การคลายเอวคว่าของมวยไท่จี๋ (มวยไท่เก๊ก)
- 02/08/2017
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
แนะนำผู้เขียน / เฉินเย่าถิง เกิดที่เมืองหังโจว ในเดือน 1 ปี 1937 เป็นศาสตราจารย์อยู่มหาวิทยาลัยอุตสาหกรรมเคมีในปักกิ่ง มีชื่อเสียงด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับวัตุดิบที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล ฝึกฝนมวยไท่จี๋ (มวยไท่เก๊ก) เป็นงานอดิเรก ช่วงปี 50 เริ่มต้นติดตามหนิวชุนหมิง เรียนชุดมวยตระกูลหยางแบบเก่า (อ.หนิวชุนหมิงเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของ อ.หยางเฉิงฝู่ อายุมากกว่า อ.หยางเฉิงฝู่สองปี เริ่มต้นติดตามเรียนมวยกับ อ.หยางเจี้ยนโหว แต่กราบ อ.หยางเฉิงฝู่เป็นอาจารย์ตามคำสั่ง อ.หยางเจี้ยนโหว) ช่วงปี 60 ไปถึงปักกิ่ง ติดตามเรียนมวยกับครูมวยตระกูลอู๋ชื่อดัง หลิวหว่านชาง ฝึกฝนมวยไท่จี๋ตระกูลอู๋และการผลักมืออยู่สิบกว่าปี ช่วงปี 70-80 เรียนมวยกับ เกาจ้านขุย จูหวายหยวน เรียนมวยไท่จี๋ตระกูลหยางแบบเก่าซึ่งถ่ายทอดโดย อ.วังหย่งเฉวียน (อ.วังหย่งเฉวียน คือลูกชาย อ.วังฉงลู่ ซึ่งเป็นศิษย์ อ.หยางเจี้ยนโหว อ.วังหย่งเฉวียนติดตามบิดาเรียนมวยที่บ้านตระกูลหยาง สืบทอดชุดมวย อ.วังหย่งเฉวียน ได้รับคำแนะนำจาก อ.หยางเส้าโหว และกราบ อ.หยางเฉิงฝู่เป็นอาจารย์ตามคำสั่ง อ.หยางเจี้ยนโหว ตามเคย…) ยังเคยได้รับการชี้แนะจากครูมวยรุ่นใหญ่แห่งยุคอย่าง อู๋ถูหนาน หยางอวี้ถิง หวังเผย์เซิง ซุนเจี้ยนหยุนว์ เฮ่อเส้าหรู ต่างๆ ปัจจุบันเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของสมาคมศึกษามวยไท่จี๋ของวังหย่งเฉวียนแห่งปักกิ่ง
อธิบายเรื่องการฝึกคลาย เอว-คว่า โดยครูมวยไท่จี๋รุ่นก่อน
(**คลาย ภาษาจีนก็คือ “ซง” ส่วนคำว่า “คว่า” หมายถึงส่วนสะโพกและต้นขา)
ฝึกมวยไท่จี๋ให้ได้ดีนั้นเอวคว่าคือกุญแจสำคัญ เรื่องนี้ทุกคนต่างก็รู้ดีอยู่แล้ว แต่หากดูจากปัจจุบันกลับมีวิธีการฝึกที่มากมายหลากหลายที่ไม่ได้สอดคล้องกับหลักการฝึกสำคัญที่ครูมวยชื่อดังรุ่นก่อนได้วางไว้ หรือแม้แต่ถึงขึ้นไปในทิศทางตรงกันข้ามก็มี ฉันจึงนำเอาหลักการฝึกเอวคว่านี้จากครูมวยที่ล่วงลับไป ซึ่งฉันเคยได้ยินมา ได้เห็นมา จากการติดตามครูบาอาจารย์มาเกือบหกสิบปี เขียนออกมาให้ผู้ที่รักมวยไท่จี๋ทุกท่านได้ตรวจสอบดู
หนิวชุนหมิงกับหลักการคลายเอวคว่า
หนิวชุนหมิงคือผู้อวุโสในวงการไท่จี๋ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ทักษะมวยลึกล้ำ เคยติดตาม อ.หยางเฉิงฝู่ลงใต้ ต่อมาอยู่ที่หังโจว หลังปลดปล่อย (คอมมิวนิสต์ปกครองประเทศ) โจวเอินไหลได้แนะนำให้แก่ประธานเหมาเพื่อสอนมวย เวลาปกติจะสอนมวยอยู่ที่ลิ่วกงหยวนข้างทะเลสาบซีหู อ.หนิวสอนมวยจริงจังมาก ทั้งเข้มงวดและดูแลใกล้ชิด นิดเดียวก็ไม่ให้หย่อนยาน จำได้ว่ามีชายวัยกลางคนท่านหนึ่ง พอฝึกท่าเริ่มต้น (ฉีซื่อ – ท่าที่ยกมือขึ้นแล้ววางลงในท่าแรก) ก็ย่อนั่งลง อาจารย์สอนเขาไม่ให้เขาย่อนั่ง เขาก็ไม่เปลี่ยน อาจารย์ใจร้อนรุ่ม เลยชี้ไปที่ห้องน้ำข้างสวนสาธารณะกล่าวว่า “ถ้าจะนั่งก็ไปนู่นเลย” พอเวลาเขาย่อเข่าลง อาจารย์ก็หมุนตัวกลับมา หันมาพูดกับทุกคนทีเล่นทีจริงว่า “หากจะคุกเข่า กลับบ้านไปเอาแผ่นกระดานซักผ้าไปวางแล้วคุกเข่าหน้าเตียงเมีย ที่นี่ของฉันไม่ต้องการคุกเข่า” (เมื่อก่อนเวลาสามีทำผิด จะต้องไปคุกเข่าเหนือกระดานซักผ้าของเมียเพื่อขอโทษ) เรื่องนี้ทำให้ฉันทั้งชีวิตยากจะลืม ทำให้ฉันรู้ว่าการย่อเข่านั่ง กับการซงเอวคว่าเป็นคนละเรื่องอย่างแท้จริง…
หลักสำคัญที่ต้องรับรู้ในการฝึกมวยของ อ.หยางอวี้ถิง “ลาลากโม่”
จำได้ว่าช่วงอายุหกสิบ ฉัน (ผู้เขียนบทความ) กับเพื่อนฝึกมวยเฉินฮุ่ยเหลียงไปเข้าพบหยางเหล่า (ผู้เฒ่าหยาง หมายถึง อ.หยางอวี้ถิง) ถามว่าจะทำอย่างไรให้ฝึกไท่จี๋ได้ดี ท่านกล่าวว่า “รำมวยต้องเหมือนลาลากโม่อย่างนั้น” ทำไมต้องเหมือนลาลากโม่? เวลานั้นนับว่าไม่รู้เรื่องแม้แต่น้อย กาลเวลาผ่าน จึงรู้ซึ้งว่านี่คือ หลักการ รากฐาน ทิศทาง ของไท่จี๋เฉวียน ยิ่งมายิ่งซึ้งว่านี่คือคำแนะนำอันล้ำค่า คำว่า “ลาลากโม่” ก็คือให้ฉันเป็นโม่ ลาลากฉันหมุน อย่างนี้จึงสามารถคลายเอว เคลื่อนไหวเอว ตามที่ลาหมุนไป ไม่ใช่ฉันไปหมุนให้ขยับแต่ถูกหมุนให้ขยับ ฝึกไท่จี๋เฉวียนกับมวยต่อยตี (บ๊อกซิ่ง) ซุยเจียว (มวยปล้ำ) นั้นไม่เหมือนกัน เอวไม่สามารถใช้กำลังได้ ถ้าให้เอวใช้กำลัง ใช้เอวนำมือ เอวก็กระด้างแล้ว ก็ย่อมผิดแล้ว คัมภีร์มวยกล่าวว่า “เอวต้องเคลื่อนไหวเหมือนล้อรถ” ต้องรู้ว่า สมัยก่อนนั้นคือใช้มือผลักรถ สัตว์เลี้ยงดึงรถ ล้อรถนั้นถูกทำให้หมุน ไม่เหมือนกับรถยนต์หรือล้อรถมอเตอร์ไซต์สมัยนี้ “ลาลากโม่” คือ “ใช้จิตไม่ใช้กำลัง” อันเป็นหลักเฉพาะของไท่จี๋เฉวียน และลาในที่นี้ ก็คือ “อี้”
หลักสำคัญของ อ.อู๋ถูหนาน “นอกนำใน” และ “ปลายนำราก”
มีครั้งหนึ่งเพื่อนฝึกมวยชื่อเฉินฮุ่ยเหลียงพูดกับฉันว่า อู๋เหล่า (ผู้เฒ่าอู๋ หมายถึง อ.อู๋ถูหนาน) โมโหต่อหยางเจียคังแล้ว เนื่องจากว่าหยางเจียคังถามอู๋เหล่า ว่าฝึกไท่จี๋เฉวียนคือ “นอกนำใน” หรือคือ “ในนำนอก”? ต้องใช้ “ปลายนำราก” หรือว่าต้อง “รากนำปลาย”? ทำให้อาจารย์อู๋มีน้ำโหกล่าวว่า “เรื่องนี้เธอถามฉันสองครั้งแล้ว บอกอย่างชัดเจนเลยนะ คือนอกนำใน ปลายนำราก เธอไม่เชื่อฉัน ก็ไปซะสิ! ทำไมยังมาตามฉันอีก” เวลานั้นหยางเจียคังติดตามอู๋เหล่าได้หลายปี แถมยังเรียนมวยได้ดีด้วย ยังสอนมวยในมหาวิทยาลัยปักกิ่ง (เป่ยต้า) อู๋เหล่ายังโมโหใหญ่ได้ขนาดนี้ เวลานั้นฉันก็เข้าใจถึงว่าปัญหานี้ต้องสำคัญมากแน่ ภายหลังจึงได้เข้าใจชัดแจ้ง นี่คือตามหยางอวี้ถิง กล่าวไว้ถึงเรื่องของ “ลาลากโม่” ถ้าไม่ใช้ “นอกนำใน” “ปลายนำราก” เอวก็จะตายแล้ว ชั่วกัปกัลป์ก็เรียนไม่ออกไท่จี๋จิ้ง ยืมแรงไม่ได้ ไม่สามารถใช้ “สี่ตำลึงปัดพันชั่ง” นี่จึงได้ทำให้อู๋เหล่ามีน้ำโห…
หลักการสำคัญของ อ.วังหย่งเฉวียน จูหวายหยวน “ต้องไม่นั่งย่อจวง” (จวงหมายถึงการฝึกยืน) “ต้องไม่งอเอว” และ “รำมวยต้องใช้ข้อมือ”
ช่วงปี 70-80 ฉันกับหยวีถงเหอ ก็มีไปเรียนมวยกับ เกาจ้านขุย จูหวายหยวน โดย อ.เกา และ อ.จู นั้น คือสองท่านในศิษย์ในอันดับแรกสุดในกลุ่ม 4 ศิษย์ใหญ่ ของ อ.วังหย่งเฉวียน ซึ่งพ่อของหยีถงเหอนั้นเป็นเพื่อนร่วมงานที่โรงพยาบาลกับวังหย่งเฉวียนกับจูหวายหยวน ความสัมพันธ์ดี วันหนึ่งหยีถงเหอนำเอาหนังสือบันทึกคัดมือมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “ข้อควรรู้ในการโหรวโส่ว (ผลักมือ)” เป็นหนังสือจดบันทึกเล่มเล็กๆ ซึ่ง อ.จูหวายหยวนจดไว้ในตอนเรียนมวยกับ อ.วังหย่งเฉวียน ฉันจับมันยังกับเป็นขุมสมบัติ (เล่มนี้ผมมีครับ – admin) จากหน้าสองก็ให้ความสำคัญกับการ “ไม่นั่งย่อในการฝึกจวง (จั้นจวง)” “สองมือนั้นเพียงคอยให้การกำกับจิ้ง (แรง) ของเอว” วังเหล่า (อ.วังผู้เฒ่า) กล่าวว่า “เอวต้องไม่พับงอ” “เท้าต้องไม่เหยียบแน่นตาย” “รำมวยต้องใช้ (มือ) ข้อมือ” และยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการใช้อี้ชี่ (อี้หมายถึงจิต) โดย “ต้องเข้าใจกระจ่าง เน่ยชี่ (ชี่ภายใน) คือผู้นำ คือแรงหลักของการเคลื่อนไหว ท่าร่างภายนอกนั้นคือผู้ตาม ถูกทำให้เคลื่อนไหว ทั้งสองวรรคนี้ล้วนแต่หมายความว่าให้ตามการควบคุมของอี้” ข้อความข้างต้นนี้ ช่างเป็นการตีความที่ยอดเยี่ยม ตรงตามที่คัมภีร์โบราณกล่าวไว้ว่า “อี้ชี่คือกษัตริย์ กระดูกเนื้อคือขุนนาง”
คำกล่าวท้าย
ฉันเชื่อว่า จะเรียนมวยไท่จี๋ให้ได้ดี ก่อนอื่นต้องกระจ่างก่อนว่าฝึกอะไร หากจะฝึกฝน “การยืมแรง (เจี้ยลี่)” “สี่ตำลึงปาดพันชั่ง” คุณต้องฝึกฝนการ “ใช้จิตไม่ใช้กำลัง” ต้องหาประสบการณ์ทางร่างกายจากการสอนของครูมวยรุ่นใหญ่ข้างต้นให้ดีๆ ท่านเหล่านั้นให้ความแนะนำอย่างจริงจังว่า อย่าได้นั่งย่อจวง ต้องใช้อี้ (จิต) นำ ใช้ปลายนำ เอวต้องเคลื่อนไหว ไม่อาจใช้กำลัง…. หากคำกล่าวว่า “ใช้จิตนำชี่ ใช้ชี่เคลื่อนกาย” นั้นเข้าใจยาก ฉันคิดว่าเนื้อหาถ้อยความข้างต้นน่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า ปัญหาเดียวคือจะฝึกตามนี้หรือไม่เท่านั้น อ.จูหวายหยวนกล่าวไว้ว่า “ไม่อาจใช้กำลัง ต้องไม่ไปเอาแต่ไปมั่วหามั่วถามบนร่างกายคู่ต่อสู้ ยิ่งต้องไม่เอามือไปผลักไปจับอีกฝ่าย” ท่านสอนยอดฝีมือออกมาแล้วมากมาย เช่น หลี่เหอเซิง สือหมิง จูชุนเซวียน ต่างๆ สามารถกล่าวได้ว่าการสอนของท่านนั้นมีความสำเร็จอย่างเต็มเปี่ยม
หากมีใครถามฉันว่าจะฝึกไท่จี๋ให้ดีได้อย่างไร ฉันขอยกเอาข้อเขียนสี่วรรคในงานสัมนาจัดโดยเว็บไซต์มวยไท่จี๋ประเทศจีนซึ่งฉันได้เขียนไว้ดังนี้
สองมือดั่งลมฤดูใบไม้ผลิพัดต้นหลิว
สองเท้าก้าวราวเดินเหยียบบนเรือลอย
ระฆังยามค่ำแห่งหนานผิงแขวนบนไปฮุ่ย
สงบฟังเสียงอันยิ่งใหญ่ที่ก้องไปทั่วหล้า
ความหมายก็คือ: สองมือไม่เพียงแต่เหมือนกิ่งก้านของต้นหลิว ไหวไปมาตามสายลม แต่ที่สำคัญยังต้องถูกพัดโดยสายลมใบไม้ผลิ นั่นคือถูกทำให้เคลื่อนไหว ลมใบไม้ผลิก็คืออี้ (จิต) เท้าทั้งสองนั้นไม่ควรเหยียบตาย แต่ต้องมีคุณสมบัติอันเคลื่อนไหวไปมา ราวกับยืนเหยียบบนเรือที่ลอยลำ ดังที่ในคัมภีร์มวยกล่าวไว้ว่า “ลอยไปลอยมาราวท่องคลื่น บนเบาล่างจมหนักไม่ซวนเซ” วรรคที่สี่อธิบายถึงท่าร่างที่ต้องตรง ราวกับระฆังทองแดงที่ถูกแขวนในวัด กระจายเสียงก้อง ใจตนนั้นต้องสงบ จิตต้องตาม ไม่ควรอยากแต่ตีคนอื่น ไม่ไล่ตามอะไรอย่างหัวชนฝาไม่ราเลิก แต่ปล่อยให้เสียงอันยิ่งใหญ่นั้นก้องไปทั่วจักรวาล
***ผู้แปล – ผมยินดีหากงานแปลผมทำให้ผู้ฝึกปรับปรุงความถูกต้องของตัวเองได้ เพราะนี่คือหลักไท่จี๋ที่ถูกต้อง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่อย่างไรก็ตาม หากจะเอาไปอ้างต่อ รบกวนให้เครดิตคนแปลหน่อยนะครับ อย่าไปอ้างว่าคิดเอง หรือเรียนมา หากว่าไม่เคยเรียนมาจริงๆ ตามนี้