พูดคุยถึงการผลักมือ ตอนที่ 1
- 28/09/2017
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
บทความนี้แปลจากบทหนึ่งจากหนังสือ “การถ่ายทอดจริงแท้ของหลักเหตุผลมวยไท่จี๋” (ไท่จี๋เฉวียนหลี่ฉวนเจิน) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1986 เขียนโดย จางยี่จิ่ง จางหงจั้ว ศิษย์ของอาจารย์หลีหย่าเซวียน เนื้อหาประกอบด้วยหลักวิชามวยไท่จี๋ของอาจารย์หลีหย่าเซวียน ถือเป็นหนังสือวิพากษ์หลักวิชามวยไท่จี๋ที่ดีมากที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยมีมา หลักวิชาถูกต้อง จริงแท้ และได้รับการถ่ายทอดตรงจากครูมวยรุ่นใหญ่ของตระกูลหยางอย่าง อ.หลีหย่าเซวียน ซึ่งเรียนมวยกับ อ.หยางเจี้ยนโหว และกราบ อ.หยางเฉิงฝู่เป็นอาจารย์ เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้จึงสามารถใช้เป็นหลักอ้างอิงวิชามวยไท่จี๋ตระกูลหยางได้เป็นอย่างดี
พูดคุยถึงการผลักมือ (ทุยโส่วม่านถาน) ตอนที่ 1
การผลักมือ (ทุยโส่ว) คือวิธีการเรียนรู้การต่อสู้ของมวยไท่จี๋ คือการฝึกฝนวิธีของกงฟูที่ใช้ในการต่อสู้แข่งขันกัน (คือใช้การต่อสู้ไปแข่งขัน ไม่ใช่เอาการผลักมือไปแข่งขัน ผลักมือคือการฝึกฝน) แต่นี่ไม่ใช่เป้าหมายของการเรียนมวยไท่จี๋เฉวียน (หมายถึงไม่ได้เรียนมวยไท่จี๋เพื่อมีเป้าหมายไปผลักมือกัน) แล้วเป้าหมายคืออะไร? หนึ่งคือเป้าหมายเพื่อร่างกายแข็งแรง อายุยืนยาวห่างไกลโรคภัย สองคือเป้าหมายเพื่อต่อสู้ ประลองฝีมือ (สองคนต่อสู้กันโดยไม่ติดรูปแบบ – วงเล็บตรงนี้มาจากต้นฉบับ)
ผลักมือคือการเรียนความแยบคายพิสดารของต่งจิ้น (การเข้าใจเรื่องแรง) และยังเป็นขั้นตอนระหว่างเรียนชุดมวยเป็นแล้วไปสู่การฝึกฝนต่อสู้อิสระ (สานโส่ว)
เรียนมวยภายนอกมีวลีเก่าแก่ว่า “เรียนตีต้องเรียนถูกตีก่อน” ก็คือ ในเวลาระหว่างฝึกมวย จะต้องเรียนชี่กง (ชี่กงแข็ง) เพื่อให้ตนเองสามารถรับการถูกตีอย่างหนักหน่วงได้ หลักการมวยไท่จี๋นั้นไม่เหมือนกัน ที่ใช้นั้นคือ “ชักนำสู่ความว่างเปล่า ใช้อ่อนสยบแข็ง” ก็คือต้องฝึกที่จะไม่รับแรงกำลังของอีกฝ่าย หรือก็คือ “ฝึกตีก่อนไม่ฝึกถูกตี” ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการเรียนแรงเกาะติด (จันจิ้น) แรงสะเทิน (ฮว่าจิ้น) ก่อน สามารถติดสามารถสะเทินแล้ว จากนั้นจึงก้าวอีกขั้นไปฝึกแรงยึดกุม (หนาจิ้น) และฟาจิ้น
ในระหว่างที่ศึกษาค้นคว้ามวยไท่จี๋จากขั้นตอนการฝึกไปสู่การใช้งานนั้น เหล่าผู้อาวุโสรุ่นก่อนๆ ก็สร้างวิธีผลักมือขึ้นมา ให้สองคนนั้นเคลื่อนเข้าออกระหว่างกันด้วย เผิง, หลีว์, จี่, อ้าน เพื่อเรียนรู้หลักการใช้งานของมวยไท่จี๋ ต่างฝ่ายก็ค้นหาจุดอ่อนของอีกฝ่าย และปกป้องตนเองในเวลาเดียวกัน นี่ก็คือการฟาจิ้นกับฮว่าจิ้นนั่นเอง หากต้องการทำให้ตนเองอยู่ในสภาวะไม่พ่ายแพ้ ก่อนอื่นต้องเรียนให้เป็นฮว่าจิ้น (แรงสะเทิน) ชักนำแรงอีกฝ่ายตกสู่ความว่างเปล่า ทำให้ตนเองไม่ต้องรับแรงของอีกฝ่าย ไปจนถึงในระหว่างมือสัมผัสนั้นสามารถไม่ทิ้งไม่ค้ำ (ปู้ติวปู้ติ่ง) เรียนแรงเกาะติด เรียนการเข้าใจแรง (ต่งจิ้น) พอเรียนฮว่าจิ้นเป็นแล้ว ตัวเองไม่แพ้แล้ว ที่เหลือค่อยเป็นการเรียนการเอาชนะคู่ต่อสู้ได้อย่างไร (หนาจิ้นและฟาจิ้น – ตรงนี้เป็นวงเล็บจากบทความ)
ดังนั้น เมื่อเริ่มเรียนผลักมือ ร้อยพันไม่ควรมีใจอยากเอาชนะ ต้องค่อยใช้จิตใช้ใจไปฟังการเปลี่ยนแปลงของจิ้นอีกฝ่าย มีแค่ผ่านการผลักมือเป็นเวลายาวนาน (แน่นอนว่าต้องมีอาจารย์รู้จริงชี้แนะ) ก็จะทำให้ตนเองสามารถเข้าใจแรง (ต่งจิ้น) สะเทินแรง (ฮว่าจิ้น) ได้แล้ว ก้าวถัดไปคือฝึกหนาจิ้น (แรงยึดกุม) ฟาจิ้น ก็จะง่ายแล้ว หรือกล่าวได้ว่า พอสามารถสะเทินแรงได้อย่างถูกต้องแล้ว (ย้ำว่าคือต้องเป็นฮว่าจิ้นแท้ ไม่ใช่การแอ่นย้วยหนี) ฟาจิ้นก็จะอยู่ในนั้นแล้ว
แต่เนื่องจากเพราะการผลักมือนั้นสามารถมีการแพ้ชนะ ซึ่งชาวจีนเรานั้นให้ความสำคัญกับหน้าตาเป็นพิเศษ (หมายถึงชาวจีนกลัวเสียหน้าเป็นพิเศษ) ผู้เรียนผลักมือบ่อยๆ จึงมักจะอยากเพียงชนะไม่อยากแพ้ พอผลักมือกัน อะไรคือใช้อ่อนชนะแข็ง ชักนำสู่ความว่างเปล่า ก็ลืมไปหมดสิ้นอย่างหมดจดแล้ว เหตุผลที่จะต้องเรียนฮว่าจิ้นก่อน ก็ล้วนแต่ไม่คำนึงถึงแล้ว ในจิตในใจคิดถึงอยู่เรื่องเดียวคือต้องชนะ ผลคือแรงกินนม (หรือแรงข้ามต้มบ้านเรา) ทั้งหมดก็นำออกมาใช้หมดสิ้น หวังว่าจะใช้แรงมากจัดการเพื่อชนะฝ่ายตรงข้าม นี่ก็คือทิ้งหลักการเพื่อเอาชนะ ทำผิดข้อผิดพลาดที่เรียกว่า “ค้ำ” (ติ่ง) นี่คือข้อผิดพลาดหลักของผู้ที่เรียนผลักมือทั้งหลาย ความจริงที่เรียนนั้นคือมวยไท่จี๋ หลักคืออาศัยอ่อนชนะแข็ง แต่ที่ใช้ออกมากลับเป็นการใช้แรงมาก เอาแรงไปชนะคน นี่ช่างน่าหัวเรอะ น่าเศร้าใจ นี่ช่างแตกต่างจากมวยไท่จี๋ที่ควรจะเป็นไปไกล ผลก็เหมือนคนตาบอดนำคนตาบอดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คนที่อัตตาสูง คนที่ไม่ใส่ใจรายละเอียด คนที่คิดว่าตัวเองถูกเสมอและพวกที่มีแต่จิตใจอยากเอาชนะ รวมทั้งพวกฝึกมวยภายนอกก็มีความสำเร็จอย่างชัดเจน พวกนี้ล้วนแต่ยากที่จะเรียนการผลักมือของมวยไท่จี๋ให้ดีได้ มีแต่คนที่ไม่ใช่พวกที่กล่าวมาข้างต้น จึงจะมีความหวังเห็นถึงความพิสดารของกงฟูของการผลักมือ
สวูเจิ้นกล่าวไว้ในหนังสือ [ไท่จี๋เฉวียนฟาเหวย] ว่า “ยึดตามหลักการแสวงหาแก่น อย่าได้ข้ามหลักการไปหาชัยชนะ” ถือว่ามีวิสัยที่ถูกต้อง เป็นยาที่รักษาถูกโรค ยึดตามสองประโยคนี้แล้ว ทำให้ตลอดเวลาที่ฉันฝึกนั้นต้องระมัดระวังรู้ตัวตลอด ความผิดพลาดในการผลักมือก็น้อยลง มีผลดีไม่น้อย
การผลักมือคือการสืบสาวเน่ยจิ้น (แรงภายใน) ระหว่างกันของแต่ละฝ่าย อาศัยความรู้สึกจากการสัมผัสไปค้นหาศูนย์ถ่วงและจุดอ่อนของอีกฝ่าย แตกต่างกับมวยภายนอกอย่างสิ้นเชิง และไม่ใช่การใช้อะไรที่เรียกว่า “เหิงพว่อจื๋อ” (ขวางทำลายตรง หมายถึงการใช้แรงขวางเข้าไปผลักดันอีกฝ่ายที่ยืนตรงอยู่) เมื่อเริ่มเรียนผลักมือ จะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพของ เผิง หลีว์ จี่ อ้าน อย่างจริงจัง อย่าได้มีแต่ทำท่าทางเท่านั้น ต้องใส่ใจพัฒนาแรงฟัง สะเทินสลายแรงอย่างเต็มที่ ไม่เคลื่อนไหวมั่วไร้การควบคุม เหล่านี้ ก้าวถัดไปคือฝึก “ต้าหลีว์” ใช้ ไฉ่ เลี่ยะ โจ่ว เค่า ก็ยังให้ความสำคัญกับการฟังแรง คนที่กงฟูสูงแล้ว มีแค่สืบสาวจิ้นระหว่างกัน ไม่มีท่าทางรูปแบบตายตัว เช่นนี้เรียกว่า “สานทุย” (ผลักอิสระ)
การผลักมือสามารถกล่าวได้ว่าคือการต่อสู้ด้วยบุ๋น (เหวิน) ท่าทางภายนอกดูสุภาพเรียบร้อย แต่ภายในแฝงไว้เต็มเปี่ยม ให้ความสำคัญกับความละเอียด ต่อต้านความหยาบกระด้าง เนื่องจากเน้นที่การแข่งความฉลาด แข่งความแยบคาย ดูถูกการแข่งกำลัง แม้ว่าการฟาจิ้นจะทำให้คนแตกตื่นตกใจ ตีคนปลิวไปนอกหนึ่งจ้าง (3.3 เมตร) เป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่เหมือนพวกมวยภายนอกต่อสู้ ที่ตีกันจนจมูกช้ำหน้าบวม ทั้งยังสามารถยกระดับทักษะการโจมตีและป้องกันตัวขึ้นมา (จากการผลักมือ) และยังสามารถเป็นการแข่งขันระหว่างเพื่อน (แน่นอนว่าไม่เหมาะเล่นกับพวกที่แข่งขันเพื่อเอาชนะเท่านั้นนะครับ ผลักมือมีไว้เล่นกับเพื่อน กับการแข่งกับคู่ต่อสู้ควรใช้การต่อสู้) ทั้งมีชีวิตชีวา ทั้งพัวพันอย่างอ่อนโยน หากถูกยอดฝีมือฟาจิ้น ยังสามารถสนุกกับผลของการตกใจขวัญหนี รู้สึกเหมือนถูกไฟฟ้าช็อตได้อีกด้วย ดังนั้นคนเรียนมวยไท่จี๋มากมายพอเจอกันก็รักที่จะผลักมือกัน จนเป็นคนที่คลั่งไคล้การผลักมือก็มี เพราะภายใน (การผลักมือ) นั้นมีรสนิยมอีกแบบหนึ่ง คนภายนอกไม่รู้ ในความสุขของการผลักมือนั้น ยังสามารถสร้างมิตรภาพ พัฒนาสุขภาพร่างกาย พัฒนาระดับของทักษะและความคิด เพียงหนึ่งก็ให้ผลมากมาย ดีงามอย่างนี้จะไม่ลองได้หรือ?
ในหนังสือ [ไท่จี๋เจิ้งจง] (ไท่จี๋ที่แท้จริง) ของอู๋จื้อชิง มีบทความกล่าวถึงประสบการณ์การฝึกของเสียงข่ายหรานอยู่บทหนึ่งกล่าวถึงประโยชน์ของการผลักมือ เขียนไว้ได้ละเอียดลึกซึ้ง บทความมีดังนี้:
พวกเราคนฝึกมวย ไม่ว่าจะเป็นมวยไท่จี๋หรือมวยอื่นๆ ล้วนแต่ต้องรู้ความหมายของอักษร “เร็ว” ไม่ใช่ว่าสองมือยืดหดรวดเร็วก็เรียกว่าเร็ว และก็ไม่ใช่ว่าสองเท้าก้าวถอยรวดเร็วก็เรียกว่าเร็ว (คนเรานั้น) มีมือเท้านั้นเหมือนกัน ไม่ว่าระดับความเร็วของการยืดหดก้าวถอย หากไม่ใช่มังกรอ่อนแอคนแก่ชราหรือพิการแขนขาแล้ว ส่วนใหญ่ (ความเร็ว) ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ควรรู้ก็คือสิ่งที่แยกเร็วช้า สำคัญอยู่ที่ดวงตาทั้งคู่ แต่คนเราก็มีสองตาเหมือนกัน แล้วมีอะไรแตกต่าง ก็แตกต่างที่สามารถมองเห็นโอกาสได้รวดเร็วหรือไม่ หากศัตรูยังไม่ได้แสดงโอกาสให้เราหยิบฉวย มือเท้าแม้จะตีไปถูกอีกฝ่าย ไม่เพียงแต่ไม่มีผล บ่อยครั้งยังกลับทำให้ศัตรูมีโอกาสตีกลับ เวลาที่สองคนตีกันนั้น อย่างไรถึงเรียกว่าโอกาส? ก็อยู่ที่ชั่วขณะที่ศัตรูสูญเสียศูนย์ถ่วง (ศูนย์เสียการควบคุมร่างกายและท่าร่าง) นี่ก็คือโอกาส สองตามองเห็นโอกาสแล้ว อาศัยโอกาสนี้เข้าตี สามารถตีอีกฝ่ายล้มได้หรือไม่? มันก็ยังไม่แน่ (ตัวเรา) ยังต้องไม่เสียตำแหน่ง ไม่เสียทิศทาง ถึงจะสามารถมีผล เพราะว่าแม้ศัตรูจะสูญเสียศูนย์ถ่วง แต่ก็ยังต้องดูว่าปัญหาของอีกฝ่ายอยู่ที่ไหน ควรเข้าโจมตีจากตรงไหน ไปยังทิศทางไหน จึงจะสามารถใช้แรงน้อยแต่สร้างผลที่มาก หากตำแหน่ง ทิศทาง ยังไม่ได้ตรวจสอบให้ดี จากเดิมที่คู่ต่อสู้สูญเสียการควบคุมศูนย์ถ่วงอยู่ ก็มีบางครั้งที่กลับสามารถคืนสมดุลหลังจากถูกโจมตีไปเสียอย่างนั้น คนสองคนอยู่ในระหว่างตีกัน โอกาสที่สามารถเข้าโจมตีได้นั้น ล้วนแต่เกิดขึ้นตลอดเวลา หากสองตาไม่สามารถสังเหตุเห็น หรือมองเห็นช้าไป โอกาสก็ผ่านไปแล้ว มีบางครั้งที่ทิศทางและตำแหน่งของการโจมตีผิดพลาด ก็ทำให้การโจมตีไม่สามารถเกิดผลได้เช่นกัน ก็ทำให้พลาดโอกาสเช่นกัน การฝึกฟังแรงในการผลักมือ ก็คือสำคัญที่สุดที่การมองหาโอกาส เข้าโจมตีก็ไม่สูญเสียตำแหน่งและทิศทาง รวมทั้งช่วยยกระดับความยอดเยี่ยมของศิลปะการต่อสู้ ซึ่งไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่ามือเท้ารวดเร็วยังไง การแบ่งความตื้นลึกของกงฟู ความสูงต่ำของศิลปะวิชา ทั้งหมดก็เป็นเช่นนี้ ถ้าไม่รอโอกาส ไม่กระจ่างทิศทางตำแหน่ง ก็ถือว่าเป็นตีมั่วจับมั่วกันแล้ว
ตรงนี้ ท่านเสียงข่ายหรานอธิบายถึงความสำคัญของดวงตาทั้งสองในการผลักมือ สามารถอธิบายเพิ่มเติมให้ครบถ้วนได้อีกว่า ในเวลาผลักมือนั้น แรงฟัง (สัมผัสความรู้สึก-ก่านเจวี๋ย) ก็ยิ่งสำคัญ ไม่ได้อยู่เพียงการมองเห็นเพียงอย่างเดียวเท่านั้น (ทั้งตาและแรงฟังนั้นเหมือนกัน คือเป็นการรับรู้การกระทำของอีกฝ่ายทั้งคู่ – ผู้แปล) ในเวลาที่สานโส่ว (ต่อกรมืออิสระ) ยังต้องบวกกับการได้ยินและความเข้าใจหลักการ (ความคิดและการตัดสินใจ) เป็นการใช้สัมผัสทั้งสี่ (ดู-สัมผัส-ฟัง-ใจ) อาจารย์หลีหย่าเซวียนนั้นให้ความสำคัญกับ “ผัสสะในการเผชิญหน้ากับศัตรูทั้งสี่” นี้ในเวลาที่ต้องใช้ในต่อสู้แข่งขันเป็นอย่างยิ่ง
นอกไปจากการรำชุดมวยแล้ว ผลักมือถือได้ว่าเป็นเนื้อหาอีกอย่างของมวยไท่จี๋ เป็นสิ่งที่พัฒนาก้าวหน้าควบคู่ไปกับการรำชุดมวย เติมเต็มความสำเร็จซึ่งกันและกัน
หากจำแนกความแตกต่างของคุณลักษณะการผลักมือแล้ว สามารถแบ่งแยกได้เป็นคุณลักษณะของการผลักมือเพื่อฝึกฝนกับการผลักมือแข่งขันได้สองชนิด ในการผลักมือทั้งสองชนิดนั้นมีรูปลักษณ์ภายนอกไม่แตกต่างกัน แต่ความคิดที่ชี้นำนั้นไม่เหมือนกันอย่างสิ้นเชิง คุณลักษณะของการผลักมือฝึกฝน ก็คือการค้นคว้าหลักมวยว่าสามารถฝึกฝนออกมาได้อย่างไร และมีเป้าหมายที่การยกระดับทักษะวิชาของตนเองขึ้น แพ้ชนะนั้นล้วนแต่ไม่ใช่สิ่งสำคัญ ส่วนคุณลักษณะของการผลักมือแข่งขันนั้น เป้่าหมายก็คือการมีชัยเหนืออีกฝ่าย เหมือนทหารสองฝ่ายสู้กัน เน้นการศึกไม่หน่ายกลอุบาย เต็มๆ ว่างๆ การเปลี่ยนแปลงมีเป็นร้อยพัน ในส่วนของการประลองความคิดและความแยบยลของทักษะยิ่งมีมาก (แข่งที่ว่าก็ไม่ใช่การแข่งผลักมือแบบกีฬาปัจจุบันนะครับ ผลักมือแข่งขันที่ถูกต้องก็คือการผลักมือในรูปแบบดั้งเดิม ยังคงรูปแบบและดูเหมือนการฝึกผลักมือนั้นแหละ ที่เปลี่ยนคือภายในจิตใจและการเปลี่ยนแปลงของจิ้น)
หากมีเป้าหมายเพียงแค่ร่างกายแข็งแรง เพียงแค่เรียนชุดมวยโดยไม่เรียนผลักมือ ก็ถือว่ามีผลเกี่ยวข้องกันไม่มากนัก แต่หากอยากเข้าถึงความอัศจรรย์ของกงฟูทักษะการต่อสู้ของมวยไท่จี๋ อย่างนี้ไม่เรียนผลักมืออย่างจริงจังก็ไม่ได้แล้ว หากผลักกับยอดฝีมือ ก็จะพบว่าตนเองทั้งไม่ใช่และไม่พอ (คือฝีมือที่ใช้ไปทั้งไม่ใช่และไม่เพียงพอ) การศึกษาจุดแข็งของอีกฝ่าย เปรียบเทียบความห่างกับกงฟูของตนเอง ยังสามารถทำให้เข้าใจจุดแข็งของตนเองและจุดอ่อนของอีกฝ่ายได้อีกด้วย และทำให้สามารถปรับแก้ไขความผิดพลาดในการรำชุดมวยของตนเองให้ถูกต้องได้ และสามารถต่อด้วยการพัฒนาจุดเด่นของตัวเองออกมาได้ เพราะข้อผิดพลาดในการรำชุดมวยนั้น ย่อมแสดงผลสะท้อนกลับมาในเวลาผลักมมือ อยากปิดซ่อนไว้ก็ทำไม่ได้แล้ว ดังนั้นการไม่เรียนผลักมือ มีแค่ทำให้ตนเองนั้นคิดว่าตัวเองรำมวยได้ถูกต้องแล้ว แต่ไม่มีการตรวจสอบอย่างเป็นธรรม (คือไม่หลอกตัวเอง) ไม่เรียนผลักมือ ยังทำให้ไม่สามารถเข้าใจความหมายของคำว่า “ไท่จี๋” ทั้งสองคำในวิชามวย เนื้อหาวิชามวยก็ไม่สามารถเข้าใจได้เช่นกัน การเรียนแค่ชุดมวย อย่างมากก็แค่เรียนได้ครึ่งหนึ่งของมวยไท่จี๋ และในความเป็นจริง ไม่ฝึกผลักมือ ย่อมไม่สามารถเรียนมวยไท่จี๋ให้ดีได้
แม้ว่าการผลักมือจะมีการรำชุดมวยเป็นพื้นฐาน คือเป็นการใช้งานของกงฟูของการคลายและอ่อนหยุ่น แต่ในนั้นก็ยังมีวิธีอื่นๆ หากไม่มีอาจารย์ชี้แนะย่อมไม่สามารถเข้าใจได้ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเรียนผลักมือ ก็จะมีกฎเกณฑ์บางข้อที่ไม่ปฏิบัติตามไม่ได้ หากไม่ได้พบอาจารย์ผู้รู้แจ้ง ก็จะเป็นคนตาบอดที่งมทางผิดพลาดอยู่เสมอ จากเริ่มต้นก็ก็แข่งใช้แรง บั้นปลายก็เหมือนคนไม่ยอมกัน ย่อมไม่มีวันเข้าประตูได้
พอเข้าใจการผลักมือแล้ว ผัสสะของสองมือก็จะมีความแยบคายและว่องไวเป็นพิเศษ เหมือนมีดวงตาสองลูกเพิ่มขึ้นมา ในเวลาผลักมือกับคนอื่น หากกงฟูอีกฝ่ายต่ำกว่า ฉันก็สามารถอาศัยผัสสะสัมผัสไปหยั่งรู้สถานการณ์ของอีกฝ่ายได้ เช่นแรงมากน้อย ทิศทาง เจตจำนง ต่างๆ สามารถรู้สึกถึงได้ว่าทุกจุดทุกที่ของอีกฝ่ายล้วนเป็นจุดพลาดจุดอ่อน สามารถโจมตีได้ทุกที่ทุกเวลา ต่อแรงที่เข้ามาของอีกฝ่าย ก็สามารถชักนำสู่ความว่างเปล่าได้อย่างสบายๆ เป็นธรรมชาติอย่างที่สุด สะเทินได้โดยไร้รูปลักษณ์ หากไม่ใช่คนที่ฝึกฝนผลักมืออย่างยาวนาน บนมือย่อมไม่อาจมีความสามารถที่ “มีเพียงเราที่หยั่งรู้เขา” เช่นนี้ได้ นี่ก็คือความหมายของสองคำ “ต่งจิ้น” (การเข้าใจแรง) ที่ในคัมภีร์มวยกล่าวว่า “จากเริ่มคุ้นเคยจึงค่อยกระจ่างต่งจิ้น” นั่นเอง
มีแค่เข้าใจแรงแล้ว การผลักมือถึงจะสามารถเป็นผู้กระทำได้ตลอดเวลา สามารถบรรลุถึงขั้นที่อีกฝ่ายไม่เคลื่อนไหวก็แล้วไป แต่หากเคลื่อนไหวเพียงนิดเดียวก็ถูกฉันยืมแรงแล้ว อยู่ในขอบเขตลึกลับที่มีแต่ถูกฉันควบคุมตลอดเวลา การเข้าใจแรงนั้นไม่มีขอบเขต ฉันเข้าใจแรงแล้ว แต่หากคู่ต่อสู้กงฟูสูงกว่าเธอ เขาก็ยิ่งเข้าใจแรงมากกว่าเธอ เข้าใจได้ละเอียดกว่า แม่นยำกว่า เขาก็กลายเป็นฝ่ายที่สามารถ “มีเพียงฉันหยั่งรู้ผู้อื่น” แล้ว เปรียบเทียบกันแล้ว เธอก็กลายเป็นคนเลอะเลือน อะไรก็ไม่รู้ กลายเป็นเพียงผู้ถูกกระทำแล้ว
การรำมวยไท่จี๋นั้นให้ความสำคัญกับความช้า ความสงบ จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้สามารถมีเวลาอย่างเต็มที่ให้สามารถใช้จิตใจอย่างอดทนไปค้นหากงฟูที่ละเอียดแยบคายนี้ ไปพัฒนาผัสสะสัมผัสอันคล่องแค่ลวแยบคายนี้อย่างไม่ขาดตอน ผัสสะยิ่งคล่องและแยบคาย ระดับการเข้าใจแรงยิ่งสูงล้ำ ความมั่นใจในการเอาชัยยิ่งสูง คัมภีร์มวยกล่าวว่า “จากต่งจิ้น (การเข้าใจแรง) ค่อยบรรลุขั้นเสินหมิง (รู้แจ้ง)” ก็คือความหมายนี้ คนที่คิดว่าเรียนมวยไท่จี๋ต้องมีเร็วช้าผสาน (แบบมวยเฉิน) ส่วนใหญ่เพราะไม่เข้าใจเหตุผลของคำว่าช้าอย่างแท้จริง
หากเร็วแล้ว ก็จะพ่ายแพ้แก่เวลา ความชาญฉลาดก็ใช้ออกมาไม่ได้แล้ว ยิ่งไม่มีทางกระทำกงฟูที่แยบคายละเอียดละออออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักมวยไท่จี๋ได้แก่ ซง, สงบ, กลม, สม่ำเสมอ, บนล่างประสาน, ทุกส่วนทะลวงถึงกัน ต่างๆ ล้วนแต่ต้องอาศัยความเชื่องช้าจึงจะสามารถฝึกฝนออกมาได้ หากไม่ช้า ก็ไม่มีมวยไท่จี๋แล้ว หากเอาแต่ฝึกเร็ว ยังจะเรียกว่ามวยไท่จี๋ ผู้คนก็ไม่เชื่อแล้ว เนื่องจากไม่ผ่านหลักการวิชานั่นเอง
พวกเราบอกว่ามวยไท่จี๋นั้นดีงาม นั่นก็เพราะอยู่บนเงื่อนไขของความช้านี่เอง ทำให้มีมุมมองที่แตกต่างจากมวยทั่วไป เป็นชิ้นงานที่มีแรงดึงดูด (กว่ามวยทั่วไป) มวยไท่จี๋นั้นยากกว่ามวยภายนอก ไม่ง่ายที่จะมีความสำเร็จอันใดในเวลาอันสั้นได้ ก็เพราะว่าต้องฝึกพื้นฐานที่ต้องอาศัยความคิดจินตนาการอย่างมากมาย และทั้งหมดยังเป็นภายในที่เป็นนามธรรม ไม่อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก ดังนั้นคนเดินทางผิดจึงมีมากมายมหาศาล เนื่องจาก (การฝึกภายในของมวยไท่จี๋) นั้นสัมผัสจับต้องได้ยาก ต้องฝึกมากจึงจะได้มาก ต้องอดทนยากลำบากฝึกฝน ต้องมีการถ่ายทอดที่แท้จริง ต้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าใจหยั่งรู้ (ในวิชาได้) จึงจะสามารถหล่อเลี้ยงวิชาให้เบ่งบานเหมือนดอกไม้ได้ จึงจะสามารถมีผลไม้เติบโตออกมาได้ ดังนั้นพอฝึกมวยไท่จี๋จนเกิดผลขึ้นมาสักหน่อย ก็สามารถมีผลให้คนประหลาดใจได้แล้ว ทำให้คนต้องยอมรับนับถือ ช่างเหมือนหงส์ในฝูงไก่ ดูดีงามเป็นพิเศษแล้ว
ฉันรู้จักหลายคนฝึกมวยไท่จี๋แบบ X สไตล์ พวกเค้าให้ความสนใจว่ารำมวยต้องอยู่ในระดับสูงต่ำเดียวกัน พอผลักมือ ก็ไม่สนกงฟูอีกฝ่ายว่าสูงหรือต่ำ ก็ใช้แรงพุ่งเข้าไปชน (ผลัก) ขาหลังก็ผลักไปข้างหน้าใช้แรงขวาง (เหิงลี่) ขนาดใหญ่ ฟาจิ้นของพวกเขา ก็แค่จับเอาอีกฝ่ายไว้แล้วผลักออกไป ล้วนแต่อาศัยแรงเอาเปรียบคน พออีกฝ่ายกงฟูน้อยกว่า ก็สะเทินไม่ออก หนีไม่ได้ แต่ก็รู้ตลอดว่าแรงกำลังมาแล้ว (แค่เอาออกไม่ได้) นี่ก็ชัดเจนมากกว่าผิดกับหลักในคัมภีร์มวยที่ว่า “มีแค่ฉันรู้เขา เขาไม่รู้ฉัน” กลายเป็นว่าคนอื่นรู้เราตลอดเวลา ไม่สนว่ากงฟูอีกฝ่ายจะสูงหรือต่ำ ขอมีแค่พุ่งไปชนไปผลัก นี่ไม่ใช่เอาแต่ความคิดตัวเองเป็นใหญ่จะเรียกว่าอะไรได้อีก?
พวกเราให้ความสำคัญกับการผลักมืออยู่นิ่ง (ไม่ก้าวเท้า) นั่นก็เพราะภายใต้เงื่อนไขของการผลักมืออยู่นิ่งนั้น สามารถทำให้ส่วนเอวนั้นได้รับการพัฒนาเติมเต็มได้มาก ไม่มีทางฉวยโอกาสหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่าจะฝึกชุดมวยหรือผลักมือ การใช้เอวคือข้อจำเป็นที่ต้องมีทั้งสิ้น เพียงแต่เวลาที่เรารำมวยนั้น เป็นตัวเองเคลื่อนไหว เอวจะเคลื่อนไหวมากหรือน้อยก็มีอิสระของมัน แต่เวลาที่ผลักมืออยู่นิ่ง ต้องบวกเพิ่มแรงจากภายนอกเข้ามา หากไม่สามารถใช้เอวไปสะเทินแรงได้ ก็ยากที่จะได้รับผลของการสะเทินแรง (ฮว่าจิ้น) นี่จึงเป็นการบังคับให้เธอต้องใช้เอวไปสะเทินอย่างถูกต้องแล้ว เอวก็จะได้รับการฝึกฝนเพิ่มมากขึ้นอีกหน่อย ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่า การใช้เอวได้หรือไม่ได้นั้นถือเป็นมาตรฐานสำคัญในการแบ่งแยกมวยไท่จี๋ว่าดีหรือแย่ ดังนั้นระดับทักษะของการใช้เอว จึงสามารถใช้ตัดสินระดับทักษะมวยของคนคนหนึ่งได้ว่าสูงหรือต่ำ สำหรับรูปแบบการ (ผลักมือ) ก้าวเท้า ก้านเดิน ต้าหวีล์ ต่างๆ ก็ล้วนแต่ต้องอาศัยการใช้เอวเป็นหลักเช่นกัน แต่ทั้งนี้เนื่องจากเคลื่อนไหวก้าวเท้าแล้ว ระดับการเคลื่อนไหวถูกขายด้วยการก้าวหน้าถอยหลังแล้ว เอวก็เลยได้รับการฝึกน้อยลงหน่อย
คุณลักษณะของการฝึกผลักมือก็คือการฝึกนำหลักการมวยมาใช้ออกในการฝึกฝน คือวิธีที่ดีในการยกระดับคุณภาพ
ข้อผิดพลาดซึ่งมักจะเห็นได้ทั่วไป คือความเร็วในการผลักมือเร็วเกินไป ง่ายที่จะข้ามผ่านรายละเอียด พอเคลื่อนไหวเร็วแล้ว ความคิดก็ตามไม่ทันแล้ว ความฉลาดก็ใช้ไม่ออก ไม่เกิดผลดีต่อการพัฒนาความถูกต้องตามหลักการมวย ไม่ดีต่อการพัฒนาผัสสะสัมผัส ผลที่ได้ก็จะออกมาตรงข้ามกับที่ต้องการแล้ว กลายเป็นว่ามีแต่รูปแบบการผลักมือ แต่ไม่สามารรถบรรลุเป้าหมายของการพัฒนายกระดับทักษะฝีมือได้เลย ก็เหมือนการเรียนเขียนอักษร ไม่ใส่ใจในรายละเอียดโดยไม่ตกหล่นไม่ได้เลย หากความเร็วในการผลักมือเร็วแล้ว ยังสามารถบรรลุถึงการผลักสู้แรงกันโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่มวยไท่จี๋แล้ว
ดังนั้น คุณลักษณะของการฝึกฝนผลักมือ ยังคงเป็นว่าช้าหน่อยจะดี ดีที่สุดคือช้าประมาณความเร็วของการรำมวยปกติ มวยไท่จี๋นั้นคือเน้นฝึกความคิดเป็นหลัก หากเร็วแล้ว ก็ไม่สามารถพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบได้ ในคัมภีร์มวยจึงมีกล่าวว่า “เผิง หลีว์ จี่ อ้าน จะต้องใส่ใจอย่างจริงจัง” หากเร็วแล้ว ก็ไม่สามารถใส่ใจอย่างจริงจังได้แล้ว
แต่สำหรับคุณลักษณะของการผลักมือแข่งขัน สามารถทั้งเร็วและช้า ล้วนแต่ขึ้นกับสถานการณ์ ไม่จำเป็นต้องจำกัดขอบเขตตัวเอง
พวกเรารำชุดมวยทุกวัน ก็เพื่อฝึกฝนทักษะพื้นฐานให้แข็งแกร่ง ก็คือ ซง, สงบ, มั่นคง, สม่ำเสมอ, กลม ต่างๆ ผลักมือก็คือการใช้พื้นฐานเหล่านี้ไปเป็นวิธีในการแข่งขันต่อสู้กัน กล่าวได้ว่า ยิ่งพื้นฐานแข็งแกร่งเท่าไหร่ โอกาสกำชัยก็ยิ่งมาก
แต่เวลาเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ ยังต้องเพิ่มความกล้าหาญและการวิเคราะห์เข้าไป สมองและความคิดต้องมีความสงบ ทักษะพื้นฐานของเธอจึงจะสามารถมีผลออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยม สำหรับคนขี้ขลาด ยังไม่ทันสู้ก็แพ้แล้ว โดยเฉพาะคนที่วันๆ คิดเอาแต่อัตวิสัยของตนเป็นหลัก เรียนมวยชั่วชีวิต ก็ได้แค่ร่างกายแข็งแรง แต่ไม่สามารถเรียนการผลักมือที่ดีได้เลย เนื่องจากการใช้มวยไท่จี๋นั้นมีหลักคือ “อาศัยการเปลี่ยนแปลงของคู่ต่อสู้มาแสดงออกซึ่งความอัศจรรย์” ให้ความสำคัญกับการพิจารณาวิเคราะห์อีกฝ่ายเป็นหลัก มีแค่กวาดล้างสิ้นซึ่งอัตวิสัยเอาแต่ความคิดตัวเองเป็นหลักได้แล้วเท่านั้นจึงจะมองเห็นภาพของมวยไท่จี๋ที่แท้จริงได้ หากเอาแต่คิดเอง (ว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้) ก็จะง่ายที่จะพิจารณาเห็นเพียงด้านเดียว ก็ไม่ใช่มวยไท่จี๋แล้ว มีคนที่เวลาผลักมือ เอาแต่ไปจับกุมมืออีกฝ่ายไว้ (ผลักมือไม่มีจับนะครับ ไม่งั้นจะผลักมือกันทำไม?) รู้จักแค่ดึงกับดัน ก็ไม่มีวิธีอื่นแล้ว การแข่งขันการเปลี่ยนแปลงวิธีมืออันไร้ขอบเขต ก็ถูกความคิดตนเองไปจำกัดไว้เหลือเพียงวิธีมือเพียงอย่างสองอย่าง นี่ล้วนแต่แสดงถึงการจำกัดขอบเขตตัวเอง เป็นตัวอย่างของพวกคิดเองเออเองเอาแต่วิธีตัวเอง (คือไม่เปลี่ยนแปลงคล้อยตามผู้อื่น) หากเป็นอย่างคนพวกนี้ ก็มีแต่ทางพ่ายแพ้แล้ว (หมายถึงฝึกวิชาไม่เจริญ)
หากความคิดไม่เทียบเท่าคนอื่นแสดงว่าคุณภาพของคนต่ำ แม้พื้นฐานฝึกมาอย่างแข็งแกร่งก็ยังถือว่าไร้ประโยชน์ ก็ยังต้องแพ้คนที่พลังพื้นฐานไม่เท่าตนเองอยู่ดี ในความเป็นจริงแล้ว อายุการฝึกมวยยาวหรือสั้น ก็ใช่ว่าจะบอกได้ว่ากงฟูดีหรือแย่เสียทีเดียว ดังนั้นที่เรียกว่า “ครูมวยอาวุโส” คือมีความหมายเชิงเคารพให้เกียรติ แสดงว่าเขาแก่ อายุฝึกมวยนาน แต่ไม่ได้หมายความว่ากงฟูต้องสูง ผู้เยาว์ถ้ายินยอมใช้ความพยายามอย่างจริงจัง ไม่เย่อหยิ่ง รู้จักวิเคราะห์หลักการ คนรุ่นหลังก็จะสามารถชนะคนรุ่นก่อน และมักจะสามารถชนะครูมวยอาวุโสได้
แต่แน่นอนว่าก็ก็ยังมีครูมวยอาวุโสที่ไม่ว่าคนรุ่นเยาว์จะใช้ความพยายามไล่ตามอย่างไร จากต้นจนจบก็ยังไม่สามารถตีเอาชนะได้เช่นกัน
มีคำกล่าวว่า “ลงมือก่อนเป็นต่อ” ประโยคนี้ใช่ว่าจะเป็นจริงเสมอไป การลงมือก่อนคือการยึดเอาอัตตาตนเองเป็นหลัก หากคู่ต่อสู้มีกงฟูสูงกว่าตนเอง นี่ไม่เป็นการหาความยุ่งยากใส่ตนเองหรือ? มวยไท่จี๋นั้นจึงกลับกัน ใช้สงบสยบเคลื่อนไหน สามารถฟาทีหลังบรรลุถึงก่อน นี่เป็นเนื้อหาที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก เนื่องจากปกติทั่วไปแล้วต้องฟาก่อนถึงจะบรรลุถึงก่อนนั่นเอง แต่ทั้งนี้การฟาทีหลังบรรลุถึงก่อนของมวยไท่จี๋นั้นก็ยังแตกต่างกับของมวยภายนอก (ของมวยภายนอกคือใช้ความเร็ว ออกมือทีหลังด้วยความเร็วจึงบรรลุถึงก่อน)
สามารถฟาทีหลังบรรลุถึงก่อนได้นั้น มีเหตุผลดังต่อไปนี้
- ไท่จี๋เฉวียนให้ความสำคัญกับ “เก็บจิ้นไว้ในความโค้งอย่างเหลือเฟือ” ปกติคือต้องเก็บงำรอปลดปล่อย (ฟา) พออี้ถึงก็ฟาออกไปแล้ว ในเวลาไม่ใช้งาน ล้วนแต่เก็บรวมก่อนค่อยฟาจิ้น นี่ทำให้ลดขั้นตอนการเคลื่อนไหวไปหนึ่งขึ้นเมื่อเปรียบกับวิธีอื่นทั่วไป ทำให้ใช้เวลาน้อยลงไปครึ่งหนึ่ง หรือก็คือสามารถเร็วขึ้นถึงหนึ่งเท่านั่นเอง
- ในเวลาฮว่าจิ้น (สะเทินแรง) ตัวเองเหมือนอยู่ในศูนย์กลางวงกลม อีกฝ่ายเหมือนวิ่งผ่านอยู่บนขอบเส้นรอบวง ระยะทางของอีกฝ่ายจึงถูกดึงออกให้ยาวขึ้น ทำให้เสียสมดุลและจิ้นขาดตอนได้ง่าย เราเข้าหาอีกฝ่ายตามเส้นรัศมีวงซึ่งระยะทางสั้นกว่า จึงสมารถฟาได้รวดเร็วและถึงก่อน อาจารย์ (หลี) หย่าเซวียน มักกล่าวว่า “เวลาผลักมืออีกฝ่ายจะส่งมือมาให้เราเอง” ก็คือความหมายนี้
- สามารถฝึกฝนทักษะการซง (ผ่อนคลาย) แล้ว ยังต้องได้อย่างหมดจด ซงได้อย่างสมบูรณ์เต็มที่ ไม่มีที่ติดขัด ความเร็วก็จะเร็วมาก เร็วจนถึงระดับที่ออกมือก็ไม่เห็นมือ
จากประสบการณ์ฟาจิ้น ฟาจิ้นนั้นคือการฝึกฝนแรงหยุ่นและดีดสะท้อน (หร่วนถานลี่) ออกมาจากการรำชุดมวย ฟาจิ้นยาวกับจิ้นสั้นนั้นไม่เหมือนกัน คนส่วนใหญ่คือเรียนฟาจิ้นยาวเป็นก่อน พอกงฟูลึกขึ้น จึงสามารถฟาจิ้นที่สั้น แต่ก็มีคนบางประเภท ในเท้ามีแรงหยุ่นดีดดี ก็อาจจะฟาจิ้นสั้นเป็นก่อน ภายหลังค่อยสามารถฟาจิ้นยาว
เมื่อแรกเรียนผลักมือ ตนเองมักเข้าใจว่าฟาจิ้นเป็น แต่ความจริงส่วนใหญ่มีแค่ใช้ส่วนของมือแขนไปผลักอีกฝ่ายออกไปแค่นั้น บ่อยๆ ยังใช้แรงแข็งบนมือเข้ากระทำอย่างชัดเจน นี่ไม่ใช่การฟาจิ้นของมวยไท่จี๋
ก้าวหน้าอีกขั้น ค่อยฟาจิ้นยาวได้ นี่ก็คือกำลังที่รวมจากทั่วร่าง การฟาจิ้นชนิดนี้ มีแค่กับคู่ต่อสู้ที่กงลี่ (ระดับพลัง) ไม่สูง และยังสะเทินแรงได้ไม่ค่อยเป็น จึงจะมีโอกาสใช้ฟาจิ้นชนิดนี้ออกได้
พอก้าวหน้าไปอีกขั้น ก็จะฟาจิ้นสั้นเป็น มีแค่ร่างจมร่างกาย ก็จะสร้างแรงระเบิดที่กว้างใหญ่ขึ้นมาได้ เมื่อในการแข่งขันต่อสู้ การฟาจิ้นชนิดนี้เกิดผลได้ง่าย สามารถทำให้อีกฝ่ายป้องกันไม่ได้ ทำให้เกิดความตกใจกลัว ง่ายที่มีผลให้ต้องยอมรับทั้งปากและใจ
จากประสบการณ์ส่วนตัวของฉัน ทุกครั้งที่เกิดความคิดอยากตีอีกฝ่ายออกไป ในมือก็จะเกิดแรงแข็งขึ้นมาเองอย่างไม่คาดคิด นี่ทำให้อีกฝ่ายมีโอกาสฟังแรงของเรา อีกฝ่ายรู้แจ้งแล้ว ก็จะรู้ทันป้องกันตัวเอง เราฟาจิ้นไปก็จะไม่เกิดผลที่ดี (คือไม่ค่อยสำเร็จ)
เวลาที่แรงฟังเฉียบไวอย่างแท้จริงนั้น บ่อยๆ มักจะอยู่ในเวลาที่ไม่ตั้งใจ อยู่ในเวลาที่ใส่ใจเอวคว่า บนมือก็จะค้นพบจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามได้อย่างเฉียบไว ในเวลาเสี้ยววินาที ร่างกายจมครั้งหนึ่ง ก็สามารถอาศัยโอกาสฟาจิ้นที่เปราะ-รวดเร็วอย่างสมบูรณ์ที่สุดออกมาได้ ฉันให้ความสำคัญกับคำว่าอาศัยโอกาสอย่างยิ่ง หมายความว่าในเวลาก่อนฟาจิ้น ไม่มีการเอาความคิดตัวเองไปจับ ไปเบียด ไปกดอีกฝ่ายไว้ แล้วก็ใช้แรงไปผลักอีกฝ่ายออก แต่ต้องเป็นกิริยาที่รวดเร็วเฉียบไวปานฟ้าร้องไม่ทันอุดหู อย่างนี้อีกฝ่ายจึงจะอยู่ในสภาพไม่รู้ตัวไม่รู้สึก ตามที่มีหลักกล่าวไว้ว่า “คนอื่นไม่รู้ฉัน มีแค่ฉันรู้ผู้อื่น” อีกฝ่ายไม่มีโอกาสสะเทินแก้ไข ต่อต้าน นี่จึงเป็นเป้าหมายที่พวกเราควรตั้งเป้าแสวงหา
ความ “เฉียบไว” คือผลขั้นสูงซึ่งมาจากความคล่องแคล่ว (เชี่ยวชาญ) แต่อย่างไรก็ตามนี่ยังเกี่ยวกับวิธีคิดด้วย หากมีความคิดอยากเอาชนะ การยึดถืออัตวิสัยและตัวเองเป็นหลักก็ออกมาแล้ว ในมือก็จะมีการกระทำออกมาอย่างแน่นอน ความคิดก็จะหนักหน่วง ก็จะฝ่าฝืนหลักธรรมชาติแล้ว แรงฟังก็จะสูญเสียความคล่องแคล่ว กลับทำให้อีกฝ่ายง่ายที่จะฟังแรงของเราบ่อยๆ คือเริ่มต้นด้วยความคิดอยากเอาชนะ กลับจบลงด้วยความพ่ายแพ้ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าคนที่มีแต่ใจอยากเอาชนะอย่างรุนแรง ไม่สามารถเรียนการผลักมือของมวยไท่จี๋ให้ดีได้
การรำมวยที่ช้า ก็เพื่อที่จะสามารถฟาจิ้นได้เร็ว การรำมวยที่ต้องเบา ก็เพื่อที่จะสามารถฟาจิ้นได้อย่างหนักหน่วง การรำมวยที่ต้องอ่อนหยุ่น ก็เพื่อที่จะสามารถแข็งแกร่งในเวลาฟาจิ้น
ช้าก็คือเร็ว เบาก็คือหนัก อ่อนก็คือแกร่ง นี่ก็คือหลักตรงข้ามของมวยไท่จี๋
ใครบอกว่าช้า เบา อ่อนหยุ่นแล้วจะไม่มีประโยชน์ใช้ไม่ได้?