ในบทความ “วิพากษ์การฝึกมวยไท่จี๋” ที่หยางเฉิงฝู่กล่าวถ่ายทอดด้วยปาก แล้วจดบันทึกไว้โดยจางหงขุยมีตอนนึงกล่าวว่า
“太极拳之程序,先练拳架(属于徒手),如太极拳、太极长拳”
“ระบบฝึกมวยไท่จี๋นั้น เริ่มด้วยเรียนชุดมวย (มือเปล่า) เช่นไท่จี๋เฉวียน, ไท่จี๋ฉางเฉวียน”
จะเห็นว่า อ.หยางเฉิงฝู่กล่าวถึงชุดมวยไท่จี๋ตระกูลหยางสองชุด หนึ่งคือชุดมวยช้า 85 ท่าปกติ ซึ่งฝึกกันทั่วไป อีกชุดหนึ่งคือไท่จี๋ฉางเฉวียนหรือมวยยาวไท่จี๋ (ไม่ใช่ฉางเฉวียนของพวกวูซูนะครับ เป็นวิชาเฉพาะของสำนักมวยไท่จี๋ตระกูลหยาง)
มวยยาวไท่จี๋ หรือไท่จี๋ฉางเฉวียนนี้ ในตระกูลหยางยังเรียกว่า “ฉังเฉวียน” (藏拳) หรือมวยชุดปกปิดซ่อนเร้น ถือเป็นมวยที่ไม่สอนคนภายนอก ดังนั้นแม้ในยุคแรกๆ อ.หยางก็ไม่ได้สอนออกมายังภายนอก แต่สอนเพียงศิษย์ในไม่กี่คน ซึ่งในศิษย์รุ่นแรกๆ ของ อ.หยางนั้น ต่างก็ได้เรียนชุดมวยยาวนี้กันทั้งสิ้น แต่ภายหลัง อ.หยางได้เลิกสอนไป
อ.หม่าเยว่เหลียงเล่าว่า “ในปีนั้นท่านเคยได้เห็น อ.หยางเฉิงฝู่รำมวยเร็ว (ในตระกูลหยางเรียกว่าไท่จี๋ฉางเฉวียน ในตระกูลอู๋เรียกว่าไคว่เฉวียนหรือมวยเร็ว) ชุดมวยมีกระทืบพื้น มีฟาจิ้น แต่ต่อมา อ.หยางอายุมากขึ้นและรูปร่างอ้วนใหญ่ รำมวยยาวฉางเฉวียนนี้ไม่ไหว จึงไม่ได้ถ่ายทอดต่ออีก”
คลิปไท่จี๋ฉางเฉวียนตระกูลหยางสาย อ.ฉู่กุ้ยถิง หนึ่งในศิษย์เอกตระกูลหยาง
ดังนั้นในศิษย์รุ่นหลังของ อ.หยางเฉิงฝู่ นับประมาณตั้งแต่ อ.เจิ้งมั่นชิงเป็นต้นมา จึงไม่มีมวยยาวชุดนี้ หลัง อ.หยางเสียชีวิต ลูกชายคนโตคือหยางเจิ้นหมิง (หยางโส่วจง) ย้ายไปอยู่ฮ่องกง นำมวยยาวชุดนี้ถ่ายทอดที่นั่น แต่ที่แผ่นดินใหญ่ลูกชายคนอื่นของ อ.หยางอายุยังน้อย สำนักจึงตกสืบทอดอยู่ในมือหลานนอกคือฟู่จงเหวิน ต่อมายังมีลูกชายคนเล็กคือหยางเจิ้นตั๋ว แต่หยางเจิ้นตั๋วไม่เคยเรียนมวยกับบิดา ส่วนฟู่จงเหวินเคยเรียนมวยกับหยางเฉิงฝู่อาทิตย์ละวัน ไม่เคยเรียนมวยยาวฉางเฉวียน จึงอ้างว่ามวยไท่จี๋ตระกูลหยางมีเพียงชุดเดียวคือ 85 ท่า ไม่มีชุดมวยอื่นอีก ทำให้ชุดมวยนี้เป็นที่รู้จักน้อยลงเรื่อยๆ
มวยไท่จี๋ฉางเฉวียนนี้ ถ่ายทอดกันด้วยวิธีใช้ ซึ่ง อ.หยางเฉิงฝู่เคยรำชุดมวยนี้ทั้งชุดออกมาแค่ครั้งเดียว ดังนั้นในหมู่ลูกศิษย์ที่เรียน จึงได้ชุดมวยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา หรือแม้แต่การจับท่ามารวมกันของลูกศิษย์เอง
ชุดมวยฉางเฉวียนของ อ.หยางแต่เดิมมี 72 ท่า ถ่ายทอดยัง อ.หวงจิ่งหัวมี 60 ท่า ใน อ.เถียนจ้าวหลินมี 64 ท่า ใน อ.เฉินเวยหมิงได้รับถ่ายทอดมา 59 ท่า ต่อมาเพิ่มเติมเองเป็น 108 ท่า เป็นต้น
ในชุดมวยฉางเฉวียน เป็นชุดมวยที่คงซึ่งท่วงท่าและความหมายของท่าดั้งเดิมของตระกูลหยาง เช่นท่า 簸箕式 หรือท่ามือบุ่งกี๋ ท่า 二起脚 หรือท่าเตะสองชั้น เป็นต้น ซึ่งภายหลังต่างก็ถูกตัดออกจากชุดมวยมาตรฐาน
ผมเคยเรียนชุดมวยฉางเฉวียนในฐานะศิษย์ในของสาย อ.กู้หลี่ว์ผิง ศิษย์ อ.หยางเส้าโหวและ อ.หยางเฉิงฝู่ ซึ่ง อ.กู้หลี่ว์ผิงยังสืบทอดฉางเฉวียนชุดที่สองจาก อ.เฉินเวยหมิงซึ่ง อ.หยางเฉิงฝู่ให้สอนแทนอีกด้วย (ในช่วงหลัง อ.หยางไม่ค่อยสอนเอง มักจะให้ศิษย์รุ่นต้นๆ ช่วยสอน เช่น อ.ฟู่จงเหวินก็ไม่เคยเรียนกับ อ.หยาง แต่เป็น อ.ชุยอี้ซื่อสอนมวยให้)
ผมเขียนบันทึกไว้เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาสำหรับท่านที่สนใจ เพื่อที่ชุดมวยไท่จี๋ฉางเฉวียนจะได้ไม่ถูกลืมไปครับ
รูปข้างล่างคือรายชื่อท่ามวยไท่จี๋ฉางเฉวียนจากหนังสือของ อ.หวงเหวินซู ศิษย์ท่านหนึ่งของ อ.หยางเฉิงฝู่ ส่วนตัวเลขที่ผมทำกำกับไว้จะเป็นลำดับท่าจากฉางเฉวียน 64 ท่า ของ อ.เถียนเจ้าหลินครับ