ง อาจารย์เถียนอยู่ในร้านน้ำชาข้างทะเลสาบซีหู นั่งริมหน้าต่างดื่มชาชมวิวทิวทัศน์ ได้มีนายทหารชั้นล่างของรัฐบาลก๊กมินตั๋งเข้ามาออกคำสั่งให้อาจารย์เถียนยกที่นั่งให้ อาจารย์เถียนไม่ยินยอมนายทหารเหล่านั้นเลยลงมือ แต่กลับถูกอาจารย์เถียนฟาออกไปพ้นระยะหนึ่งจ้าง (ราว 3 เมตร) นายทหารกลับไปยังค่ายรวบรวมคนมาสิบกว่าคนล้อมตัวอาจารย์เถียนไว้ คาดไม่ถึงกลับถูกอาจารย์เถียนคว่ำไปทีละคนอย่างง่ายดาย
ปี 1928 วันที่หนึ่งเดือนเจ็ด สาขากว๋อซู่กว่าน (สถาบันยุทธ์แห่งชาติ) ของมลฑลเจียงซูได้รับคำสั่งให้ก่อตั้งขึ้นในหนานจิง ผู้ว่าการของรัฐบาลของมลฑลเจียงซูหนิวหย่งเจี้ยนขึ้นเป็นประธานสถาบัน ซุนลู่ถังเป็นหัวหน้าด้านการศึกษา เถียนเจ้าหลินได้รับเชิญให้รั้งตำแหน่งประธานฝ่ายสำนักบู๊ตึ๊ง จินเจียฝูเป็นประธานฝ่ายสำนักเส้าหลิน ปีต่อมาเจียงซูกว๋อซู่กว่านก่อตั้ง หยางเฉิงฝู่ได้รับการโปรโมทจากลูกศิษย์หวงหยวนซิ่ว ได้รับตำแหน่งประธานของเจียงซูกว๋อซู่กว่าน เถียนจ้าวหลินและลูกศิษย์อาจารย์หยางเฉิงฝู่อาทิ หนิวชุนหมิง หลี่ยาเชวียน ล้วนมาสอนอยู่ที่เจียงซูกว๋อซู่กว่าน เถียนเจ้าหลินครองตำแหน่งประธานฝ่ายบู๊ตึ้งและสอนมวยไท่จี๋ด้วย และยังตั้ง “สมาคมหังโจวเถียนเจ้าหลินไท่จี๋” ขึ้นที่บ้านด้วย และยังกล่าวกันว่า ในตอนที่อยู่ในหังโจวกว๋อซู่กว่าน หากมีคนอยากประลองกับอาจารย์หยางเฉิงฝู่ เถียนเจ้าหลินก็จะบอกว่า “ฉันคือศิษย์ของเขา มาประลองกับฉันก่อนเลย” มีครั้งหนึ่งผู้มาใช้อั้นจิ้ง (แรงซ่อนเร้น) ออกมา ทั้งกดและศอกเข้ามา หลอกตีไปยังชายโครงของอาจารย์เถียนเจ้าหลิน เถียนเจ้าหลินใช้ “หรูเฟิงซื่อปี้” (คล้ายเหมือนปิดเปิด) สะเทินไป คู่ต่อสู้ก็หมอบลงกับพื้นไป หน้าเหลืองราวสีดิน คนที่ดูยังไม่รู้เรื่องว่าเกิดอะไรขึ้น ต่างก็ถามว่า เกิดอะไรขึ้น? เถียนเจ้าหลินบอกว่า “ไม่ต้องถามแล้ว นำเอาอั้นจิ้งคืนกลับให้เขาไปแล้ว รีบไปหาหมอเถอะ”
หวงเต๋อฟา เคยเขียนบทความถึงอาจารย์เถียนจ้าวหลิน ในบทความที่มีชื่อว่า “ท่านเถียนจ้าวหลินในเซี่ยงไฮ้” มีเนื้อหาดังนี้
“ปี 1938 ฉันทำงานอยู่ในโรงงานผลิตกระติกน้ำร้อนซ่างไห่กวางต้า ที่โรงงานผู้จัดการชื่อเฉินเจ๋อหมิ๋นและผู้บริหารชื่อสวีเหวินฝูล้วนแต่เป็นสมาชิกของ “สมาคมส่งเสริมมวยอ่อน” วันหนึ่ง พวกเขาคุยกันถึงเรื่องกงฟูมวยไท่จี๋ของอาจารย์เถียนจ้าวหลิน ว่าควรค่าแก่การเป็นศิษย์ถ่ายทอดของตระกูลหยางโดยแท้ โดยกล่าวว่ามีครั้งหนึ่ง หยางเส้าโหวอยู่ในเซี่ยงไฮ้ทำการแสดงมวยไท่จี๋ที่ผสานเร็วและช้าไปหนึ่งรอบ ได้รับเสียงเชียร์จากผู้ชมอย่างต่อเนื่อง หลังจากจบกระบวนแล้วยังได้รับเสียงปรบมืออย่างยาวนานไม่หยุด เวลานั้นก็มีฝรั่งคนหนึ่งออกมาขึ้นไปบนเวทีและส่งเสียงโวยวายต่อผู้เข้าแสดงในที่นั้นว่า “ตะกี้พวกเราแสดงมวยบ๊อกซิ่ง ต่อยออกมามากมาย กลับไม่มีคนปรบมือ เขาคนเดียวขึ้นไปบนเวทีโยกไปโยกมา กลับมีคนปรบมือมากมาย พวกลื้อดูถูกพวกอั๊วะนี่หว่า ตอนนี้อั๊วะอยากขอประลองกับพวกมัน” ผู้บรรยายเลยพยายามอธิบายไปว่า “พวกคุณแสดงบ๊อกซิ่ง พวกเราดูไม่เข้าใจ ก็เลยไม่มีใครปรบมือ แต่ที่ท่านหยางแสดงคือศิลปะการต่อสู้ของจีน พวกเราทั้งหมดล้วนแต่ดูเข้าใจ ว่าเขาแสดงได้ดีมาก ผู้คนก็เลยปรบมือเชียร์” ฝรั่งคนนั้นกลับพาลไร้เหตุผล ก่อกวนไม่เลิก ต้องการประลองกับหยางเส้าโหวให้ได้ เวลานั้นหยางเส้าโหวทนไม่ไหว ส่งเสียงเรียกขึ้นมา “จ้าวหลิน! ตีมันลงมาซะ!!” อาจารย์เถียนขึ้นไปบนเวทีจับมือกับฝรั่งคนนั้นพูดว่า “มา! ฉันจะประลองด้วยซักหน่อย” กล่าวเสร็จก็ยกมือขวาขึ้นระดับไหล่ มือซ้ายป้องอก ฝรั่งเห็นอาจารย์เถียนตั้งท่า รู้สึกว่าดูกากๆ ก็ยกสองหมัดขึ้นมาและต่อยไปที่ใบหน้าของอาจารย์เถียน อาจารย์เถียนเห็นฝรั่งโจมตีเข้ามาอย่างรวดเร็ว ยกสองมือจากล่างขึ้นบนและ “ชักนำ” (หยิ่นจิ้น) ไปด้านหลัง ฝรั่งเวลานั้นรู้สึก “ตกสู่ความว่าง” (ลั่วคง) รีบพยายามกระโดดกลับเพื่อเปลี่ยนท่า คิดไม่ถึงอาจารย์เถียนกลับตามท่าร่างของเขา สองมือเปลี่ยนเป็นฝ่ามืออ้านออกไป ตีถูกกลางอกฝรั่งนั่นเต็มเปา ฝรั่งจากบนเวทีกระเด็นตกลงมาถึงล่างเวที ผู้ชมต่างปรบมือส่งเสียงร้องดังสนั่นหวั่นไหว
เฉินและสวีทั้งสองพูดกันถึงเรื่องนี้มีรายละเอียดทั้งเรื่องเวลาและสถานที่อ้างอิง ต่อการลงมืออันแม่นยำของอาจารย์เถียน ทั้งความคล่องแคล่วล้วนแต่ควรค่าแก่การนับถืออย่างยิ่ง แค่น่าเสียดายเวลานั้นฉันคือคนนอกวงการไท่จี๋เฉวียน ฉันก็ประทับใจในตัวอาจารย์เถียนอย่างมาก คิดตลอดว่า ภายหลังหากมีโอกาสได้พบเขาเพื่อเรียนรู้คงจะดียิ่งแล้ว!”
ในปี 1947 หวงเต๋อฟา ได้ไปขอเรียนไทจี๋กับ อ.เถียน และเขียนถึงประสบการณ์เรื่องการจับชีพจร คว้าเส้นเอ็น จี้จุด ของ อ.เถียนไว้ดังนี้
“นับจากปี 1947 สวนสาธารณะไว่ทานเป็นที่ฝึกไท่จี๋หลักของฉัน ไม่นานฉันก็เรียนการผลักมือแบบอยู่นิ่งแล้ว เริ่มต้นเข้าใจใน เผิง หลีว์ จี่ อ้าน แต่กับผู้คนส่วนใหญ่ยังถือว่าไม่มีอะไรให้แสดงได้ กับอาจารย์ยิ่งไม่ต้องพูดถึงแล้ว
อาจารย์เถียนจะให้พวกเราลูกศิษย์ผลักมือกันบ่อยๆ เพื่อเป็นการร่วมกันผลักร่วมกันเรียนรู้ ทั้งหมดจะได้พัฒนาไปด้วยกัน บางครั้งฉันรู้สึกว่ามีบางคน มือไม้ร่างกายอ่อนมาก แต่ไม่แฝงสำนึกของการโจมตีไว้แม้แต่น้อย (คืออ่อนย้วยๆ อี้ในการโจมตีไม่มี แค่อ่อนให้เราฟายาก) ก็ใช้วิธีฉินหนา (บิดล็อค) กับพวกเขา เนื่องจากในปี 1934 ฉันเคยเรียนมวยเส้าหลินมาก่อน รู้จักวิธีฉินหนาอยู่บ้าง หากเจอคู่ต่อสู้ที่ “อ่อนแต่ไร้สำนึกกระทำ” ฉันก็จะลองใช้วิธีฉินหนาไป คนที่เคยถูกฉันฉินหนาไป พวกเขาล้วนแต่รู้สึกว่าแปลก ถามฉันว่าเรียนมาจากที่ไหน? ฉันก็พลั้งปากพูดไปว่า “อาจารย์สอนให้” พวกเขาก็ไปพูดกับอาจารย์ว่า “เฉินเต๋อฟาเพิ่งมาไม่นาน ท่านก็สอนฉินหนาให้แล้ว พวกเรามาก่อนหลายปี กลับไม่เคยสอนพวกเรา” ในความหมายของคำพูดบอกว่าอาจารย์ลำเอียง อาจารย์ฟังแล้วก็หัวเราะกลบเกลื่อนไป คิดไม่ถึงฉันกลับอยู่บนเรือขว้างหินใส่เท้าตัวเอง ฉันคิดผิดที่ว่า ไท่จี๋เฉวียนนั้นมีแค่ทุยโส่วฟาจิ้งเท่านั้น ไม่มีฉินหนา สานต่า (ประลองมืออิสระ) ต่างๆ คิดไม่ถึง หลังจากพวกเขากระตุ้นความคิดของอาจารย์แล้ว พออาจารย์ผลักมือกับฉัน พอสัมผัสมือ ก็ถูก “พลิกข้อมือ” ล็อคไว้แล้ว จากนั้น พอฉันผลักมือกับอาจารย์ก็ล้วนแต่ต้องระวังให้มาก ครั้งต่อมาพอเขามาแบบนี้อีก ฉันรีบใช้วิธีกดศอกลงแก้ไข ครั้งที่สามพอเจอวิธีนี้อีก ฉันก็จะใช้การกดศอกแก้ไขอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ศอกกลับไม่เชื่อฟังคำสั่งเสียแล้ว ที่แท้พออาจารย์ “พลิกข้อมือ” เวลานั้นทั้งใช้นิ้วนางและนิ้วก้อยคว้าข้อมือไว้ ส่วนนิ้วชี้และนิ้วกลางก็กดไปที่จุด “ซานหลี่” ของฉัน ทำให้ศอกยกไม่ขึ้น ไร้วิธีแก้ไข ไม่มีทางเลือก ได้แต่ขอให้ครั้งหน้าไม่ใช้วิธีนี้แล้ว แต่วิธีนี้ไม่ใช้ เปลี่ยนวิธีมือใหม่ยิ่งร้ายกาจ มีครั้งหนึ่งระหว่างที่ผลักมือถึงตอนที่จริงจัง มือขวาฉันก็ถูกยึดไว้แล้ว ความรู้สึกของฉันนั้นถอยแล้วเรียบร้อย แต่ถึงอยากแต่ก็ไร้ทางแก้ไข อาจารย์ก็เปลี่ยนวิธีมืออีก หมุนตัวเปลี่ยนก้าว ใช้ออกด้วย “ท่าม้าป่าแยกแผงขนคอซ้าย” ทำให้ฉันลอยขึ้นหน้าหงายขึ้นฟ้า หลังล้มตกลงพื้น เวลานั้นไม่สามารถขยับลุกได้ อาจารย์ก็ร้องย้ำว่า “รีบลุกขึ้นมาเดินๆ หน่อย!”
นับจากวันนั้น ทำให้ฉันมีความรู้มากขึ้นอีกขั้น ไท่จี๋เฉวียนไม่ใช่แค่ผลักมือฟาจิ้ง ยังมี ทุ่ม ตี บิดล็อค (ฉินหนา) ภายหลังฉันค่อยรู้ว่า อาจารย์เถียนนั้น กับวิธี “คว้าชีพจร, แยกเอ็น, ปิดสมหายใจ, จี้จุด” ต่างๆ นั้น ไม่มีใดที่ไม่แจ้งถึงแก่น แค่น่าเสียดายที่หาคนสืบทอดได้น้อย”
เมื่อเข้าสู่สาธารณรัฐ เถียนเจ้าหลินก็อยู่ที่ “สถาบันการศึกษาเศรษฐศาสตร์การค้า” เพื่อสอนที่นั่น และยังอยู่ที่สวนสาธารณะไว่ทานเปิดสอนมวย หลังจากสวนสาธารณะหวายไห่ถูกสร้างและเปิดใช้ เถียนเจ้าหลินก็ทั้งสอนอยู่ที่สวนสาธารณะไว่ทาน (จันทร์-พุธ-ศุกร์) และสวนสาธารณะหวายไห่ (อังคาร-พฤหัสบดี-เสาร์) ไม่ว่าลูกศิษย์จะกงฟูลึกขนาดไหน พอสัมผัสมือกับอาจารย์เถียน ก็จะถูกควบคุมไว้ ไม่กี่นาทีหลังก็ชุ่มไปด้วยเหงื่อ ไม่สามารถต้านรับต่อไป ต้องเปลี่ยนคนเข้ามาแทน แต่กับอาจารย์เถียนแม้เปลี่ยนคนเวียนมาสิบกว่าคน ก็ยังไม่มีเม็ดเหงื่อผุด ยังคงพูดหัวเราะปกติ
เวลาเช้าสวนสาธารณะไว่ทานเปิดประตู เถียนเจ้าหลินก็ไปสอนมวย ถึงสิบโมง ก็ไปร้านกินบะหมี่ถ้วยหนึ่ง ก็กลับมาผลักมือกับลูกศิษย์อีก จนกระทั่งถึงเที่ยงค่อยกลับ มีพวกครูมวยมีชื่อเคยมาขอลองด้วยก็ไม่น้อย เถียนเจ้าหลินก็ยินดีที่จะผลักมือด้วยเสมอ พอมีเสียงเฮิงฮ่า อีกฝ่ายก็กระโดดปลิวออกไปแล้ว ไม่เคยพ่ายแพ้เสียที
มีคนงานท่าเรือคนหนึ่งเรียนมวยเส้าหลิน สามารถยกหินน้ำหนักที่หนักสองร้อยกว่าชั่งได้ (ร้อยกว่ากิโลกรัม) บ่อยครั้งชอบมายืนดูข้างๆ และเยาะเย้ยว่าการผลักมือของอาจารย์เถียนไม่ใช่กงฟูที่แท้จริง จนครั้งหนึ่ง เถียนเจ้าหลินอยู่ที่สวนสาธารณะไว่ทานผลักมือกับลูกศิษย์ คนนี้อยู่ๆ ก็ออกหมัดโจมตีด้านหลังของเถียนเจ้าหลิน เถียนเข้าหลินยังไม่แม้แต่หันกลับมาดู แค่ตะโกนเสียงดังออกมาหนึ่งเสียง ลูกศิษย์ที่ด้านหน้ากับคนงานท่าเรือที่ด้านหลังล้วนแต่กระเด็นไปเกินหนึ่งจ้าง (ราวๆ สามเมตร) เถียนเจ้าหลินหันกลับมาถามคนงานท่าเรือว่าถูกทำให้ล้มเจ็บหรือไม่ คนผู้นี้ก็รู้สึกละอายใจมาก รีบอธิบายว่า “อาจารย์เถียนอย่าได้อารมณ์เสีย ฉันแค่อยากลองดูว่ากงฟูของท่านใช่จริงหรือไม่”
เวลานั้นการผลักมือของยอดฝีมือแต่ละสำนัก อาจกล่าวได้ว่ามีมากมาย แต่ความจริงเถียนเจ้าหลินกับพวกเขาเหล่านั้นมีข้อแตกต่าง คือเปี่ยมด้วยลักษณะ “ออกมือเห็นสีแดง (เลือด)” ของตระกูลหยางอย่างเต็มที่
ในปี 1951 เพื่อช่วยเกาหลีเหนือต่อต้านอเมริกา จึงมีการบริจาคเครื่องบินและปืนใหญ่ กลุ่มศิลปะการต่อสู้ในเซี่ยงไฮ้จึงมีจัดการแสดงการกุศลขึ้นที่เวทีเทียนจาน มีการแสดงมวยยาว, ต้วนต่า, ดาบกระบี่ทวนพลอง, ชุดเข้าคู่แต่ละแบบ, ยังมีไท่จี๋, สิ่งอี้, ปากว้า มีความคึกคักอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน สุดท้ายผู้เข้าชมร้องขอให้เถียนเจ้าหลินแสดงมวยไท่จี๋, กระบี่, และตามด้วยการแสดงผลักมือ โดยขึ้นเวทีกับลูกศิษย์ที่มักผลักมือกันในยามปกตินามเฉินหรงเผย์ (ไม่ใช่แซ่เฉินปกติที่เรารู้จักกัน เขียนคนละตัว) พอเฉินแตะมือกับอาจารย์ ก็รู้สึกว่าใต้เท้าเหมือนลอยขึ้น ไม่สามารถยืนอยู่ได้ ไม่มีทางเลือกจึงได้แต่กระโดดเพื่อรักษาสมดุล เป็นเช่นนี้กลับไปกลับมาหลายครั้ง ภายหลังเฉินได้กล่าวกับคนอื่นว่า “ที่เวทีเทียนจานผลักมือ ถึงตอนหลังพอฉันออกมือ อาจารย์ก็เหมือนหายไปแล้ว ปกติก่อนนี้ไม่เคยเจอแบบนี้เลย หากฉันไม่ยอมก็ต้องล้ม หมดปัญญา ได้แต่กระโดดแล้ว”
สำหรับชีวิตในช่วงบั้นปลายของอาจารย์เถียนนั้น ฉวีซื่อจิ้งได้เขียนไว้ในบทความเกี่ยวกับศิษย์ตระกูลหยางดังนี้ โดยมีส่วนเกี่ยวข้องกับนักค้นคว้าและวิจัยด้านมวยไท่จี๋ที่มีชื่อเสียงนาม กู้หลิวซิน ดังนี้
“กู้หลิวซิน เกิดปี 1908 คนเซี่ยงไฮ้ ปี 1925 จบการศึกษาจากขั้นสูงจากโรงเรียนการค้าที่เซี่ยงไฮ้ สอบเข้ามหาวิทยาลัยเหวินจื้อ ปี 1926 ได้เรียนมวยลิ่วเหอจากหลิวเจิ้นหนาน ปี 1927 เข้าชมรมมวยอ่อนของเฉินเวยหมิง ภายหลังค่อยเข้าร่วมชมรมฮุ่ยชวนไท่จี๋เฉวียนเรียนมวยไท่จี๋ตระกูลหยาง ทั้งสองครั้งล้วนแต่ไม่ถึงปี แค่เรียนให้สุขภาพดียังไม่ได้ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงไท่จี๋กงฟูแล้ว
กู้หลิวซิน ปี 1934 เข้าร่วมคณะเยาวชน ภายหลังไม่นานก็เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์จีน มีผลงานในการปฏิวัติ (ล้มก๊กมินตั๋ง ตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ จุดจบแห่งความดีงามทั้งปวง) หลังปลดปล่อยได้ดูแลเขตหวงผู่ (ในเซี่ยงไฮ้) ปี 1950 ได้ขึ้นเป็นประธานสมาคมศิลปะการต่อสู้ของเมืองเซี่ยงไฮ้ ภายหลังยังได้งานดูแลวิหารพละศึกษา (ผมแปลว่าวิหารตามตัวอักษร แต่มันคือชื่อของสำนักงานด้านกีฬาของเซี่ยงไฮ้) ขึ้นเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในกลุ่มวิทยายุทธ์ของเซี่ยงไฮ้ (เวลานั้นผู้สืบทอดรุ่นสี่ของตระกูลหยาง จางชินหลินออกบวชศึกษาเต๋า, อู่ฮุ่ยชวนป่วยและจากไปก่อน, ต่งยิงเจี๋ย, หยางโส่วจง, เจิ้งมั่นชิง ล้วนแต่ออกนอกประเทศ, หนิวชุนหมิงอยู่หังโจว, หลี่ยาเชวียนอยู่ซื่อโจว) ตำแหน่งสูงส่ง ได้รับการนับถืออย่างยิ่ง
เวลานั้นเซี่ยงไฮ้เปี่ยมด้วยคนมีความสามารถ ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นผู้สืบทอดของตระกูลหยาง สวนสาธารณะไว่ทานมีเถียนจ้าวหลิน สวนสาธารณะฟู่ซิงมีเถียนจั้วหลิน, เยว่ต้ามี่ (ศิษย์ อ.เถียน), จางอี้, หัวชุนหรง, จู้กุ้ยถิง (ศิษย์หยางเฉิงฝู่) อยู่ที่สวนสาธารณะเหรินหมิน, อู๋หยุนว์จัวอยู่ที่สวนสาธารณะจงซาน, อู่กุ้ยฉิงอยู่ที่สวนสาธารณะเซียงหยาง, เฉินเวยหมิงอยู่ที่สมาคมชาวหนิงปอ, ฟู่จงเหวิน, ฟู่จงหยวน (น้องชายฟู่จงเหวิน) ถนนหนานจิง ด้านนอกของเซียนเล่อซูฉาง อาศัยตรงที่ว่างตรงนั้นสอนมวย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่ไม่ได้ตั้งเป็นอาจารย์มวย เช่น หวงจิ๋งหัว, ผู่ปิงหรู
กู้หลิวซิน
ในเซี่ยงไฮ้อุดมด้วยผู้มีความสามารถเช่นนี้ หากคุณกู้ไม่ทรยศต่อภาระที่พรรคและประชาชนมอบให้ มุ่งมั่นส่งเสริม จัดการให้ดี ย่อมมีความหวังที่จะสามารถส่งเสริมและเผยแพร่ศิลปะวิทยายุทธ์จีนได้ เสียดายสถานการณ์ที่เติบโตขึ้นมาแท้จริงหาใช่เช่นนั้น กู้นั้นส่วนตัวไม่ใช่อาจารย์มวย แต่กลับเข้าใจว่าตัวเองเป็นประมุข พูดหนึ่งไม่มีสอง กู้หลิวซินเองก็หาทางดึงครูมวยมาร่วมเพื่อศึกษา ตอนแรกนั้นสนใจเถียนเจ้าหลิน เพราะเขาสำเร็จวิชาจากอาจารย์ใหญ่สามท่าน คือ เจี้ยนโหว เส้าโหว เฉิงฝู่ ทั้งวงกว้าง กลาง เล็ก ทุยโส่ว สานโส่ว อาวุธ ทักษะ มีความสำเร็จในกงฟูของตระกูลหยางอย่างยิ่งใหญ่ จึงไปขอให้บอกคายสมบัติ บอกความลับสืบทอดแท้จริงของไท่จี๋ตระกูลหยางออกมา กงฟูของเถียนเจ้าหลินมาจากฝึกฝนสิบกว่าปี ฝึกฝนยากลำบากค่อยสำเร็จ จะยอมเห็นด้วยเปิดเผยความลับไปโดยไร้เหตุไร้ผลอย่างนี้ได้หรือ? จึงแกล้งลูบหัวล้านแสดงเป็นมึนงง หาข้ออ้างไปว่า “ฉันแก่แล้ว ล้วนแต่จำอะไรไม่ได้แล้ว” เถียนจั้วหลิน, เฉินเวยหมิง รู้เพียงว่าฝึกมวยต้องมีกงฟูที่แท้จริง ไม่รู้เรื่องการคล้อยตามผู้นำหรือพรรคแม้แต่นิดเดียว เห็นกู้ไม่มีกงฟูแม้แต่น้อย ในใจย่อมไม่ยอมรับนับถือ (ในความเป็นผู้นำสมาคมของกู้)
กู้หลิวซินรู้ว่าผู้อาวุโสรุ่นที่สี่ของตระกูลหยางที่มีกงฟูขั้นลึกล้ำนั้นล้วนแต่ควบคุมไม่ได้ ทางหนึ่งจึงอุปโลกเฉินหวังถิงให้เป็นผู้สร้างมวยไท่จี๋ ยกย่องเฉินและกดข่มหยางให้ตกต่ำ ขณะที่อีกทางก็โปรโมตฟู่จงเหวินให้เป็น “ตัวแทนผู้สืบทอด” ของมวยไท่จี๋ตระกูลหยาง โดยใช้สื่อต่างๆ สร้างขึ้นมาจนสำเร็จ ขณะเดียวกันก็ตั้งใจแช่แข็งผู้อาวุโส เถียนเจ้าหลิน, เถียนจั้วหลิน, เฉินเวยหมิง ต่างๆ ให้ตกหายไป แต่เชิญฟู่จงเหวินให้มาสอนท่ามวยที่วิหารพละศึกษา จ้างจางอี้มาสอนผลักมือแบบตระกูลหยางที่สมาคมศิลปะยุทธ เนื่องจากศิษย์รักของเฉินเวยหมิงคือจ้าวตี๋ชีถูกคนลอบฆ่า ลูกชายคนเดียวคือเฉินปางอู่ก็ด่วนจากไปในวัยฉกรรจ์ จึงจิตตกท้อแท้ หันไปกินผักนับถือพระพุทธ ทั้งยังถูกถังหาว (ถังหาว คือนักประวัติศาสตร์และนักเขียน ที่ร่วมเขียนหนังสือกับกู้หลิวซิน ถือได้ว่าเป็นขี้กองเดียวกัน) และกู้หลิวซินตำหนิให้เสื่อมเสีย จึงได้แต่คับแค้นเหลือคณาตราบจนสิ้นใจ
เถียนจั้วหลิน ปลายชีวิตทั้งจนและป่วย แม้ค่างานศพยังต้องเป็นหัวหน้ากลุ่มศิลปะการต่อสู้ของสวนสาธารณะฟู่ซิงคือจางอี้ออกหน้าขอรับบริจาค เถียนเจ้าหลินมีกงฟูติดตัวเสียเปล่า แต่ไม่สามารถมีตำแหน่งสอนมวยในวิหารพละศึกษาได้ ได้แต่อาศัยฐานะคนธรรมดาสอนมวยในสวน ไม่สามารถมีรายได้ที่มั่นคง บางครั้งจำต้องพึ่งเหล้าเพื่อคลายทุกข์ มีลูกศิษย์หนึ่งคนนำเหล้าดีกรีสูงมาสองขวดมาดื่มร่วมกับอาจารย์เถียน ภายหลังจากศิษย์กลับไป อาจารย์เถียนก็ดื่มต่อคนเดียว เหล้าที่เหลือล้วนแต่ดื่มหมดไป รุ่งขึ้น คนในบ้านมาปลุกอาจารย์เถียนให้ตื่น ก็พบว่าจากไปด้วยพิษสุราเสียแล้ว ภายหลังคนที่ฝึกไท่จี๋ตระกูลหยางมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีแต่ท่าทางอ่อนนิ่มภายนอกเหมือนออกกำลังกายยามเช้าแค่นั้น จะหา “เฮิงฮ่าสองชี่”, “ออกมือเห็นสีแดง (เลือด)”, “สี่ตำลึงปัดพันชั่ง” อันเป็นกงฟูแท้จริงของไท่จี๋ตระกูลหยางนั้น สามารถกล่าวได้ว่ายากเสียยิ่งกว่ายาก”