หรือไม่โอบบอลจะดีกว่า?
- 04/08/2017
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
บทความนี้แปลจากบทหนึ่งจากหนังสือ “การถ่ายทอดจริงแท้ของหลักเหตุผลมวยไท่จี๋” (ไท่จี๋เฉวียนหลี่ฉวนเจิน) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1986 เขียนโดย จางยี่จิ่ง จางหงจั้ว ศิษย์ของอาจารย์หลีหย่าเซวียน เนื้อหาประกอบด้วยหลักวิชามวยไท่จี๋ของอาจารย์หลีหย่าเซวียน ถือเป็นหนังสือวิพากษ์หลักวิชามวยไท่จี๋ที่ดีมากที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยมีมา หลักวิชาถูกต้อง จริงแท้ และได้รับการถ่ายทอดตรงจากครูมวยรุ่นใหญ่ของตระกูลหยางอย่าง อ.หลีหย่าเซวียน ซึ่งเรียนมวยกับ อ.หยางเจี้ยนโหว และกราบ อ.หยางเฉิงฝู่เป็นอาจารย์ เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้จึงสามารถใช้เป็นหลักอ้างอิงวิชามวยไท่จี๋ตระกูลหยางได้เป็นอย่างดี
หรือไม่โอบบอลจะดีกว่า?
ในเวลาฝึกรำมวยไท่จี๋ จะมีจังหวะในสถานการณ์ที่สองฝ่ามือพอดี (ผ่านกัน) อยู่บนล่าง ซ้ายขวา หน้าหลัง ประมาณว่าฝ่ามือหันเข้าหากัน เช่นใน ท่าเผิง หลีว์ ของท่าคว้าจับหางนก ในจังหวะท่าถอยหลังไล่ลิงเปลี่ยนไปท่าเหินเฉียง ต่างๆ ล้วนแต่มีกรณีเช่นนี้
ไม่รู้ว่าใครคนไหนมันเริ่มคิดเอาเองในเรื่องนี้ บอกว่านี่คือการเคลื่อนไหวท่า “โอบบอล” พอถ่ายทอดต่อมา ก็มีผลตอบรับกว้างขวางกระจายไปทั่ว คนทำตามมีเป็นพันเป็นหมื่น จากปักกิ่งก็ “โอบ” มันไปจนทั่วประเทศ จากประเทศจีนก็ “โอบ” มันจนไปต่างประเทศ ช่างเดินทางได้เร็วเหลือเกิน ที่น่าเสียใจยิ่งคือ “โอบ” กันแล้วหลายสิบปี ยิ่งโอบกันห่างจากหลักการแท้จริงของมวยไท่จี๋ไปไกล และหลักการ “โอบ” นี้ก็ได้ทำให้หลักการที่มีชีวิตเป็นให้เป็นหลักการที่ตายตัว จากครอบคลุมกว้างกลายเป็นหน้าราบ (หมายถึงราบเรียบ ไม่กว้างขวาง มีความหมายว่าแคบ) จากนามธรรมเป็นรูปธรรม แม้แต่ความคิดก็สูญเสียความเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นับว่าทำร้ายผู้คนไม่น้อยทีเดียว
ท่าโอบบอลของมวยไท่จี๋ 24 ท่า
รูปลักษณ์ที่สองฝ่ามือพอดีมาเจอกัน (เจอกันหรือผ่านกันคล้ายๆ โอบบอล) อย่างนี้ อาจจะกล่าวได้ว่ามีมาจากใน “คัมภีร์มวย” ที่ว่า “มีบนย่อมมีล่าง มีหลังก็มีหน้า มีซ้ายก็มีขวา” แต่นั่นคือการที่ระยะระหว่างสองมือนั้นมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่หยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากเส้นทางการเคลื่อนไหวของสองมือนั้น ยาวสั้นไม่เท่ากัน ความเร็วก็ไม่เท่ากัน จะไปถือเอาเป็นการ “โอบ” ได้อย่างไรเล่า? ดังนั้นไม่ว่าจะจากรูปแบบของสองมือ ความสมดุลของรยางค์แขนขา หรือผลของการใช้งานต่อสู้ ล้วนแต่ต้องเป็นธรรมชาติอย่างที่สุดโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
การใช้งานของมวยไท่จี๋นั้น แน่นอนว่าคือการหมุนโค้งตามใจ มีส่วนที่คล้ายการหมุนบอลอยู่ แต่นี่คือการหมุนบอลในมือเหรอ? แล้วสามารถมองเห็นได้จากรูปลักษณ์ภายนอกอย่างนั้นเหรอ? แล้วสามารถโอบไว้ได้ด้วยอย่างนั้นเหรอ?
หากนำเอามวยไท่จี๋ไปเปรียบกับวงกลมแล้ว อย่างนั้นศูนย์กลางก็ควรอยู่ที่เอว ในมือแค่มีการเคลื่อนไหวตอบสนองเป็นรูปโค้งอย่างอิสระโดยไม่ถูกจำกัดด้วยรูปแบบเท่านั้น โดยพื้นฐานแล้วไม่ควรมีเหตุผลที่ต้อง “โอบบอล” แต่อย่างใด ซึ่งหลักการภายในที่ต้องให้เอวเป็นศูนย์กลางนั้น ต้องกงฟูถึงแล้วถึงจะรับรู้ได้ คำว่า “เอวเหมือนเพลารถ” ต้องเป็นตนเองไปรับรู้ ไปฝึกฝน ถึงจะเข้าใจได้ แต่มองดูคือมองไม่เห็นได้ กับการที่สองมือโอบบอลนั้น กล่าวได้ว่าเหมือนลมม้าวัวไร้ความเกี่ยวข้องกันอย่างแท้จริง (ลมม้าวัวไร้ความเกี่ยวข้อง – สำนวนจีนหมายถึง ไม่เกี่ยวข้องกันเลยสักนิดเดียว)
เวลาฝึกมวยนั้น ความคิดต้องคอยดูแลทุกด้านอย่างถึงพร้อม การออกมือแต่ละครั้ง ในทุกๆ ด้านล้วนต้องมีอี้ของมวย ล้วนแต่ต้องมีแรงฟัง (ทิงจิ้ง) อย่างนี้ถึงจะมีคุณต่อการพัฒนาความรู้สึกจากการสัมผัส พัฒนาความว่องไวในการตอบสนอง ถึงจะเกิดผลดีต่อแรงฟัง (ทิงจิ้ง) หากกล่าวให้ง่ายขึ้นหน่อย ก็คือไม่เพียงสองฝ่ามือต้องใช้อี้ หลังฝ่ามือก็ยังต้องใช้อี้เหมือนกัน ทั่วร่างกายบนล่าง ซ้ายขวา หน้าหลังล้วนแต่ต้องใช้อี้ นี่ก็คือรูปลักษณ์กลมของมวยไท่จี๋ล่ะ และคือแนวคิดในเรื่องความครอบคลุมรอบด้าน การรับรู้ทั่วตัว
ยอดฝีมือเวลาผลักมือกันนั้น ความสามารถของแรงฟัง (ทิงจิ้ง) นั้นสามารถตรวจสอบได้แม้ความเบาเหมือนขนนกตกใส่ สามารถควบคุมความสามารถของอีกฝ่ายไว้ ราวปานเล่นกับเด็กอย่างนั้น ในระดับขั้นสูงมากๆ นั้นก็คือก็การที่พวกเขาสามารถใช้อี้ฟังแรงได้ทั่วทุกด้าน เต็มเปี่ยมแล้ว กลมแล้ว คล่องแล้ว แต่ความกลมชนิดนี้คือว่างเปล่าไร้รูป คนอื่นมองไม่เห็น ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการโอบบอลเลย
วิธีกล่าวอ้างถึงเรื่องการ “โอบบอล” ของสองมือนี้ ก็คือการวาดงูเติมขาให้มวยไท่จี๋ (วาดงูเติมขา หมายถึง การเพิ่มในสิ่งไร้สาระอันไม่จำเป็น) คือความผิดพลาดอันร้ายกาจ พอมีวิธีคิด “โอบบอล” ในรูปลักษณ์ภายนอกก็ดูจะถูกกำหนดไว้แล้ว ถูกจำกัดไว้ แม้แต่ทำเอาแรงชัด (หมิงจิ้ง) แรงแข็ง (หยิ่งจิ้ง) ออกมา เวลาเดียวกันก็ทำเอาความคิดไปติดอยู่กับระหว่างสองมืออีก กลายเป็นมองข้ามหลังมือและด้านอื่นๆ ที่สำคัญเหมือนกันไปหมด พอจำกัดความคิดอย่างนี้แล้ว ก็ไม่เกิดคุณต่อการพัฒนาความรู้สึกในการสัมผัสหรือการยกระดับความสามารถของแรงฟัง กลายเป็นไม่ช่วยเหลือต่อการพัฒนาปัญญา (ของมวย) แต่อย่างใด
ดังนั้น การ “โอบบอล” จึงไม่ใช่เหตุผลที่ควรมีในมวยไท่จี๋ อย่างชัดเจน….
ช่วงหลายปีมานี้ ยากจะมียอดฝีมือมวยไท่จี๋ปรากฏให้เห็น หนึ่งในสาเหตุ ฉันคิดว่าคงเป็นเพราะ “โอบบอล” มากไป อุตส่าห์ฝึกมวยไปอย่างยากลำบาก สูญเสียเวลาวันและคืน สุดท้ายกลับห่างไกลจากการส่งเสริมแรงฟังและการรับรู้ทั่วด้านไปเสียอย่างนั้น
หากมองดูทุกที่ในคัมภีร์มวย มีบันทึกตรงไหนที่ไหนต้องให้สองมือ “โอบบอล” บ้าง?
คิดดูแล้วคนคิดเรื่อง “โอบบอล” ในเวลานั้น ไม่เพียงเป็นความผิดของคนหนึ่งคน แค่ความผิดของคนคนเดียวยังชั่วร้ายไม่พอ ยังต้องโทษคนหลงเชื่อ (อย่างตาบอด) อย่างนี้ให้มาก เวลาผ่านไปนานในทิศทางนี้แล้วหลายสิบปีผ่านมา ไม่เคยมีใครยกเอาหลักที่ผิดพลาดนี้มาสงสัยหรือมาวิจารณ์เลย ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องที่มีคุณค่าที่สุดที่เราควรยกเอามาคิดพิจารณากันเลยทีเดียว