หลักการและจุดเด่นของมวยไท่เก๊ก
- 11/08/2019
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
มวยไท่เก๊กนั้นกล่าวได้ว่าคือตัวแทนหลักของมวยภายในของจีน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยกย่องว่าเหนือกว่ามวยใดๆ ของจีนทั้งหมด เป็นภาพลักษณ์และตัวแทนอันแสดงออกถึงจิตวิญญาณของศิลปะการต่อสู้จีนคือใช้อ่อนชนะแข็งซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาที่แท้ของจีนคือปรัชญาเต๋าและอี้จิง
คำว่าไท่เก๊กหรือไท่จี๋ในภาษาจีนกลางนั้น แปลว่า “ที่สุดอย่างยิ่ง” ซึ่งกำเนิดมาจากอู๋จี๋ (บ่เก๊ก) หรือภาวะสุญตา ในคัมภีร์อี้จิงกล่าวว่า “ในการเปลี่ยนแปลงมีไท่เก๊ก ซึ่งกำเนิดสองขั้ว สองขั้วกำเนิดสี่ลักษณ์” ซึ่งคัมภีร์อี้จิงนี้คือคัมภีร์หลักที่อธิบายถึงปรัชญาแห่งการเปลี่ยนแปลงของหยินและหยาง เป็นปรัชญาจีนที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งไท่เก๊กนั้นหมายถึงภาวะก่อนที่ฟ้าและดินจะแยกออกจากกัน เป็นภาวะหนึ่งเดียวของหยินและหยางที่ยังไม่แบ่งแยก ซึ่งไท่เก๊กสามารถก่อเกิดสองขั้วคือขั้วหยินและขั้วหยางซึ่งก็คือฟ้าและดิน ดังนั้นหยินและหยางก็คือภาวะคู่ตรงข้ามที่มาจากไท่เก๊กและไท่เก๊กคือต้นกำเนิดแห่งการเปลี่ยนแปลงของหยินและหยาง
หยินและหยางคือภาวะขั้วตรงข้ามที่พื้นฐานที่สุด พลังงานของสองขั้วนี้ได้สร้างสรรค์ลักษณะที่ตรงกันข้ามขึ้น โดยหยางเป็นพลังด้านบวก เช่น ชีวิต สว่าง เคลื่อนไหว ผู้ชาย พระอาทิตย์ ร้อน เป็นต้น ส่วนหยินจะตรงข้ามคือเป็นพลังด้านลบ เช่น ตาย มืด นิ่ง ผู้หญิง พระจันทร์ หนาว เป็นต้น หยินและหยางนี้แม้จะเป็นสิ่งตรงข้ามแต่ทั้งสองขั้วยังต้องอาศัยขั้วตรงข้ามในการคงอยู่ หยินคงอยู่ได้เพราะอยางและหยางคงอยู่ได้เพราะหยิน เหมือนแสงกับเงาที่ต้องอยู่คู่กัน และการผสานเสริมกันของหยินหยางนี้เองที่รังสรรค์สรรพสิ่งในจักวาลขึ้นมา
มวยไท่เก๊กนั้นก็คือศิลปะการต่อสู้ของจีนที่อิงอยู่บนหลักของไท่เก๊กนี้ เป็นการผสานกันอย่างสอดคล้องของพลังแกร่งและอ่อนหยุ่น การแปรเปลี่ยนของเต็มและว่าง การเปลี่ยนแปลงของเคลื่อนและนิ่ง เมื่อหยางที่สุดจะเกิดหยินและเมื่อหยินที่สุดจะเกิดหยางทำให้การเคลื่อนไหวมีความต่อเนื่องไม่มีสิ้นสุดขาดตอน ก่อเกิดเป็นมวยอันมีเอกลักษณ์โดดเด่นขึ้นมา
มวยทั่วไปเน้นที่หยางคือภายนอกแต่ละหยินหรือภายใน แต่มวยไทเก๊กกลับเน้นตรงกันข้ามเพื่อให้เกิดความสมดุล ทำให้ภายนอกดูนุ่มนวลเน้นที่การสะเทินแรงฝ่ายตรงข้าม แต่ในขณะเดียวกันกลับเน้นพลังหยางภายในให้แกร่งกล้า ทำให้มวยไท่เก๊กได้ชื่อว่าเป็นมวยสำลีหุ้มเหล็ก มวยทั่วไปเน้นที่หยางภายนอกคือการเคลื่อนไหวที่รวดเร็วแต่มวยไท่เก๊กกลับเน้นที่ความสงบ แต่แม้สงบกลับไม่หยุดนิ่งทั้งยังเคลื่อนไหวต่อเนื่องไม่ขาดตอนทำให้การเคลื่อนไหวเกิดความสมดุล แต่ความสมดุลระหว่างนิ่งและเคลื่อนนี้ทำให้มวยไท่เก๊กดูเคลื่อนไหวเชื่องช้าอย่างยิ่ง
ด้วยการสร้างสมดุลของหยินหยางนี้ทำให้มวยไท่เก๊กกลายเป็นมวยที่แตกต่างกับแนวคิดของศิลปะการต่อสู้หรือวิทยายุทธ์ที่เคยมีมา คือใช้น้อยชนะมาก ใช้สงบสยบเคลื่อนไหว ใช้ความนุ่มนวลสยบความแข็งกร้าว ใช้พลังภายในขับเคลื่อนภายนอก แม้ในวิทยายุทธ์จีนจะมีอยู่บ้างที่เน้นการสะเทินแรง ใช้แรงน้อยต้านมาก ใช้สี่ตำลึงปัดพันชั่ง อย่างเช่นมวยไท่เก๊ก แต่อย่างไรก็ตามจะหามวยชนิดใดที่มีความโดดเด่นในแง่นี้อย่างลึกล้ำสมบูรณ์ได้เท่ากับมวยไท่เก๊กนั้นนับว่ายังไม่เคยมีมา ดังนั้นมวยไท่เก๊กจึงเป็นมวยที่มีความโดดเด่นด้านความสมดุลของหยินหยางอย่างสมบูรณ์สมกับชื่อไท่เก๊กยิ่งนัก
ในแง่ของการต่อสู้ป้องกันตัว กลยุทธ์ของมวยไท่เก๊กนั้นเน้นที่การเกาะติดควบคุมเพื่อฟังแรง อาศัยการฟังและการเข้าใจแรงมาตัดสินแล้วจึงอาศัยแรงน้อยเข้าสยบพัวพันแรงมาก กลยุทธ์นี้แบ่งเป็นสี่คำคือ แนบ (จัน), ติด (เหนียน), เชื่อม (เหลียน), ติดตาม (สุย) และหนึ่งหลักกำกับคือ ไม่ทิ้งห่างและไม่ค้ำต้าน (ปู้ติวปู้ติ่ง) จากการเกาะติดฟังแรงจึงนำมาซึ่งสี่การใช้งาน ได้แก่ การสะเทินแรง (ฮว่า), การควบคุมแรงอีกฝ่าย (หนา), การตี (ต่า), และการพุ่งแรง (ฟา) การใช้มวยไท่เก๊กลงมือให้เกิดผลได้นั้น ต้องรู้จักฟังและเข้าใจแรง บรรลุถึงขั้น “เรารู้เขา แต่เขาไม่รู้เรา” รู้จักยืมแรงและนำแรงอีกฝ่ายสู่ความว่างเปล่า
ในคัมภีร์มวยไท่เก๊กของหวังจงเยว่ ได้อธิบายถึงมวยไท่เก๊กไว้ว่า “อันวิชามวยทั่วไปที่เน้นการต่อสู้นั้น แม้จะมีกระบวนท่าการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน แต่ก็มีหลักการไม่ต่างกันคือ ใช้ความแข็งแกร่งชนะอ่อนแอ ใช้ความรวดเร็วเอาชนะความเชื่องช้า ผู้แข็งแรงชนะผู้อ่อนแอกว่า มือของผู้รวดเร็วเอาชนะมือของผู้เชื่องช้า เป็นปกติวิสัยมาแต่ก่อนกำเนิด หาได้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องแรงกำลังแต่อย่างใด หากพิจารณาจากหลักของสี่ตำลึงปัดพันชั่ง แสดงให้เห็นว่าหาใช่ใช้แรงกำลังอันแท้จริงเอาชนะเพียงอย่างเดียวไม่ เรื่องของกำลังและความเร็วอย่างเดียวย่อมไม่อาจสามารถอธิบายถึงผู้เฒ่าสูงวัยสามารถเอาชนะผู้คนได้” ซึ่งจากถ้อยความนี้ได้แสดงให้เห็นถึงแนวคิดของมวยไท่เก๊กที่แตกต่างจากวิชามวยภายนอกทั่วไป คือเน้นการใช้แรงน้อยชนะแรงมาก เชื่องช้าสยบรวดเร็ว ขอแต่เพียงศึกษาเรื่องของแรงให้แตกฉาน ใช้แรงอย่างถูกต้องเหมาะสม แม้ใช้แรงเพียงสี่ตำลึงก็สามารถชนะแรงหนักถึงพันชั่งได้
บทความนี้เป็นบทความเก่าที่ผมเขียนไว้นานแล้ว จะลบทิ้งไปก็เสียดาย ก็เลยถือโอกาสเอามาลงไว้ในเว็บให้ได้อ่านกันครับ
เหลียง