อธิบายแรงยึดจับ (หนาจิ้น)
- 07/08/2019
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
แปลจาก: ตำรารวมวิชาหมัดดาบกระบี่พลองและสานโส่วของมวยไท่จี๋
แต่งโดย: อาจารย์เฉินเอี้ยนหลิน
ที่มาวิชา: อาจารย์เถียนเจ้าหลิน
แปลโดย: เหลียง
แรงยึดจับ (หนาจิ้น) เป็นแรงที่ยากกว่าแรงสะเทิน (ฮว่าจิ้น) และแรงชักนำ (หยิ่นจิ้น) และมีความสำคัญอย่างมากในมวยไท่จี๋ เนื่องจากหากไม่สามารถยึดจับได้ ก็จะไม่สามารถพุ่งแรง (ฟาจิ้น)ได้ เมื่อยึดจับได้จึงจะสามารถฟาได้ การฟาที่ไม่ถูก (โดน) นั้นล้วนแต่มาจากการยึดจับที่ไม่แม่นยำ แรงยึดจับจึงเป็นทัพหน้าของการฟา หากยึดจับให้คู่ต่อสู้งุนงงขณะที่อี้ของตนบรรลุถึงได้ จากนั้นจึงค่อยฟาไปยังจุดที่เล็ง ย่อมไม่มีที่จะไม่ถูก แต่ว่าเวลายึดจับต้องมีความคล่องแคล่ว ถ้าหนักย่อมทำให้อีกฝ่ายรู้สึกตัวได้ง่าย และถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปจนสิ้น จุดที่ยากคือในขณะที่จะยึดจับและไม่ยึดจับ(จับมิจับแหล่) แต่ถ้ายึดจับได้เท่ากับอีกฝ่ายไม่สามารถหนีรอด ดังนั้นความพิศดารของการยึดจับจึงอยู่ในระหว่างที่คนอื่นไม่รู้ตัวไม่รู้สึก
นอกจากนี้การยึดจับผู้คนนั้นจะต้องยึดจับยังข้อต่อ เช่นข้อมือ ข้อศอก ไหล่ ไม่เช่นนั้นย่อมถูกคนแก้ไขหลุดได้ง่าย สองมือยามยึดจับผู้อื่น ต้องเหมือนการชั่งสิ่งของ หากชั่งสิ่งหนักย่อมต้องย้ายตุ้มออกให้ไกล หากชั่งสิ่งเบาก็ต้องย้ายตุ้มเข้ามาด้านใน ไม่ให้ความสูงต่ำของระดับการชั่งแตกต่างกันหรือสูญเสียสมดุล เวลายึดจับต้องจมไหล่ถ่วงศอก เก็บอกยกหลัง รวบรวมชี่มีสติแนวแน่ ต้องสนใจศูนย์ถ่วงของตนเป็นพิเศษ ก้นกบต้องตรง แขวนกระหม่อมก้าวย่างมั่นคง ศูนย์ถ่วงคงมั่น มีคำว่า “ยึดจับคนต้องไม่เกินเข่า เกินเข่าเท่ากับไม่จับ” ก็ด้วยเหตุนี้ ถ้าอยู่ห่างจากผู้อื่น จำเป็นที่ตนเองต้องก้าวเข้าไปเพื่อปรับระยะ มิเช่นนั้นการทรงกายย่อมไม่มั่นคง การยึดจับไม่ใช่ใช้มือยึดจับ ใช้มือจับย่อมทื่อและถูกสะเทินได้ง่าย การยึดจับล้วนต้องอาศัยขากับเอว ยึดจับคนไม่ใช้กำลังจับ ใช้กำลังจับย่อมหลุดง่าย การบงการของการยึดจับต้องอยู่ที่อี้ชี่ เวลาเดียวกัน ท่าเท้า ทิศทาง ล้วนมีความสำคัญ แค่พูดไม่สามารถเข้าใจได้
ผู้ฝีมือสูงส่งยามยึดจับ เพียงแค่วางมือแตะลงไม่ว่าที่ใดก็สามารถยึดจับได้ทันที ทั้งยังทำให้ผู้ถูกจับไม่สามารถควบคุมตนเองได้ตามแต่ความต้องการ เพียงแต่ผู้มีฝีมือมักจับแล้วไม่ฟา เนื่องจากหลังยึดจับได้แล้ว ผู้อื่นย่อมรู้ตัวว่าตนพ่ายแพ้ และยอมจำนน จึงไม่ฟาจิ้นออกไปให้ผู้อื่นได้รับความอัปยศอดสู นี่คือวิถีของสุชน การยึดจับยังแบ่งเป็นมีรูปกับไร้รูปสองชนิด การจับแบบมีรูปหากขอบเขตรัศมีน้อยเท่าไหร่ กงฟูย่อมสูงเพียงนั้น แต่หากขอบเขตรัศมีใหญ่เท่าไหร่ แสดงว่ากงฟูผู้นั้นยิ่งน้อยเพียงนั้น ส่วนการยึดจับแบบไร้รูป เมื่อผิวหนังสองฝ่ายแนบติดกันก็คือการยึดจับแล้ว รัศมีขอบเขตของผู้ฝีมือต่ำย่อมถูกของผู้ฝีมือสูงบดบังไว้ ความพิศดารของวิชาฝีมือเช่นนี้แม้ได้อาจารย์มีชื่อสั่งสอน หากมิได้ฝึกฝนยาวนาน ย่อมหาความสำเร็จไม่ได้