ประวัติมวยไท่เก๊ก (ไท่จี๋เฉวียน)
- 31/07/2017
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
ที่มาของมวยไท่เก๊กหรือที่ภาษาจีนกลางเรียกว่า “ไท่จี๋เฉวียน” นั้นแบ่งเป็นสองช่วง คือช่วงตำนานยุคเก่า และช่วงประวัติศาสตร์ในยุคใหม่
ตำนานยุคเก่า
ว่ากันว่ามวยไท่เก๊กนั้นกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยราชวงค์เหนือใต้ในราชวงค์เหลียงโดยท่านหานก่งเยว่เมื่อราว 1600 ปีก่อน ไม่มีใครทราบว่าท่านคิดค้นมวยนี้ขึ้นเองหรือว่าเรียนมาจากผู้ใด แต่ท่านได้ถ่ายทอดมวยชนิดนี้ให้แก่ท่านเฉิงหลิงสีแห่งเมืองฮุยโจว ซึ่งท่านเฉิงหลิงสีได้นำมวยชนิดนี้ถ่ายทอดให้แก่เหล่าข้าราชการทั้งบุ๋นบู๊ ทำให้เมืองฮุยโจวมีกำลังเข้มแข็งและรอดพ้นจากภัยของกบฏโหวจิ่งในเวลานั้นได้ ท่านเฉิงหลิงสีถ่ายทอดมวยชนิดนี้ในตระกูลและสืบทอดจนมาเป็นที่รู้จักอีกครั้งในยุคของท่านเฉิงปี่เนื่องจากท่านได้เขียนบันทึกบทความอธิบายเกี่ยวกับวิชามวยไว้ โดยท่านเฉิงปี่เรียกมวยชนิดนี้ว่า “เสี่ยวจิ่วเทียนฝ่า” หรือสวรรค์น้อยทั้งเก้า
ในสมัยราชวงค์ถังยังมีผู้ศึกษาวิชาเต๋าท่านหนึ่งชื่อสวี่เซวียนผิงได้ฝึกฝนมวยที่มีรูปแบบเดียวกับมวยไท่เก๊กเรียกว่า “ซานซื่อชี” หรือสามภพเจ็ด และมีอีกชื่อว่า “ฉางเฉวียน” หรือมวยยาว รูปแบบท่าค้ลายคลึงกับมวยไท่เก๊กในปัจจุบัน แต่การศึกษาจะแยกท่าเป็นท่าเดี่ยวๆแล้วจึงนำท่ามาผสานเพื่อร่ายรำและเคลื่อนไหวต่อเนื่องกันไปอย่างอิสระโดยไม่ได้กำหนดลำดับท่าตายตัว
ในสมัยราชวงค์ถังยังมีนักพรตอีกท่านหนึ่งชื่อ หลี่ เต้าจื่อ พักอาศัยอยู่บนเขาบู๊ตึ้ง ฝึกฝนวิชามวยหนึ่งเรียกว่า “เซียนเทียนเฉวียน” หรือ “วิชามวยก่อนสวรรค์” หลี่ ได้เขียนบทกลอนชื่อว่า “โสวมี่เกอ” หรือ “บทเพลงถ่ายทอดเคล็ดลับ” ซึ่งได้อธิบายความสัมพันธ์ขั้นสูงของ เต๋า (เต้า) ชี่กง และศิลปะการต่อสู้
จากนั้น เซวียนเทียนเฉวียน นี้ ได้ถ่ายทอดสืบต่อมาถึงตระกูลหยีว์ แห่งหนิงกว๋อฝู คนของตระกูลหยีว์นี้ อาทิเช่น หยีว์ชิงฮุ่ย หยีว์ยี่เฉิง หยีว์เหลียนโจว ล้วนแต่มีชื่อในวิชาเซวียนเทียนเฉวียนนี้
จางซานฟงกับมวยไท่เก๊ก
บุคคลสำคัญที่สุดในตำนานความเป็นมาของมวยไท่เก๊กนั้นก็คือท่านนักพรตจางซานฟงแห่งเขาบู๊ตึ้ง (แต้จิ๋ว –เตียซำฮง) ผู้ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ผู้คิดค้นมวยไท่เก๊ก ซึ่งเรื่องนี้ถูกเล่าเป็นสองทาง ทางหนึ่งเล่ากันว่าท่านจางซานฟงคินค้นมวยไท่เก๊กขึ้นมาจากการที่ท่านได้เข้าใจหลักการต่อสู้ด้วยความอ่อนหยุ่นและการประสานหลักหยินหยางหลังจากที่ได้เห็นการต่อสู้ของงูและนกกระเรียน อีกทางหนึ่งเล่าว่าท่านจางซานฟงได้รวบรวมความรู้ของคนรุ่นก่อนที่ตกทอดสืบมามาปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาขึ้นมาจนเป็นระบบมวยสิบสามกระบวนท่าอย่างที่สืบทอดมาถึงในปัจจุบัน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามผู้ฝึกไท่เก๊กทั่วโลกต่างก็ยกย่องให้ท่านจางซานฟงเป็นปรมจารย์มวยไท่เก๊กและถือเอามวยไท่เก๊กเป็นหนึ่งในวิชามวยภายในของบู๊ตึ้ง
ท่านปรมาจารย์จางซานฟง
บู๊ตึ้งเป็นภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋ว จีนกลางอ่านออกเสียงว่าอู่ตัง เป็นภูเขาที่ตั้งอยู่ในมลฑลหูเป่ย เป็นภูเขาที่มีธรรมชาติงดงามมาก ตัวเทือกเขาตั้งเด่นตระการ เต็มไปด้วยยอดเขาใหญ่น้อยถึง 72 ยอด มีถ้ำ น้ำตก หน้าผา ลำธาร ที่สวยงามมากมายหลายแห่ง ในอดีตจึงเป็นที่นิยมมาบำเพ็ญพรตของเหล่านักพรตในลัทธิเต๋า จนได้มีการสร้างอารามบำเพ็ญพรตขึ้นจนกลายเป็นที่มาของสำนักบู๊ตึ้งในกาลต่อมา และปรมาจารย์วิชามวยแห่งสำนักบู๊ตึ้งที่ได้รับการยอมรับที่สุดก็คือจางซานฟง
ประวัติของจางซานฟงนั้นไม่ค่อยเป็นที่ชัดเจนนัก มีการอ้างถึงจางซานฟงสองคนในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน หนึ่งคือเป็นคนในสมัยราชวงค์หมิง อีกหนึ่งคือคนในปลายสมัยราชวงค์ซ่งถึงราชวงค์หยวน แต่อย่างไรก็ตามจากการค้นคว้าในปัจจุบัน เชื่อกันว่าท่านจางซานฟงเกิดเมื่อปี พ.ศ. 1790 ในสมัยปลายราชวงค์ซ้อง ที่เมืองอี้โจว มีชื่อเดิมคือจวินเป่า ส่วนซานฟงคือสมญานามทางพรตในภายหลัง
ว่ากันว่าท่านจางซานฟงนั้นมีความเฉลียวฉลาดและความจำดีเลิศ ในวัยหนุ่มเคยผ่านการสอบเข้ารับราชการในสมัยราชวงค์หยวน ต่อมาเกิดความเบื่อหน่ายจึงออกจากราชการมาบำเพ็ญพรต โดยท่านจางนั้นมักจะเดินทางโดยไม่สนใจภาพลักษณ์และความสะดวกสบาย ท่านมักจะสวมเสื้อคลุมยาวและหมวกฟางโดยไม่เคยเปลี่ยน ผู้คนจึงมักเรียกท่านว่า จางล่าต้า หมายถึงคนสกปรกแซ่จาง ท่านได้เดินทางเที่ยวไปทุกสารทิศเพื่อเยือนอารามพรตและร่ำเรียนวิชาหาความรู้ จนเมื่อท่านได้เดินทางถึงเขาจงหนานจึงได้พบกับนักพรตมังกรไฟ (ฮั่วหลงเจินเหริน) ได้ร่ำเรียนสรรพวิชาตามหลักปรัชญาของลัทธิเต๋าจนบรรลุ จึงได้เดินทางไปบำเพ็ญต่อด้วยตนเองในอารามบนเขาบู๊ตึ้ง และกลายเป็นสำนักบู๊ตึ้งอันลือลั่นในกาลต่อมา
ท่านปรมาจารย์จางซานฟงขณะมองดูการต่อสู้ของนกกะเรียนกับงู
มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับท่านจางซานฟงอยู่มากมาย แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือเรื่องที่ท่านจางได้พบเห็นนกกระเรียนสู้กับงู ทำให้ท่านจางได้ขบคิดและเข้าใจถึงปรัชญาการต่อสู้ที่ต่อมาได้กลายเป็นตัวแทนหลักของแนวคิดวิทยายุทธ์ของจีน ซึ่งใช้อ่อนสยบแข็ง ใช้แรงน้อยสยบแรงมาก ใช้ความสงบสยบความเคลื่อนไหว ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบของวิชาการต่อสู้ของบู๊ตึ้งในเวลาต่อมา นั่นก็คือมวยไท่จี๋เฉวียนหรือที่รู้จักกันในชื่อสำเนียงแต้จิ๋วว่ามวยไท่เก๊กนั่นเอง
ท่านจางซานฟงนั้นมีศิษย์มากมาย ที่โดดเด่นนั้นมีด้วยกันเจ็ดคนได้แก่ ซ่งหย่วนเฉียว (ซ่งเอี๋ยงเกี๊ย), อวี๋เหลียนโจว (หยู่เหน่ยจิว), อวี๋ไต้เอี๋ยน (หยู่ไต่ง้ำ), จางสงซี (เตียส่งโคย) ,จางชุ่ยซาน (เตียชุ่ยซัว), อินลี่ถิง (ฮึงหลีเต๊ง), และมั่วกู่เซิง (หมกกกเซีย) ซึ่งกิมย้งได้นำมาผูกเรื่องอย่างโดดเด่นในนิยายเรื่อง “ดาบมังกรหยก” หรือมังกรหยกภาคสาม ในบทบาทของเจ็ดจอมยุทธ์บู๊ตึ้ง โดยตัวเอกของเรื่องคือจางอู๋จี้ (เตียบ่อกี้) นั้นเป็นบุตรชายของศิษย์ลำดับที่ห้าของบู๊ตึ้งหรือจอมยุทธ์ห้าจางชุ่ยซาน (เตียชุ่ยซัว)
ในศิษย์เอกเจ็ดคนของท่านจางซานฟงนั้น ศิษย์คนโตคือท่านซ่งหย่วนเฉียว ซึ่งท่านซ่งหย่วนเฉียวได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับมวยไท่เก๊กที่สืบทอดมาจนถึงลูกหลานในปัจจุบัน ส่วนศิษย์อีกคนชื่อจางสงซี (เตียส่งโคย) มีพลังฝีมือลึกล้ำกว่าผู้ใด ว่ากันว่าในวัยชรายังสามารถใช้สันมือตีหินหนักนับร้อยชั่งซึ่งวางซ้อนกันอยู่สามก้อนให้แตกเป็นสองซีกได้ และมักใช้วิชาฝีมือที่มีปราบปรามเหล่าผู้ร้าย ท่านจางสงซีมีศิษย์ที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงหลายคน และวิชามวยไท่เก๊กนี้ก็ได้รับการสืบทอดมาจนถึงท่านหวังจงเยว่
ท่านหวังจงเยว่เป็นคนในปลายราชวงค์หมิง สืบสายวิชามวยไท่เก๊กจากท่านจางซานฟง แต่ไม่ทราบว่าเรียนจากผู้ใดและเป็นศิษย์รุ่นที่เท่าไหร่ว่ากันว่าท่านหวังจงเยว่ผู้นี้แตกฉานในวิชามวยไท่เก๊กและได้เขียนบทบันทึกหลักสำคัญในการฝึกมวยไท่เก๊กไว้ซึ่งตกทอดมาจนถึงปัจจุบันเช่นวิพากษ์มวยไท่เก๊ก อธิบายการเดินพลัง บทเพลง 13 ท่าเป็นต้น ศิษย์ของท่านหวังจงเยว่นั้นแบ่งออกเป็นสองฝ่ายคือฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ตามภูมิภาคที่ท่านได้ไปถ่ายทอดวิชาไว้ ฝ่ายเหนือนั้นว่ากันว่าสืบทอดมาถึงท่านเจียงฟาในสมัยรัชกาลคังซีแห่งราชวงค์ชิง
ยุคประวัติศาสตร์ไท่เก๊ก 5 ตระกูล
ประวัติความเป็นมาของมวยไท่เก๊กนั้นหากนับอย่างแท้จริงแล้วจะพบว่ามีที่มาที่หลากหลายและยังขาดความชัดเจนอยู่มาก แต่อย่างไรก็ดีหากสืบสาวประวัติมวยไท่เก๊กย้อนจากปัจจุบันกลับไปแล้วจะพบว่ามวยไท่เก๊กนี้มีที่มาที่ชัดเจนจากคนผู้หนึ่ง นั่นคือท่านเฉินฉางซิงแห่งหมู่บ้านตระกูลเฉิน
ท่านเฉินฉางซิงกับไท่เก๊กตระกูลเฉิน
ท่านเฉินฉางซิงเป็นทายาทรุ่นที่ 14 ของหมู่บ้านตระกูลเฉิน ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเวิน มลฑลเหอหนาน ท่านเป็นครูมวยไท่เก๊กที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเป็นจุดเชื่อมระหว่างมวยไท่เก๊กในยุคตำนานเล่าขานกับมวยไท่เก๊กในยุคปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากมวยไท่เก๊กก่อนสมัยท่านเฉินฉางซิงนั้นเป็นลักษณะของตำนานบอกเล่า ซึ่งนั่นทำให้ที่มาของมวยไท่เก๊กของท่านเฉินฉางซิงนั้นกลับไม่ชัดเจนนัก ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีตำนานของที่มาของมวยไท่เก๊กนี้เป็นสองทางใหญ่ๆ
ท่านเฉินฉางซิง
ตำนานแรก คือมวยไท่เก๊กนี้ถูกคิดค้นขึ้นในตระกูลเฉินนี้เอง โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดกับตำนานของมวยไท่เก๊กที่เคยมีมาก่อนนี้แต่อย่างใด โดยท่านเฉินหวังถิงซึ่งเป็นแม่ทัพสมัยราชวงค์หมิงเป็นผู้คิดค้นมวยไท่เก๊กนี้ขึ้น และถ่ายทอดให้ลูกหลานสืบทอดต่อมาในตระกูลจนถึงรุ่นของท่านเฉินฉางซิง ตำนานนี้ถูกยึดถือและเผยแพร่โดยลูกหลานตระกูลเฉินในปัจจุบัน
ตำนานที่สอง คือตำนานที่ได้รับบอกเล่าภายนอกตระกูลเฉิน โดยเล่าขานว่าแท้จริงแล้วมวยไท่เก๊กนี้ถูกถ่ายทอดผ่านสายวิชาของท่านหวังจงเยว่จนถึงท่านเจียงฟา และครั้งหนึ่งท่านเจียงฟาได้เดินทางผ่านหมู่บ้านตระกูลเฉิน ได้พบเห็นท่านเฉินฉางซิงสอนมวยเผ้าฉุยซึ่งเป็นมวยที่ถ่ายทอดภายในตระกูลเฉินอยู่ ท่านเจียงฟาเห็นมวยที่ท่านเฉินฉางซิงสอนอยู่นั้นช่างแข็งกระด้างยิ่งนักจึงส่งเสียงหัวเราะออกมา ท่านเจียงฟารู้ว่าไม่สมควรจึงรีบเดินจากไป แต่ท่านเฉินฉางซิงได้ยินเสียงหัวเราะนั้นจึงรีบตามมาพร้อมยื่นมือคว้าจับไปที่หัวไหล่ท่านเจียงฟาไว้ แต่พอท่านเจียงฟาหันกลับมาเท่านั้นท่านเฉินฉางซิงก็ถูกเหวี่ยงออกไปไกลกว่าวาจนล้มลง ท่านเฉินฉางซิงจึงรู้ว่าได้พบอาจารย์ที่แท้จริงเข้าแล้วจึงรีบเข้าไปกราบท่านเจียงฟาเป็นอาจารย์เพื่อสอนมวยให้ตน และโดยการถ่ายทอดของท่านเจียงฟา มวยไท่เก๊กจึงได้เข้าสู่ตระกูลเฉินนับแต่นั้น และท่านเฉินฉางซิงได้กลายเป็นครูมวยไท่เก๊กในที่สุด
ในปัจจุบันเราไม่อาจทราบแน่ชัดได้ว่าแท้จริงแล้วตำนานไหนเป็นเรื่องจริงเนื่องจากเรื่องนี้ผ่านกาลเวลามานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็เป็นที่ยอมรับกันว่ามวยไท่เก๊กในปัจจุบันนั้นมาจากท่านเฉินฉางซิงซึ่งได้ถ่ายทอดมวยไท่เก๊กให้แก่ศิษย์เอกหยางลู่ฉาน และมวยไท่เก๊กสี่ตระกูลในปัจจุบันต่างก็ยังยอมรับในหลักวิชาในคัมภีร์โบราณซึ่งเขียนโดยท่านปรมาจารย์จางซานฟงและหวังจงเยว่ด้วย
มวยไท่เก๊กตระกูลหยาง
ความแพร่หลายและได้รับการยอมรับในวงกว้างของมวยไท่เก๊กในปัจจุบันนั้นต่างล้วนมาจากยอดยุทธ์ผู้หนึ่งซึ่งเป็นปรมาจารย์มวยไท่เก๊กตระกูลหยาง ซึ่งก็คือท่านปรมาจารย์หยางลู่ฉานผู้ซึ่งเป็นศิษย์เอกของท่านเฉินฉางซิง
ท่านปรมาจารย์หยางลู่ฉาน
ท่านหยางลู่ฉาน เป็นชาวอำเภอหย่งเหนียน มลฑลเหอเป่ย มีความรักในศิลปะการต่อสู้ เคยฝึกมวยภายนอกมาก่อน ครั้งหนึ่งได้พบเห็นมวยไท่เก๊กจึงมีความปราถนาอยากเรียนวิชานี้เป็นอย่างมาก จึงได้เดินทางไปยังหมู่บ้านตระกูลเฉินเพื่อเรียนมวยจากท่านเฉินฉางซิง แต่ท่านเฉินฉางซิงได้ปฏิเสธโดยอ้างกฏการสอนมวยในตระกูลเท่านั้น ทำให้ท่านหยางลู่ฉานต้องแอบดูท่านเฉินฉางซิงสอนมวยในยามค่ำคืนเพื่อแอบเรียนวิชาจนมีวิชาฝีมือ เมื่อถูกท่านเฉินฉางซิงพบเห็นว่าแอบเรียนวิชาท่านเฉินฉางซิงจึงค่อยเห็นแก่ความพากเพียรของท่านหยางลู่ฉานจึงได้รับท่านหยางลู่ฉานเป็นศิษย์นอกตระกูลเป็นครั้งแรก
ท่านหยางลู่ฉานพากเพียรเรียนมวยไท่เก๊กอยู่ถึง 13 ปี จึงได้เดินทางกลับหย่งเหนียน หลังจากผ่านการประลองหลายครั้งท่านก็มีชื่อเสียงโด่งดังและมีผู้มาขอเรียนมวยมากมาย จนวันหนึ่งมีหลวงจีนเส้าหลินรูปหนึ่งมาขอประลองยามประลองนั้นท่านหยางลู่ฉานออกหมัดถูกเข้าที่หน้าอกของหลวงจีนอย่างจัง จนหลวงจีนบาดเจ็บสาหัส เจ็บป่วยอยู่ไม่นานก็ถึงแก่ความตาย แต่ญาติมิตรของหลวงจีนรูปนั้นกลับมีมากและต่างหมายแก้แค้นคืนให้ได้ ท่านหยางลู่ฉานจึงตัดสินใจหลบหลีกเรื่องนี้โดยเดินทางเข้านครหลวงปักกิ่ง
เมื่อถึงนครปักกิ่ง ท่านหยางลู่ฉานได้เป็นครูสอนมวยอยู่ในบ้านเศรษฐีจางซึ่งเป็นตระกูลร่ำรวยมีโรงงานและกิจการผลิตซีอิ๊วและเต้าเจี้ยวที่มีชื่อเสียงมาก ทั้งยังเป็นที่จัดของเสวยประเภทซีอิ๊วเต้าเจี้ยวให้แก่ราชสำนัก เศรษฐีจางนั้นชื่นชอบในวิทยายุทธ์จึงประทับใจในฝีมือท่านหยางเป็นอย่างยิ่ง แต่วันหนึ่งมีชายแปลกหน้ามาขอพบท่านหยางซึ่งยังความประหลาดใจแก่ท่านหยางอย่างมาก เมื่อท่านหยางออกไปพบ ชายแปลกหน้าผู้นั้นก็ลงมือจู่โจมท่านหยางทันที แต่ท่านหยางมีปฏิกิริยาฉับไวสามารถสะเทินการโจมตีนั้นได้และตีโต้กลับไปได้ ท่านหยางพบว่าผู้ที่มาคือมิตรสหายของหลวงจีนรูปนั้นที่ตั้งใจมาแก้แค้น ท่านหยางเกรงว่าตนจะนำความเดือดร้อนมาสู่ตระกูลจางจึงบอกกล่าวแก่เศรษฐีจางเพื่อขอจากไป แต่เศรษฐีจางบอกว่าท่านหยางนั้นมีฝีมือล้ำเลิศไม่ควรเอาแต่หลบซ่อนเช่นนี้ จึงได้แนะนำท่านหยางให้แก่เชื้อพระวงค์ในตำแหน่งตวนอ๋องท่านหนึ่งชื่อไจ้อี เพื่อให้ท่านหยางเข้าไปสอนมวยในวังตวนอ๋อง
เมื่อตวนอ๋องได้พบกับท่านหยางลู่ฉาน ตวนอ๋องก็ได้ประจักษ์ในความล้ำเลิศของฝีมือท่านหยางลู่ฉาน เวลานั้นในนครหลวงปักกิ่งไม่มีผู้ใดรู้จักวิชามวยไท่เก๊กนี้จึงต่างประหลาดใจในวิชาฝีมือที่ดูนิ่มนวลและประสานแข็งอ่อนได้อย่างกลมกลืนเช่นนี้ องครักษณ์ของตวนอ๋องและยอดฝีมือมากมายจึงต่างมาขอท้าประลองกับท่านหยาง แต่ท่านหยางก็สามารถเอาชนะทุกคนที่มาขอท้าประลองได้จนได้รับฉายาว่า “หยางผู้ไร้เทียมทาน” และท่านหยางก็ได้เป็นหัวหน้าครูฝึกองครักษ์อยู่ภายในวังตวนอ๋อง และด้วยเหตุนี้มวยไท่เก๊กจึงได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดวิชามวยอันสูงล้ำและได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในนครปักกิ่ง
ท่านอาจารย์หยางปานโหวและหยางเจี้ยนโหว
ท่านหยางลู่ฉานมีบุตรชายผู้สืบทอดมวยไท่เก๊กสองคน คนพี่ชื่อหยางปานโหวได้รับสืบทอดวิชาจากท่านหยางลู่ฉานอย่างครบถ้วน และไม่เคยแพ้ใครในการประลองเช่นเดียวกับบิดา โดดเด่นด้วยมวยไท่เก๊กแบบวงแคบซึ่งเน้นที่การเก็บและปล่อยพลังแบบฉับพลัน อีกคนคือผู้น้องชื่อหยางเจี้ยนโหวผู้ซึ่งมีนิสัยอ่อนโยนกว่าผู้พี่ การเคลื่อนไหวเน้นแบบวงกลางและวงกว้างซึ่งเน้นที่พลังที่นุ่มนวลกว่าแบบวงแคบของท่านหยางปานโหว และด้วยนิสัยที่อ่อนโยนของท่านหยางเจี้ยนโหวจึงทำให้ท่านมีศิษย์มากและถ่ายทอดมวยไท่เก๊กได้อย่างกว้างขวาง
ท่านอาจารย์หยางเส้าโหวและหยางเฉิงฝู่
ผู้สืบทอดมวยไท่เก๊กตระกูลหยางรุ่นต่อมาล้วนแต่เป็นบุตรของท่านหยางเจี้ยนโหว คนพี่ชื่อหยางเส้าโหวผู้ได้รับสืบทอดวิชาจากลุงหยางปานโหว มีวิชาฝีมือแกร่งกร้าวรุนแรงจึงมีศิษย์น้อยเนื่องจากผู้คนเกรงกลัวการตีของท่าน ท่านหยางเส้าโหวเน้นการเคลื่อนไหวแบบวงแคบเช่นเดียวกับผู้เป็นลุง ท่านมีพลังฉุดตามแรงของคู่ต่อสู้ที่เรียกว่าแรงหลีว์อันโดดเด่น จนได้รับฉายาว่า “เฟยหลีว์” ซึ่งหมายความถึงคู่ต่อสู้ของท่านนั้นล้วนแต่ถูกทำให้ลอยราวกับบินออกไปด้วยแรงหลีว์ของท่าน อีกคนคือผู้น้องชื่อว่าหยางเฉิงฝู่ผู้ถือได้ว่าเป็นปรมาจารย์ของมวยไท่เก๊กตระกูลหยางแบบที่แพร่หลายในปัจจุบัน ในวัยเด็กนั้นท่านไม่ชอบฝึกวิทยายุทธ์แต่ในภายหลังได้เห็นซึ้งถึงคุณประโยชน์ของวิชาจึงได้ตั้งใจขยันหมั่นฝึกจนบรรลุฝีมือได้ถึงขั้นสูงเช่นเดียวกับบิดา และท่านหยางเฉิงฝู่เป็นผู้ปรับปรุงมวยไท่เก๊กตระกูลหยางแบบวงกว้างให้สามารถถ่ายทอดได้ในสังคมวงกว้าง ท่านหยางเฉิงฝู่ได้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อเผยแพร่มวยไท่เก๊กตลอดชีวิตของท่านนอกจากนี้ท่านหยางเฉิงฝู่ยังมีนิสัยอ่อนโยนเช่นเดียวกับบิดาและเป็นอาจารย์มวยที่ดีจึงทำให้ท่านมีศิษย์มากมายและมีศิษย์ที่เด่นล้ำหลายคนซึ่งมีส่วนทำให้มวยไท่เก๊กแพร่หลายอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ไท่เก๊กตระกูลอู่และตระกูลซุน
ที่อำเภอหย่งเหนียนนั้นมีผู้หนึ่งซึ่งได้เรียนมวยจากท่านหยางลู่ฉานชื่ออู่อวี๋เซี่ยง ในบ้านตระกูลอู่นี้ล้วนแต่เป็นผู้มีการศึกษาดีและมีตำแหน่งฐานะ ทั้งยังมีกิจการห้างร้านขนาดใหญ่ในอำเภอหย่งเหนียน ท่านอู่อวี๋เซี่ยงเองเป็นครูสอนหนังสือส่วนพี่ชายท่านนั้นเป็นนายอำเภอที่อำเภออู่หยาง
ปรมาจารย์อู่อวี๋เซี่ยง
ท่านอู่อวี๋เซี่ยงแม้เป็นครูสอนหนังสือแต่ก็มีความรักและชอบศึกษาค้นคว้าในวิทยายุทธ์ เมื่อทราบว่าท่านหยางลู่ฉานได้เรียนวิชามวยอันล้ำเลิศมาก็ปราถนาร่ำเรียนฝึกฝน แต่เมื่อเรียนมวยไท่เก๊กกับท่านหยางลู่ฉานระยะหนึ่งแล้วกลับไม่อาจเข้าถึงความล้ำลึก ภายหลังเมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมพี่ชายจึงตั้งใจไปเยือนหมู่บ้านตระกูลเฉินเพื่อขอเรียนวิชาจากท่านเฉินฉางซิง แต่ในเวลานั้นท่านเฉินฉางซิงป่วยด้วยโรคชราไม่อาจสอนวิชามวยได้ แต่ท่านอู่อวี๋เซี่ยงได้ยินว่าที่หมู่บ้านเจ้าเป่าซึ่งอยู่ใกล้กันนั้นมียอดยุทธ์ท่านหนึ่งชื่อเฉินชิงผิง (แซ่เฉินเหมือนกับคนในหมู่บ้านตระกูลเฉินแต่อยู่คนละหมู่บ้านกัน) จึงได้แวะเข้าหมู่บ้านเจ้าเป่าเพื่อขอเรียนวิชา ศึกษาอยู่เดือนเศษจึงได้จากไป ภายหลังได้ค้นพบตำราหลักมวยไท่เก๊กของท่านหวังจงเยว่จึงศึกษาด้วยตนเองแล้วก่อตั้งมวยไท่เก๊กตระกูลอู่ของตนขึ้น และเนื่องจากท่านอู่อวี๋เซี่ยงมีความรู้หนังสือดี จึงมีบทความข้อเขียนที่ได้รับการยอมรับและใช้เป็นหลักมวยไท่เก๊กควบคู่กับหลักมวยไท่เก๊กของท่านหวังจงเยว่มาถึงปัจจุบัน
ท่านปรมาจารย์ซุนลู่ถัง
ท่านอู่อวี๋เซี่ยงมีศิษย์น้อย เพียงถ่ายทอดให้หลานชายซึ่งเป็นลูกชายของน้องสาวท่านผู้เดียวเท่านั้น ทำให้มวยไท่เก๊กตระกูลอู่ถูกถ่ายทอดไปยังแซ่อื่น และภายหลังมวยนี้สืบทอดถึงท่านเฮ่อเว่ยเจิน ครั้งหนึ่งท่านเฮ่อเว่ยเจินเดินทางเข้าปักกิ่งได้เกิดล้มป่วย แต่ได้จอมยุทธ์ชื่อดังในปักกิ่งนามซุนลู่ถังซึ่งเชี่ยวชาญมวยสิ่งอี้กับฝ่ามือปากว้าช่วยเหลือรักษา ท่านเฮ่อเว่ยเจินจึงสอนมวยไท่เก๊กตระกูลอู่ให้เป็นการตอบแทน ต่อมาภายหลังท่านซุนลู่ถังได้ปรับปรุงมวยไท่เก๊กโดยผสานกับหลักวิชามวยสิ่งอี้และฝ่ามือปากว้าที่เคยร่ำเรียนมาก่อน จนกลายเป็นมวยไท่เก๊กตระกูลซุนขึ้น
ไท่เก๊กตระกูลอู๋
เมื่อครั้งท่านหยางลู่ฉานเป็นครูฝึกสอนองครักษ์ในค่ายเสินจี้นั้น มีศิษย์สามคนที่มีฝีมือโดดเด่นและหนึ่งในนั้นมีชื่อว่าเฉวียนโหย่วผู้ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการสะเทินแรงเป็นอย่างยิ่ง
ท่านเฉวียนโหย่วเป็นชาวแมนจู ชื่นชอบในวิทยายุทธ์มาตั้งแต่ครั้งเยาว์วัยและได้เข้าเป็นทหารองครักษณ์ของวังตวนอ๋อง จึงทำให้มีโอกาสได้เรียนมวยไท่เก๊กเมื่อครั้งท่านหยางลู่ฉานเข้ามาเป็นครูฝึกสอนองครักษณ์ของวังตวนอ๋อง แต่อย่างไรก็ตามเนื่องด้วยตวนอ๋องผู้เป็นนายเองก็เรียนมวยกับท่านหยางลู่ฉานด้วยดังนั้นหากเหล่าองครักษ์กราบอาจารย์ร่วมกับตวนอ๋องและกลายเป็นศิษย์พี่น้องกับตวนอ๋องย่อมเป็นการไม่เหมาะ ดังนั้นท่านหยางลู่ฉานจึงให้เหล่าองครักษ์รวมถึงท่านเฉวียนโหย่วกราบท่านหยางปันโหวผู้เป็นบุตรชายแทน ดังนั้นแม้ว่าท่านเฉวียนโหย่วจะได้ชื่อว่าเป็นศิษย์ท่านหยางปันโหวแต่แท้จริงแล้วยังได้ศึกษาร่ำเรียนกับท่านหยางลู่ฉานโดยตรงเป็นหลัก
ท่านปรมาจารย์อู๋เจี้ยนเฉวียน
หลังจากราชวงค์ชิงล่มสลาย ท่านเฉวียนโหย่วจึงได้ตั้งแซ่ (สกุล) ขึ้นใช้เช่นเดียวกับชาวจีนโดยตระกูลของท่านเฉวียนโหย่วได้ใช้แซ่อู๋ และมวยไท่เก๊กของท่านเฉวียนโหย่วก็ได้ถ่ายทอดให้กับศิษย์และลูกชายของท่านคือท่านอู๋เจี้ยนเฉวียน โดยการศึกษาและพัฒนาอย่างต่อเนื่องทำให้มวยไท่เก๊กของท่านอู๋เฉวียนโหย่วและท่านอู๋เจี้ยนเฉวียนบุตรชายเริ่มมีเอกลักษณ์ของตนจนเป็นที่รู้จักและยอมรับเป็นไท่จี๋ตระกูลอู๋ในที่สุด
รูปมวยของตระกูลอู๋นั้นยังรักษาการเคลื่อนไหวแบบวงแคบอยู่ทำให้ท่ามวยมีความกระชับและรัดกุม และตระกูลอู๋นั้นนับว่าเป็นตระกูลที่มีความใกล้ชิดกับตระกูลหยางอย่างที่สุด ต่างก็ร่วมกันเผยแพร่มวยไท่เก๊กสู่วงกว้าง ทำให้มวยไท่เก๊กตระกูลอู๋ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างกว้างขวาง