ประวัติปรมาจารย์หยางเฉิงฝู่
- 16/01/2018
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
ชื่อเรื่อง: ปรมาจารย์มวยไท่จี๋หยางเฉิงฝู่
บันทึกโดย: ฉวีซื่อจิ้ง
หนังสือ: หยางเจียไท่จี๋ เหลี่ยงอ้านอี้เจีย
บทที่ 1 แจกันล้ำค่าอาศัยเวลารังสรรค์
ปรมาจารย์มวยไท่จี๋ หยางเฉิงฝู่ นามที่ตั้งให้เรียก (จื้อ) คือ เจ้าชิง เกิดในปี 1883 ที่ปักกิ่ง ปู่คือหยางลู่ฉาน ลุงคือหยางปานโหว บิดาคือหยางเจี้ยนโหว ต่างก็เป็นครูมวยไท่จี๋เลื่องชื่อ
เมื่อเฉิงฝู่กง (กง เป็นคำยกย่อง ในที่นี้อาจารย์หยางเฉิงฝู่เป็นซือกงหรืออาจารย์ปู่ของผู้เขียนบทความ ผู้เขียนจึงเรียกอาจารย์หยางว่า “เฉิงฝู่กง” ด้วยความยกย่อง) ยังเล็กเรียนมวยกับบิดา เจี้ยนโหวกงมีนิสัยอ่อนโยน เมื่อยังเด็กก็เคยผ่านการฝึกฝนอย่างยากลำบาก จึงไม่อาจหักใจบังคับบุตรชายสุดที่รักเฉิงฝู่ให้ฝึกฝนเคี่ยวกรำหนักเกินไปได้ เฉิงฝู่กงทุกวันฝึกฝนวิชา ทั้งชุดมวย กระบี่ ดาบ ทวน ผลักมือ และต่อกรอิสระ แม้จะตามหลักเกณฑ์วิชาที่สืบทอดมาในตระกูล แต่ก็ไม่เคยลงแรงฝึกฝนอย่างจริงจังหนักหน่วงแต่อย่างใด ในปี 1902 เฉิงฝู่กงอายุ 19 ปี ช่วยบิดาสอนมวยอยู่ในบ้านตระกูลหยาง ปี 1912 เฉิงฝู่กงอายุ 29 ปี ใช้สวนสาธารณะจงยางกงหยวนในปักกิ่งเป็นที่สอนมวย (ปัจจุบันคือสวนสาธารณะจงซาน) ถ่ายทอดและเผยแพร่มวยไท่จี๋ กระบี่ ดาบ ทวน ของตระกูลหยาง แต่เฉิงฝู่กงเพียงสอนแค่ท่ารำชุดมวย หากจะเรียนต้าหลีว์ (ชุดผลักมือเคลื่อนที่) ต่อกรอิสระ กระบี่เกาะติด พลองเกาะติด จะต้องไปเรียนที่ลานฝึกบ้านตระกูลหยาง เจี้ยนโหวกงอยู่บ้านคอยเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งคอยขบคิดแทนให้อย่างรอบคอบ ด้วยการจัดการอย่างเหมาะสมเช่นนี้ การสอนของเฉิงฝู่กงจึงดำเนินไปอย่างราบรื่นไร้ปัญหาใดๆ
ในปี 1917 ก่อนที่ท่านหยางเจี้ยนโหวจะลาโลก ด้วยน้ำตาหลั่งนองใบหน้าชราของท่าน ได้กล่าวตำหนิเฉิงฝู่กงว่า “พี่ชายเจ้า (หยางเส้าโหว) ติดตามลุงของเจ้าเรียนมวย ฝึกฝนอย่างยากลำบาก จนสามารถสร้างชื่อให้ตัวเองแต่วัยหนุ่ม เจ้าเปิดสำนักสอนมวย คือฉันอยู่เบื้องหลังคอยช่วยเหลือค้ำยัน ตอนนี้ฉันจะจากไปแล้ว หากมียอดฝีมือมาขอท้าประลอง ขอเพียงเจ้าพ่ายแพ้ ชื่อเสียงตระกูลหยางเราคงต้องจมดินแล้ว เจ้าไม่ใช้ความพยายาม กงฟูของตระกูลหยางสูญการสืบทอด นี่ถือว่าอกตัญญูอย่างที่สุด ฉันตายตาไม่หลับ!” เฉิงฝู่ได้ยินคำพูดน่าแตกตื่นเหล่านี้ เจ็บปวดถึงภายใน ร้องไห้โขกศีรษะ สาบานจะหมั่นตั้งใจฝึกฝน
หลังจากเจี้ยนโหวกงลาโลก เฉิงฝู่กงปิดประตูไม่รับแขก ฝึกฝนอย่างหนักหน่วงทั้งวันคืน ในเวลานี้เขาอายุได้ 34 ปีแล้ว เจี้ยนโหวกงมีลูกศิษย์ที่ฐานะดีท่านหนึ่งแต่ละเดือนจะให้เงินแก่เฉิงฝู่กงเป็นค่าเลี้ยงชีพและค่าใช้จ่ายในครอบครัวเดือนละสามสิบหยวน (เงินต้าหยางสมัยนั้น) เฉิงฝู่กงแต่ละเดือนจะใช้หกหยวนจ่ายเพื่อจ้างชายกำยำแข็งแรงมีกำลังมาเป็น “หุ่นมนุษย์” ซึ่งคนฝึกมวยนั้นมักจะใช้เสาไม้หรือแผ่นหินมาเป็นเป้าตี เพื่อเป็นการทดสอบแรงกำลัง (จิ้นลี่) เรียกว่า “ตีเสา” (ต่าจวง) ตัวอย่างเช่น การฝึกแรงพิงหรือเค่าจิ้นในต้าหลีว์ (ผลักมือก้าวเดินอย่างหนึ่ง) ผู้อาวุโสในตระกูลหยางก็จะฝึกโดยการพิง (เค่า) ตีไปที่เสาไม้ (เสาเก้าวิหาร) หรือต้นไม้ ในส่วนการฝึกแรงเกาะติดในพลองไม้เทียนขาว ทุกวันก็จะปัดไม้เทียนขาวไปยังต้นไม้ซ้ายและขวากลับไปกลับมา แต่อย่างไรก็ตาม ไม้หญ้าล้วนแต่ไม่มีชีวิต (ไม่ตอบสนอง) มีแค่คนมีชีวิตจึงจะสามารถกระโดด หลบ หรือตีกลับได้ จึงต้องใช้คนมาเป็นเป้าทดสอบจิ้น (แรง) นี่ก็คือการตี “เสามีชีวิต”
โดยปกติแล้วท่าร่างและการก้าวเท้าในเวลาที่ผลักมือหรือประลองมือ ต่างก็อยู่ในกฏเกณฑ์ของฝ่ายสำนักมวยไท่จี๋ แต่หากครูมวยต่างสำนักมาขอประลอง พวกเขาย่อมไม่ลงมือตามหลักเกณฑ์ของสำนักมวยไท่จี๋ ดังนั้นการตี “เสามีชีวิต” จึงเป็นการเจอกับสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย และสามารถรับแรง (เจียจิ้น) ในมุมที่แตกต่างหลากหลายจากแต่ละส่วนของร่างกาย แล้วทำให้เสามนุษย์ถูกตีลอยปลิวออกไป แรงยาว (ฉางจิ้น) ของมวยไท่จี๋ตระกูลหยางนี้ แม้ว่าจะทำให้คนถูกดีดปลิวไปไกล แต่ก็ไม่ได้มุ่งหมายทำร้ายภายในของหุ่นมนุษย์ให้เกิดการบาดเจ็บ ด้วยไม้พลองเทียนขาวลำหนึ่ง หุ่นมนุษย์คนหนึ่ง บวกกับการปิดประตูฝึกฝนอย่างหนักของเฉิงฝู่กงถึงหกปี ผ่านการศึกษาจนรู้แจ้งในหลักเน่ยกงภายในที่สอนโดยเจี้ยนโหวกงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในที่สุดเน่ยจิ้นของเฉิงฝู่กงก็เคลื่อนไหวได้ราบรื่นสามารถฟาหุ่นมนุษย์ปลิวออกไปนอกเขตหนึ่งจ้าง (3.3 เมตร) ได้อย่างง่ายดาย
ในใจของเฉิงฝู่กงก็ยังไม่มั่นใจเต็มร้อย เพราะจะอย่างไรหุ่นมนุษย์ก็ยังไม่ใช่ครูมวย เวลานั้นอู๋เจี้ยนเฉวียน (ปรมาจารย์มวยไท่จี๋ตระกูลอู๋) สอนมวยอยู่ที่เทียนถาน (หอสักการะฟ้า) ในปักกิ่ง มีลูกศิษย์จำนวนมาก ถือเป็นครูมวยเลื่องชื่อของมวยไท่จี๋ในเวลานั้น เฉิงฝู่กงจึงไปยังเทียนถานเพื่อไปขอทดสอบสัมผัสมือกับอู๋ พออู๋รู้ว่าเฉิงฝู่กงมาเยี่ยม ก็รีบออกไปยังห้องน้ำชาต้อนรับ กล่าวขึ้นว่า “ไม่ได้เจอท่านอาสามเสียนาน มีอะไรชี้แนะ?” (โดยศักดิ์ลำดับแล้ว อ.เฉิงฝู่ถือเป็นอาจารย์อาของ อ.อู๋เจี้ยนเฉวียน เพราะบิดาของ อ.อู๋เจี้ยนเฉวียนถือเป็นศิษย์อาจารย์หยางปานโหว) เฉิงฝู่กงจึงตอบว่า “ไม่มีอะไรมาก แค่อยากมาสัมผัสมือทดสอบเล็กน้อย” พอทั้งสองแตะมือกัน เฉิงฝู่กงก็ตามท่าเคลื่อนวงเข้าไป ใช้ท่ายกมือขึ้นกระบวน (ถีโส่วซ่างซื่อ) ของมวยไท่จี๋ตระกูลหยางแบบเก่า หลังมือแตะถึงส่วนท้องของอู๋ ยกขึ้นเบาๆ สามครั้ง อู๋ก็กระโดดขึ้นตามท่าถึงสามครา ตระกูลหยางกับอู๋มีความสัมพันธ์ดุจครอบครัว และยังมีลูกศิษย์ในห้องดูอยู่ ดังนั้นเฉิงฝู่กงจึงแตะถึงก็หยุด ไม่ได้ฟาจิ้นออกไป อู๋นั้นมีกงฟูการสะเทินอันอ่อนหยุ่นเลิศล้ำ หลายปีก่อนเฉิงฝู่กงกับอู๋ผลักมือกัน ปกติไม่เคยสามารถแนบติดสัมผัสอู๋ไว้ได้ ยิ่งไม่สามารถฟาออกไป แต่ครั้งนี้เพิ่งแตะมือก็สามารถแตะติดอู๋ไว้ได้ เฉิงฝู่กงก็รู้ว่ากงฟูของตัวเองนั้นก้าวหน้าไปมาก ทุกอย่างถือว่าแตกต่างกับเมื่อก่อนอย่างสิ้นเชิง จึงได้มั่นใจเปิดประตูรับศิษย์ ในเวลานี้เฉิงฝู่กงมีอายุ 40 ปีแล้ว
ในปักกิ่งนั้นมีครูมวยมากมาย เมื่อได้ยินว่าท่านอาสามตระกูลหยางเปิดประตูลงเขา (สำนวนประมาณว่า เปิดสำนักออกสู่โลกอีกครั้ง) ต่างก็มาเยี่ยมเยียน (ลองวิชา) ไม่ขาดสาย เฉิงฝู่กงก็ไม่เคยปฏิเสธ ไม่มีคู่ต่อสู้คนใดที่ไม่ลอยปลิวออกนอกรัศมีหนึ่งจ้าง (3.3 เมตร) อย่างง่ายดาย ยังมีบางคนถูกเฉิงฝู่กงตีทะยานลอยออกไปถึงสองสามจ้าง (6.6 – 10 เมตร) ปลิวออกไปถึงนอกประตูบ้านตระกูลหยาง ผู้คนที่ผ่านไปมามุงดูต่างก็รู้สึกตื่นเต้นอัศจรรย์ ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงของเฉิงฝู่กงจึงสะเทือนเลือนลั่น ในผู้ที่มาทดสอบวิชานั้นมีเพียงสองคนที่ไม่อาจแยกแยะเหลื่อมล้ำต่ำสูงกับเฉิงฝู่กงได้ หนึ่งคือคนอำเภอเซียงเหอ มลฑลเหอเป่ย จางเช่อ (1859-1935) ชื่อที่ตั้งให้เรียกคือซิ่วหลิน เป็นยอดฝีมือมวยทงปี้ ผู้คนเรียกว่า “ปราชญ์แห่งแขน” (มวยทงปี้ คือมวยที่เน้นใช้แขนและหมัด) ฉายาคือ “จางเปียใหญ่” (สมัยราชวงค์ชิงไว้เปีย) หลังจากการปฏิวัติซินไห่ (ปฏิวัติล้มราชวงค์ชิง) จางก็ยังคงไว้เปียอยู่ ในเวลาประลองกับคนอื่น พอเขาสะบัดหัว เปียสะบัดผ่านตาอีกฝ่าย อีกฝ่ายพอกระพริบตา ก็ถูกตีออกไปแล้ว ส่วนอีกท่านหนึ่งนั้นเป็นยอดฝีมือมวยสิ่งอี้และปากว้า ซุนฝูฉวน (1861-1932) ชื่อที่ตั้งให้เรียกคือลู่ถัง (สรุปง่ายๆ คือซุนลู่ถังนั่นแหละ) คนอำเภอหวานมลฑลเหอเป่ย คุณซุนนั้นร่างเล็กและคล่องแคล่ว มีชื่อเสียงว่าเป็น “วานรคล่อง” เมื่อครั้งที่หลังจากลู่ฉานกงประลองกับต่งไห่ชวน (ปรมาจารย์มวยปากว้า) ก็เป็นเพื่อนสนิทกัน เฉิงฝู่กงก็เช่นกันหลังจากประลองแล้ว ก็เป็นพี่น้องร่วมสาบานกับจางซิ่วหลินและซุนลู่ถัง สามท่านนี้ถือได้ว่าเป็นผู้นำของวงการมวยในปักกิ่งในเวลานั้น
บทที่ 2 ฝีมือสะท้านภพ
มีคนฝึกรำชุดมวยไท่จี๋เพื่อสุขภาพสักชุดแล้ว คิดว่าขอแต่อดทนฝึกฝน พวกเขาจะสามารถเป็นยอดฝีมือได้ เรื่องนี้ไม่จริงเลย ตระกูลหยางมีชุดฝึกอันเป็นวิธีลับอยู่ จ้านจวงก็ยังต้องประสานกับหลักหัวใจของเน่ยกง อันมี อู๋จี๋จวง ซวีปู้จวง ตู๋ลี่จวง ตีจวง (เสา) ก็ต้องใช้ต้นไม้ที่มีแรงดีดสะท้อนมาฝึกจิ้น ตามวิธีจิ้นของ อ้าน จี่ เค่า โจ่ว ต่างๆ และยังต้องใช้พลองไม้เทียนขาวปัดไปยังต้นไม้ซ้ำไปซ้ำมาเพื่อพัฒนาจิ้น พื้นฐานจวงกงของเฉิงฝู่กงนั้นยอดเยี่ยม ท่าไก่ทองยืนเดี่ยวก็มั่นคงปานเขาไท่ซาน ผลักไม่ล้ม ครั้งที่นำพาลูกศิษย์ไปยังสวนสาธารณะของฝรั่งเศสในเซี่ยงไฮ้ (ปัจจุบันคือสวนฟู่ซิง) ต้นไม้ของฝรั่งเศสในสวนนั้น ลำต้นทั้งแข็งทั้งหนา เวลานั้นเป็นฤดูใบไม้ร่วง ใบไม้แห้งเหลือง เฉิงฝู่กงเดินไปยังต้นไม้นั้นใช้เค่าจิ้น (แรงพิง) ใบไม้ก็ทะยอยร่วงหล่น ผู้มาดูถึงกับพูดไม่ออก นับจากเฉิงฝู่กงฝึกกับเสามีชีวิต ไม่ว่าที่ไหนในร่างกายล้วนแต่สามารถตีคนออกได้ อาจารย์จิงหัวเคยตามเฉิงฝู่กงออกไปดื่มชายามเช้า บนถนนมีคนตัวใหญ่เดินสวนมา เดินเบียดเฉิงฝู่กงออก เฉิงฝู่กงแค่รู้สึกว่าต้นขาตัวเองเพิ่งสัมผัสกับอีกฝ่าย คนผู้นั้นก็ปลิวลอยออกไปนอกหนึ่งจ้าง (3.3 เมตร) ทันที
เวลาที่เฉิงฝู่กงผลักมือนั้น จะไม่ใช้วิธีฉินหนาหรือการบิดล็อคอันมีรูป แต่ใช้อี้ชี่อันไร้รูป ยึดกุมเส้นทางจิ้นของอีกฝ่าย ตะโกนหนึ่งเสียงก็ทำให้คู่ต่อสู้ลอยปลิวออกไป ความร้ายกาจของการฟาจิ้นเช่นนี้ไม่มีใครเปรียบติด เฉิงฝู่กงนั้นนิยมใช้ตันเถียนเน่ยจิ้น ยามฟาจิ้นต้องออกเสียง แต่ไม่ได้ใช้เสียง “เฮิงฮ่า” สองคำนี้ แต่ออกเสียงเอาตามใจปากว่า “ห่าว” (ดี) หรือ “ชวี่ป่า” (ไปซะ) คู่ต่อสู้ก็ถูกโยนออกไปแล้ว เฉิงฝู่กงนั้นแม้จะอ้วน แต่ท่าร่าง, ท่าเท้าเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มีครั้งหนึ่ง เฉิงฝู่กงกับอาจารย์ลุงเฉินเวยหมิงผลักมือกันอยู่ชั้นบน เฉิงฝู่กงฟาจิ้นออกมาฉับพลัน อาจารย์ลุงเวยหมิงเหมือนลูกธนูหลุดออกจากแหล่ง (สำนวน น. นพรัตน์มากๆ) บินออกมาจากหน้าต่างห้อง เหล่าลูกศิษย์ต่างแตกตื่นตกใจ เพิ่งเห็นเฉิงฝู่กงก้าวเท่าพุ่งทะยานไปข้างหน้า ก็คว้าดึงข้อเท้าของอาจารย์ลุงเวยหมิงไว้ได้อย่างง่ายดาย ตะโกนเสียงดังหนึ่งเสียง “กลับมา” สองเท้าของอาจารย์ลุงก็วางลงที่พื้น ยืนอยู่ที่หน้าหน้าต่าง ตกใจหน้าถอดสี อาจารย์ลุงเวยหมิงพูดขึ้นมาว่า “มือของอาจารย์นั้นหนักหน่วง (หมายถึงลงมือหนักหน่วงไป) ศิษย์รับไม่ไหว ขอเบาลงอีกนิดได้หรือไม่?” เฉิงฝู่กงยืดสองนิ้วชี้ออก แนบสัมผัสกับข้อมือ, ศอกของอาจารย์ลุงเวยหมิง นิ้วของเฉิงฝู่กงเพียงแค่จมลง อาจารย์ลุงเหวยหมิงก็ต้องกระโดดถอยไปไม่หยุด เมื่อครั้งที่เฉิงฝู่กงแสดงการผลักมือกับอาจารย์ลุงเจิ้นหมิง (หยางเจิ้นหมิง หรือหยางโส่วจง ลูกชายคนโตของหยางเฉิงฝู่) ที่สถาบัน YMCA แห่งสะพานแปดเซียนในเซี่ยงไฮ้ อาจารย์ลุงเจิ้นหมิงฟาอ้านจิ้นออกฉับพลัน เฉิงฝู่กงแขนขวารับจิ้นไว้ มือซ้ายตบไปยังกลางฝ่ามือขวา (ท่าจี่) ตะโกนขึ้น “หาเรื่องถูกตี!” อาจารย์ลุงเจิ้นหมิงก็ลอยทะยานอากาศออกไป อาจารย์จิงหัวกับศิษย์พี่จางอี้ยืนอยู่ห่างออกไปสองจ้าง (6.6 เมตร) ต้องยกมือยืดออกมาป้องกันตัว อาจารย์ลุงเจิ้นหมิงปลิวมาถูกอาจารย์จิงหัวและจางอี้ ทั้งสามคนต่างก็ล้มลงยังพรมที่พื้นด้วยกัน
เมื่อครั้งที่เฉิงฝู่กงเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาที่สถาบันยุทธ์แห่งชาติเมืองหังโจว มีครูมวยเส้าหลินคนหนึ่งแอบอยู่ด้านหลังมุมทางเดิน แล้วจู่โจมเฉิงฝู่กงอย่างฉับพลัน ตอนนั้นเป็นเดือนฤดูหนาว เฉิงฝู่กงสองมือคว้าเอาด้านในของเสื้อแขนยาวของอีกฝ่ายไว้ ส่วนแขนซุกไปกับแขนเสื้อหนึ่งดึงเข้าหนึ่งส่งออกเบาๆ ครูมวยผู้นั้นก็ลอยออกไปนอกหนึ่งจ้าง (3.3 เมตร) รีบก้มหัวขอโทษทันที
เฉิงฝู่กงชอบใช้กระบี่ กระบี่หลงเฉวียนของตระกูลหยางนั้น รู้กันดีว่าเป็นกระบี่แบบ “ครึ่งเปิด” นั่นก็คือส่วนคมกระบี่ไม่เปิดคมแต่ปลายกระบี่นั้นมีการเปิดคม ความแหลมคมนั้นไร้ที่เปรียบ สามารถแทงทะลุผ่านเหรียญทองแดงได้ วิชากระบี่ของเฉิงฝู่กงนั้นเลิศล้ำ เวลาประลองจึงไม่ทำร้ายคน เพียงใช้กระบี่ไม้ไผ่แต้มไปที่ชีพจรข้อมือของอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายยอมวางอาวุธ วิชาดาบ, วิชาทวนของจางซิ่วหลิน (ครูมวยทงปี้ที่มีทักษะเทียบเคียงหยางเฉิงฝู่ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้) มีชื่อเสียงมายาวนาน ด้ามทวนที่ใช้นั้นหนาเท่าแขนเด็ก ครูมวยทั่วไปสะบัดพลองไม้เทียนขาว มักจะใช้การจี่ขึ้นและไฉ่ลงล่าง แต่จางซิ่วหลินใช้สองแขนโอบพลองใหญ่ เพียงใช้จิ้นของเอวสะบัดตีซ้ายขวา ผู้คนก็ไม่กล้าต่อกรด้วย จางกง (จางซิ่วหลิน) กับเฉิงฝู่กงสองคนปิดประตูประลองยุทธ จางกงใช้พลองใหญ่ เฉิงฝู่กงใช้กระบี่ไม้ไผ่ จางออกท่าระดับกลางด้วยวิชาทวน มีอานุภาพปานพลิกน้ำคว่ำทะเล เฉิงฝู่กงตะโกนบอก “พี่ใหญ่ยืนให้มั่น” แล้วเบี่ยงตัวก้าวเท้า กระบี่ก็ตามถึงตัว แต้มไปยังข้อมือของจางกง ทวนพลองก็หลุดตกพื้น เฉิงฝู่กงกล่าวอย่างถ่อมตัว “พี่ใหญ่สูงอายุ ท่าร่างมือเท้าช้าลง ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถเข้าใกล้ได้” อาจารย์จิงหัวประลองกระบี่กับเฉิงฝู่กง ข้อมือล้วนถูกแต้มถูกทุกครั้ง เวลาที่เฉิงฝู่กงสอนกระบี่ให้อาจารย์จิงหัว จะนำผิวส้มโอจำนวนหนึ่งแขวนไว้กับขื่อบ้านสูงต่ำแตกต่างแง่มุม ให้อาจารย์จิงหัวมือกุมกระบี่ เท้าย่ำเก้าวิหาร เดินหน้าถอยหลังผ่าน สายตาส่ายมองผิวส้มโอแต่ละชิ้น ทันที่ที่สายตาถึงกายก็ถึง กายถึงกระบี่ถึง แทงทะลุผิวส้มโอ ฝึกจนร้อยลงมือร้อยถูกไม่มีพลาด ค่อยเปลี่ยนจากผิวส้มโอเป็นส้ม (ส้มลูกเล็ก) ท้ายสุดค่อยเปลี่ยนเป็นส้มจี๊ดขนาดเท่าเหรียญทองแดง หากสามารถร้อยลงมือร้อยถูกไม่มีพลาดก็จะสามารถแต้มชีพจรข้อมือของคนอื่นได้ปานหยิบของออกจากย่าม ง่ายดุจพลิกฝ่ามือ นอกจากการฝึกเดี่ยวเช่นนี้ ยังต้องฝึกกระบี่เกาะติดเข้าคู่ ประลองกระบี่ ฝึกเช่นนี้เป็นเวลานาน ผ่านวันคืนยาวนานจึงจะสำเร็จ
วิชาทวนไท่จี๋ตระกูลหยางนั้นมีชื่อเสียงเลื่องลือ เนื่องจากปานโหวกงมีนิสัยใจร้อนความแข็งแกร่งก็ดุดัน จึงถูกมารดาสั่งให้ตัดหัวทวนออกเพื่อจะได้ไม่ทำร้ายผู้คน นี่คือเหตุผลที่ตระกูลหยางใช้พลองไม้เทียนขาวไร้หัวทวนในการฝึกและการใช้ ปานโหวกงเมื่อที่ประลองต่อสู้กับศัตรูจะใช้ทวนเหล็กหนัก 37 ชั่ง (19 กิโลกรัม…เขร้!!!) แต่ถูกปานโหวกงเมื่อที่ฝึกสะบัดพลองสะบัดแตกขาดเป็นเสี่ยง ไท่จี๋เน่ยจิ้นของท่านนั้น ช่างแข็งแกร่งเลิศล้ำน่าตกใจ! เฉิงฝู่กงนั้นใช้พลองไม้เทียนขาว หนาเท่าแก้วเหล้า เวลาฝึกเกาะติดกับอีกฝ่าย พลองทั้งสองแนบติด เกาะติดกันไปมา ไม่มีแม้แต่เสียงกระทบสักนิด (หมายถึงเกาะติดดีมาก) มีแค่ได้ยินเฉิงฝู่กงตะโกนหนึ่งเสียง อีกฝ่ายก็ลอยทะยานอากาศออกไปแล้ว ลูกศิษย์เฉิงฝู่กงอู่ฮุ่ยชวน ร่างกายสูงใหญ่หนักสองร้อยกว่าชั่ง (ราวร้อยกว่ากิโลกรัม) อาจารย์จิงหัวเคยได้ดูเฉิงฝู่กงฝึกฝนทวน (พลอง) เกาะติดกับอาจารย์ลุงฮุ่ยชวน ทวนพลองเพิ่งสัมผัส เฉิงฝู่กงออกเสียงฟาจิ้น อาจารย์ลุงอู่ (ฮุ่ยชวน) ก็ถูกทำให้ลอยทะยานออกไปไกลถึงสามจ้าง (สิบเมตร) จากโถงใหญ่ปลิวออกไปถึงนอกลาน ทำให้ฉากกั้นห้องโถงกับลานสวนซึ่งทำจากไม้หลิวถูกชนแตกเป็นเสี่ยงๆ อาจารย์ลุงอู่ฮุ่ยชวนเมื่อที่ล้มลงพื้น ทวนพลองยังไม่หลุดมือด้วยซ้ำ (หมายถึงพลังที่ส่งไปแยบยลมาก ไม่ได้แค่ตีที่ทวนพลอง แต่ส่งคนทั้งตัวลอยออกไป)
เมื่อที่ฉันยังเด็กได้ยินอาจารย์จิงหัวเล่าเรื่องทักษะวิชาทวนของเฉิงฝู่กงเช่นนี้ แอบสงสัยในใจว่าจะมีคนที่มีพลังล้ำเลิศได้เพียงนี้จริงหรือ อาจารย์จะต้องโอ้อวดเกินจริงแน่ๆ จนถึงยุค 80 ฉันได้รู้จักลูกศิษย์ปรมาจารย์อู๋เจี้ยนเฉวียน (ปรมาจารย์มวยไท่จี๋ตระกูลอู๋) เจียงฉางเฟิงผู้เฒ่าที่สวนสาธารณะฟู่ชิงในเซี่ยงไฮ้ ท่านเจียงเองเล่าว่า ปีนั้นเคยเห็นเฉิงฝู่กงกับอู่ฮุ่ยชวนแสดงทวนไท่จี๋เกาะติด หยางกงตะโกนหนึ่งเสียง ก็โยนอู่ออกไปหลายจ้าง หลังเฉิงฝู่กงลาจากโลกไป ยังไม่เคยได้พบเห็นทักษะเช่นนี้อีก สำนักตระกูลอู๋นั้นเน้นหนักที่อ่อนหยุ่นสะเทิน ไม่มีใครมีจิ้นที่ดุดันเช่นนี้ ผู้เฒ่าเจียงไม่ใช่ศิษย์ตระกูลหยาง ไม่มีเหตุผลที่ต้องมาประจบยกย่องหยางกง ดังนั้นฉันจึงเชื่ออย่างยิ่งว่าที่อาจารย์จิงหัวเล่าไว้ในปีนั้นเป็นจริงไม่มีแปลกปลอม วิชาทวนของเฉิงฝู่กงนั้น ไม่เพียงแต่เลื่องลือในฝ่ายสำนักมวยไท่จี๋ แต่ยังได้รับการยอมรับอย่างสูงจากครูมวยสำนักอื่น ครูมวยชาเฉวียนเลื่องชื่อหยางหงซิว, หม่าจินเปียวสร้างวิชา “พลองแต้มสิบสองวิถี” ก็ได้รับอิทธิพลจากทักษะวิชาทวนสี่เกาะติด, ทวนสี่ต่อกรของเฉิงฝู่กง
เฉิงฝู่กงนั้นแม้ว่าจะได้รับสืบทอดวิชาตระกูลหยางทั้งหมัดมวย กระบี่ ดาบ ทวน ต้าหลีว์ สานโส่ว (ต่อกรอิสระ) ดาบเข้าคู่ กระบี่เกาะติด ทวนเกาะติด และหลักวิชาเน่ยกง วิชานั้นเหนือล้ำ แต่เนื่องจากวัยเด็กไม่ใส่ใจฝึกฝน วิชาที่เชี่ยวชาญของเจี้ยนโหวกงคือดีดอาวุธลับกับวิชาจี้สกัดจุดจึงไม่มีผู้สืบทอด ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับปานโหวกง, เจี้ยนโหวกงแล้วถือว่ายังไม่อาจเทียบได้
บทที่ 3 คุณธรรมยุทธ์ให้ผู้คนนับถือ
ขงจื้อกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่เต็มไปด้วยคำพูดสวยหรูประดิษฐ์ประดอย ย่อมห่างไกลจากเมตตาธรรม” “ผู้ที่แน่วแน่ มั่นคง เรียบง่าย พูดแต่น้อย จึงจะเข้าใกล้เมตตาธรรม” เฉิงฝู่กงเป็นคนตรงและสัตย์ซื่อ ไม่ชอบกล่าววาจา เวลาสอนมวย อาศัยร่างกายมาแสดง ไม่พูดมาก เฉิงฝู่กงชั่วชีวิตไม่เคยวิจารณ์ความสูงต่ำของสำนักวิชาอื่น ทำให้เหล่าลูกศิษย์ของท่านก็ไม่เคยวิจารณ์วิชาสำนักอื่นว่าอ่อนด้อยแต่อย่างใด หากมีใครบอกว่าโหมวโหม่ว (เป็นคำแทนบุคคลแบบไม่ระบุชื่อ หมายถึงใครซักคน) ฝีมือใช้ไม่ได้ เฉิงฝู่กงจะบอกว่า “ฝึกมวยไม่ง่าย เขาฝึกได้ถึงขั้นนี้ ก็นับว่ายากแล้ว” นี่คือคุณธรรมในวาจา (ของเฉิงฝู่กง)
ตระกูลหยางมีหลักการที่ว่า “ลงมือต้องเห็นสีแดง (เลือด)” นี่คือใช้แรงยาวทำให้อีกฝ่ายถูกดีด (ถาน) ออกไปนอกหนึ่งจ้าง (3.3 เมตร) ไม่ใช่ใช้แรงขาดฉับพลัน (เหลิ่งต้วนจิ้น) ทำให้อีกฝ่ายอวัยวะภายในบาดเจ็บ บรรพบุรุษตระกูลหยางนั้นสอนมวยในจวนอ๋อง เมื่อท่านอ๋องต้องการฝึกผลักมือนั้น ลู่ฉานกงต้องคุกเข่าโขกหัวคำนับเพื่อแสดงความเคารพก่อน กราบเรียนว่าผลักมือตระกูลหยางนั้นต้องมีการฟาจิ้น คนถูกฟานั้นจะลอยปลิวไปไกล แต่ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บภายใน เฉิงฝู่นั้นเน่ยจิ้นเต็มเปี่ยม บางทีก็ยากจะที่จะห้ามทำให้คนไม่บาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจได้ มีครั้งหนึ่่ง อาจารย์เฉิงฝู่อยู่ที่อู่ฮั่นประลองกระบี่กับคนอื่น ใช้กระบี่ไม้ไผ่แต้มข้อมืออีกฝ่าย คิดไม่ถึงอีกฝ่ายกระบี่หลุดแขนหัก อาจารย์เฉิงฝู่รู้สึกเสียใจไม่หาย ดังนั้นอาจารย์เฉิงฝู่จึงมักเก็บมือทั้งคู่ไว้ในกระเป๋าเสื้อ จะได้ไม่ลงมือโดยง่าย นี่ก็คือคุณธรรมของ (ฝี)มือ
เฉิงฝู่กงให้ความเคารพต่อค่ายสำนักอื่นอย่างมาก ปี 1928 ประธานสถาบันยุทธ์แห่งชาติหนานจิงชื่อจางจือเจียงเชิญเฉิงฝู่กงเป็นหัวหน้าฝ่ายมวยไท่จี๋ (ประจำสถาบันยุทธ์) และเชิญลูกศิษย์เอกของเฉิงฝู่กงหลายท่านมาดำรงตำแหน่งอาจารย์ผู้สอน เนื่องจากเฉิงฝู่กงมีสำนักใหญ่โตและมีลูกศิษย์มากในปักกิ่ง จึงต้องอาศัยเวลาเตรียมตัวเตรียมการช่วงหนึ่งถึงจะพร้อมเดินทางไปรับงานนี้ รองประธานหลี่จิ้งหลินเห็นเฉิงฝู่กงชักช้าไม่สามารถมาดำรงตำแหน่งตามเวลา จึงเชิญซุนลู่ถังมาดำรงตำแหน่งแทน คุณซุนไม่รู้ว่าคุณจางเคยเชิญเฉิงฝู่กงมาก่อน จึงเปลี่ยนชื่อจากฝ่ายไท่จี๋เป็นฝ่ายบู๊ตึ้ง (อู่ตัง) สอนมวยสิ่งอี้ ปากว้า ไท่จี๋ สามแขนง และนำลูกศิษย์มาดำรงตำแหน่งอาจารย์สอน เฉิงฝู่กงไม่รู้เหตุการณ์ นำพาเหล่าลูกศิษย์มาถึงหนานจิง จางจือเจียงจัดงานเลี้ยงต้อนรับ ผ่านสุราคารวะสามรอบ จางจือเจียงจึงกล่าวขึ้นว่า: “สถาบันยุทธ์ไม่สามารถมีหัวหน้าฝ่ายบู๊ตึ้งสองคนได้ เป็นไปได้หรือไม่จะให้คุณหยางกับคุณซุนประลองกันสักรอบ ผู้ชนะอยู่ ผู้แพ้จากไป” เฉิงฝู๋กงกล่าวอย่างสงบว่า: “พี่รองซุนคือพี่บุญธรรมของฉัน สมควรให้เขาเป็นหัวหน้าฝ่าย ไม่ต้องประลองหรอก แต่ในเมื่อตำแหน่งอาจารย์สอนไม่มีตำแหน่งว่าง เหล่าลูกศิษย์ของฉันไม่มีตำแหน่งให้บรรจุ พวกเราต้องขอลาจากไป ขอท่านประธานจางโปรดให้อภัยด้วย” หลังจากนั้น เฉิงฝู่กงกล่าวกับเหล่าลูกศิษย์ว่า “ฉันกับพี่รองซุนความสัมพันธ์ดีปานพี่น้อง หากปิดประตูประลองกันนั่นถือว่าปกติ ทำไมจะต้องเพื่อผลประโยชน์เล็กน้อยประลองกันต่อหน้าสาธารณะชนด้วย? คุณจางไฉนกล้าเสนอเรื่องเช่นนี้!” เมื่อเฉิงฝู่กงถึงเซี่ยงไฮ้แล้ว จางจือเจียงรู้ตัวว่าทำผิดพลาดไป จึงแนะนำเฉิงฝู่กงให้เป็นที่ปรึกษาของสถาบันยุทธ์แห่งชาติเจ้อเจียง ซุนลู่ถังภายหลังรู้เรื่องนี้ จึงแนะนำอาจารย์มวยสิ่งอี้เกาเจิ้นตงมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบู๊ตึ้งในสถาบันยุทธ์ ตัวเองลาออกไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาในสถาบันยุทธ์แห่งชาติเจียงซู เพื่อแสดงว่าตนเองเพียงมีตำแหน่งเท่าเทียมกับเฉิงฝู่กง (คือไม่ยอมดำรงตำแหน่งสูงกว่า) จากเรื่องนี้จะสามารถเห็นถึงจรรยาอันสูงส่งและงดงามของผู้อาวุโสทั้งสองท่าน
เมื่อครั้งที่เฉิงฝู่กงไปถึงเซี่ยงไฮ้ อู๋เจี้ยนเฉวียนนั้นสอนมวยอยู่ที่สมาคมจิงอู่อยู่แล้ว ได้นำเอาแฮม รังนก หูฉลาม สุราเลื่องชื่อต่างๆ มาเป็นของขวัญต้อนรับเฉิงฝู่กง คุณอู๋กล่าวว่า “ท่านอาสามสบายดี? พวกเราสกุลอู๋พ่อลูก อยู่ฝึกมวยในบ้านตระกูลหยาง จึงได้มีวิชาเลี้ยงชีพอยู่ถึงทุกวันนี้ บุญคุณของบ้านหยาง จดจำไว้ไม่เคยลืมเลือน” เฉิงฝู่กงกล่าวว่า “หยางกับอู๋ถือเป็นครอบครัวเดียวกัน ยังมีแบ่งแยกอีกหรือ? ลูกศิษย์ที่ท่านสอนนั้น ฉันจะไม่รับไว้แน่นอน วางใจได้” ภายหลังเมื่อเฉิงฝู่กงสอนมวยที่เซี่ยงไฮ้ หากมีลูกศิษย์สำนักตระกูลอู๋อยากเปลี่ยนย้ายค่ายสำนักเข้าตระกูลหยางเรียนมวย เฉิงฝู่กงก็จะเลี่ยงปฏิเสธไม่รับทั้งสิ้น และยังอธิบายอย่างกระจ่างชัด ทั้งมวยตระกูลหยางและอู๋สองตระกูลแม้ดูแตกต่างกันบ้าง แต่หลักการและวิธีก็มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน ลูกศิษย์ของจางซิ่วหลินคือจางจั้วหลิน ลูกศิษย์ซุนลู่ถังคือเฉินเวยหมิงต่างก็กราบเฉิงฝู่กงเป็นอาจารย์เรียนมวยไท่จี๋ แต่นั่นก็เพราะได้รับคำแนะนำมาจากอาจารย์ของพวกเขา ไม่เช่นนั้นแล้วเฉิงฝู่กงย่อมไม่รับไว้ ดังนี้ เฉิงฝู่กงกับค่ายสำนักมวยอื่นๆ ทั้งภายในภายนอก จึงสามารถสมัครสมานกลมเกลียว อยู่ร่วมกันอย่างสันติ คุณธรรมยุทธ์อันสูงส่งของเฉิงฝู่กงนี้ จึงเป็นที่นับถือของผู้คนอย่างยิ่ง
บทที่ 4 ขี่กระเรียนคืนปัจจิม
ในปี 1936 เมื่อวิชาฝีมือของเฉิงฝู่กงบรรลุถึงจุดสูงสุด ก็วางมือคืนปัจจิมทิศไม่กลับ (หมายถึงเสียชีวิต) ปีนั้นอายุ 53 ปี มีการคาดเดาและข่าวลือมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้
มีคนคาดกันว่า เพราะเฉิงฝู่กงฟาจิ้นรุนแรงเกินไป ทำร้ายชี่ภายใน ท่านอาจารย์จิงหัวอธิบายว่า “ไม่มีเหตุผลเช่นนี้! แรงดีดสะท้อน (ถานหวงจิ้น) ของตระกูลหยางนั้น ปล่อยยาวตีไปไกล แต่ก็เบาคลายอย่างที่สุดแยบคายอย่างที่สุด ไม่ใช้กำลังแม้แต่น้อย ท่านลู่ฉาน ท่านเจี้ยนโหวนั้นก็ล้วนแต่ฟาจิ้นที่รุนแรง แต่ก็ยังอายุยืนยาว ฉันตอนนี้อายุ 80 แล้ว ก็ยังฟาคนออกไปเกินจ้าง (3.3 เมตร) โดยไม่ต้องใช้กำลังสักนิดได้อยู่”
ยังมีคนกล่าวว่า เรื่องนี้เกิดจากการหลงไหลเสน่ห์สตรี (หมายถึงมีเซ็กส์มาก) อาจารย์จิงหัวกล่าวว่า “เฉิงฝู่กงนั้นสัตย์ซื่อถือมั่น ข้างกายไม่มีสตรีที่สอง กับโหวฮูหยินนั้นมีความรักสัมพันธ์กันอย่างดี มีความรักมั่นอันลึกซึ้ง หลังจากเฉิงฝู่กงมาถึงฮู่ (ชื่อย่อของเซี่ยงไฮ้) มีทั้งภรรยาบ้านเศรษฐี สาวน้อย ต่างก็มาเรียนมวย เฉิงฝู่กงก็จะวางระยะห่างอย่างชัดแจ้ง ฉันนั้นเมื่ออยู่เป็นศิษย์ที่บ้านหยาง ตลอดเวลาติดตามข้างซ้ายขวาเฉิงฝู่กง รู้ดีว่าอาจารย์นั้นเก็บรักษาตัวปานหยก ดังนั้นอย่าได้ฟังคำนินทาว่าร้ายจากคนจิตใจคับแคบเหล่านี้
อาจารย์จิงหัวนั้นรอบรู้ทั้งการแพทย์จีนและการแพทย์ตะวันตก เชื่อว่าที่เฉิงฝู่กงโชคร้ายด่วนเสียชีวิต มาจากการกินดื่มไม่หยุด เฉิงฝู่กงในวัยหนุ่ม สะบัดพลองไม้เทียนขาวซ้ายขวาข้างละสองร้อยครั้ง (คุณพระ!!!) ปัดพลองกับต้นไม้ซ้ายขวาข้างละสองร้อยครั้ง ยืนจ้านจวงนานสามก้านธูปหมดดอก ฝึกมวยยิ่งหนักหน่วง การกินยิ่งมาก ทุกมื้อต้องกินหมั่นโถวของเกาจวง (น่าจะหมายถึงหมั่นโถวจากหมู่บ้านเกา) ถึงสามสิบลูก ขาหมู 1 ขา เป็ดไก่หนึ่งตัว อาจารย์จิงหัวเมื่อไปยังบ้านหยางครั้งแรก เห็นเฉิงฝู่กงนั้นกินเหมือนหมาป่า/กลืนปานพยัคฆ์ ราวกับขุนพลตีพยัคฆ์ อู่ชง (บู๊สง) ในเรื่อง “ซ้องกั๋ง” อย่างนั้น เป็นที่น่าตกตะลึงมาก แต่ผ่านเวลานานวันก็คุ้นกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่รู้สึกว่าแปลกประหลาดแต่อย่างใด หลังเฉิงฝู่กงสร้างชื่อแล้ว ไม่ได้ฝึกฝนหนักเช่นเดิม พลังงานไม่มีที่ใช้ แต่ระดับการกินกลับไม่ได้ลดลง น้ำหนักจึงเพิ่มมากถึง 288 ชั่ง (150 กิโลกรัม) แถมยังชื่นชอบทานเนื้อมากกว่าผัก ระดับคอเรสเตอรอลและไขมันในเลือดย่อมสูง การบวมน้ำของเฉิงฝู่กงนั้นไม่ได้มาจากปัญหาป่วยของไต แต่เกิดจากปัญหาของหัวใจ เกิดจากการสะสมอย่างยาวนานของไขมันในเลือดที่สูงเกินไป คนโบราณกล่าวไว้ว่า: “โรคเข้าจากปาก” ก็คือเช่นนี้
ฉันเขียนประวัติย่อของเฉิงฝู่กงออกมา ก็เพื่อให้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมของผู้ศึกษามวยไท่จี๋ตระกูลหยาง อีกทั้งเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่พวกเราคนรุ่นหลัง ได้พิจารณาตัวเองอย่างลึกซึ้ง เฉิงฝู่กงเป็นหลานของลู่ฉานกง เรียนมวยตั้งแต่เล็ก อายุสี่สิบถึงจะเริ่มเข้าสู่ขั้นสุดยอด (ชูเสินรู่ฮว่า) บรรลุขั้นเสินหมิง (ขั้นรู้แจ้ง) เฉิงฝู่กงนั้นเป็นผู้สืบทอดรุ่นที่สาม แต่ก็ยังไม่ได้สืบทอดกงฟูของตระกูลหยางไว้ทั้งหมด ทุกวันนี้เหลือแค่พวกที่บรรพบุรุษหรืออาจารย์เรียนมวยจากตระกูลหยาง หรือมีความสัมพันธ์กับตระกูลหยางบ้างเล็กน้อย แต่กลับเรียกตัวเองเป็นผู้สืบทอดตระกูลหยางรุ่นนั้นรุ่นนี้ อ้างว่ากงฟูตัวเองสูงเยี่ยมเทียมฟ้า เฉิงฝู่กงนั้นมีพลังฝีมือล้ำเลิศ คุณธรรมวาจากับคุณธรรมมือกลับหนักแน่น ทุกที่ทุกเวลารักษาไว้ไม่มีเสื่อมคลาย เป็นแบบอย่างของผู้มีคุณธรรมยุทธ์สูงส่ง หากกงฟูยังไม่บรรลุสูงส่งพอ ปากกลับโอ้อวด ไม่เห็นใครในสายตา นี่ไม่ละอายใจต่อปรมาจารย์เฉิงฝู่หรือ? ตัวฉัน (ผู้เขียน) ไร้ความสามารถ เพียงหวังตนเองพิจารณาตัวเองวันละสามรอบ (หมายถึงหลายรอบ) แบ่งปันกับเพื่อนฝึกมวยทั้งในและโพ้นทะเล