ระบบมวยไท่จี๋ (ไท่เก๊ก) สายกู้ลี่เซิง
- 11/01/2020
- Posted by: Liang
- Category: Xiaochen's blog ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
ผู้เขียน (เหลียง) เริ่มเรียนมวยไท่จี๋มาในช่วงวัยรุ่น อาจารย์ท่านแรกเป็นสายหยางเฉิงฝู่ และต่อมาได้เรียนกับอาจารย์สายหยางเส้าโหวจากการแนะนำของอาจารย์ท่านแรก ในขณะนั้นถึงแม้ได้เรียนวิชาที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่ด้วยวัยวุฒิกลับทำให้ยังไม่พอเข้าใจลึกซึ้ง (แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังวิชาสายอาจารย์ท่านนี้ก็ติดตัวผมมาลึกซึ้งที่สุดถึงทุกวันนี้) เมื่อช่วงที่คุณพ่อของผมป่วย ฐานะที่บ้านผมลำบาก เงินทองทั้งหมดใช้ไปกับการรักษา ผมเองก็ต้องเลิกฝึกมวยไประยะหนึ่งเพื่อทำงานหาเงินมาดูแลคุณพ่อที่ล้มป่วย จนตอนหลังจากพ่อผมเสียชีวิตไปผมจึงเริ่มฝึกฝนและฟื้นฟูวิชา ผมได้พยายามคบหาครูมวยท่านอื่นๆ เพื่อมีคนฝึกฝนด้วยกันช่วงฟื้นฟูวิชา เพราะช่วงนั้นผมรู้ตัวว่าตัวเองฝีมือด้อยลงมากจากการผลักมือกับครูมวยท่านอื่นๆ จนตอนหลังมีเพื่อนฝึกด้วยกันเป็นครูมวยต่างชาติ (ซึ่งเป็นที่สบายใจกว่าเพราะต่างชาติไม่มีปัญหาเรื่องอีโก้มากนัก) ภายหลังผมจึงได้ไปเรียนมวยสายหยางเส้าโหว/กู้ลี่เซิงเพื่อฟื้นฟูและเพิ่มเติมวิชาจนได้เข้าเป็นศิษย์ในและตัวแทนสอนในต่างประเทศ
ระบบและชุดมวยต่างๆ ในสายกู้ลี่เซิง นั้นค่อนข้างมีหลากหลาย เป็นคลังสมบัติทางวัฒนธรรมของมวยไท่จี๋ตระกูลหยางที่ยังได้รักษาชุดมวยต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน ผมเองเป็นคนชอบศึกษาดังนั้นจึงมักจะตั้งข้อสงสัยและเปรียบเทียบชุดมวยต่างๆ แต่ผมพบว่าชุดมวยในสายกู้ลี่เซิงนั้นความเป็นมาตรวจสอบได้ อันนี้เรียกว่าต้องคุยกันส่วนตัวเพราะค่อนข้างลึก ไม่สะดวกที่จะเล่าในที่สาธารณะ
แน่นอนว่าปัจจุบันเรามีชุดสั้น ชุดแข่งขันที่สร้างขึ้นใหม่มากมาย แต่องค์ความรู้เกี่ยวกับชุดมวยดั้งเดิมของตระกูลหยางกลับติดอยู่ที่ชุดมวยวงกว้างหยางเฉิงฝู่เท่านั้น ดังนั้นเพื่อเป็นแนวทางการศึกษามวยไท่จี๋ตระกูลหยาง ผมจึงขอเรียบเรียงระบบชุดมวยในสายกู้ลี่เซิงไว้ดังต่อไปนี้
- ชุดมวยชุดใหญ่ (ต้าเจี้ย) สายหยางเฉิงฝู่ 88 ท่า เป็นชุดมวยที่เป็นที่รู้จักและถ่ายทอดในสายหยางเฉิงฝู่ ซึ่งอาจารย์กู้ลี่เซิงเคยได้เรียนมวยไท่จี๋กับอาจารย์หยางเฉิงฝู่ผ่านการแนะนำของกู้จิ่งจาง แต่อย่างไรก็ตาม ช่วงนั้นอาจารย์หยางลดการสอนลงและมักจะให้ลูกศิษย์สอนแทน อาจารย์กู้จึงได้เรียนกับอาจารย์เฉินเวยหมิงด้วย
- ชุดมวยชุดใหญ่ (ต้าเจี้ย) แบบเก่า 108 ท่า เป็นชุดมวยช้าในสายอาจารย์หยางเส้าโหว เรียกว่า “เลี่ยนเจี้ย” หรือมวยชุดฝึกฝน ชุดมวยมีระดับการรำสามแบบ คือ สูง, กลาง, และต่ำ ในแต่ละแบบยังสามารถรำด้วยวงภายในแบบ กว้าง, กลาง, และแคบ หลักการมีตั้งแต่การเปิดกว้างในการรำวงกว้าง และมีการซ้อนวงเช่นเดียวกับในสายอาจารย์เถียนเจ้าหลินในการรำแบบวงแคบ ท่วงท่าเน้นการเคลื่อนไหวของเอว/คว่า และมีวงมากกว่าชุดวงกว้างทั่วไป
- ชุดมวยชุดเล็กเส้าโหวหรือเส้าโหวเสี่ยวเจี้ย 78 ท่า เป็นชุดมวยเร็ว เรียกอีกอย่างว่า “ย่งเจี้ย” เป็นชุดการใช้ที่มีชื่อเสียงของหยางเส้าโหว มีรูปแบบดั้งเดิมของมวยไท่จี๋ตระกูลหยาง การเคลื่อนไหวรวดเร็ว มีฟาจิ้นออกเสียง มีกระโดด กระทืบเท้า เป็นชุดมวยที่เรียกกันว่าเป็น “เน่ยฉวน” หรือถ่ายทอดกันภายในเท่านั้น
- ชุดมวยไท่จี๋ฉางเฉวียน หรือมวยยาวไท่จี๋ มี 2 ลู่หรือ 2 ชุด ชุดมวยนี้ยังเรียกว่า “ฉังเฉวียน” หมายถึงมวยซ่อนเร้น คือมวยที่ไม่สอนภายนอก ซึ่งชุดแรกมี 70 ท่า เป็นของตระกูลหยาง และฝึกฝนในรูปแบบของอาจารย์กู้ลี่เซิงเอง อาจารย์กู้แสดงไท่จี๋ฉางเฉวียนนี้และชุดมวยวงแคบในงานประลองยุทธในกุ้ยหยางในปี 1947 ได้รับการยอมรับอย่างสูง ส่วนชุดที่ 2 มี 108 ท่า มวยไท่จี๋ฉางเฉวียนก็คือมวยเร็วของมวยไท่จี๋ตระกูลหยางซึ่งถ่ายทอดในสายอาจารย์หยางเฉิงฝู่ การเคลื่อนไหวเร็วช้าประสาน แข็งอ่อนประสานกัน ฟาจิ้นออกเสียง การก้าวเท้าเป็นแบบฮว๋าปู้หรือก้าวเท้าเคลื่อนไหว
- ชุดการฝึกเน่ยกงต่างๆ ได้แก่เน่ยกง 8 กระบวน หรือเน่ยกงปาฝ่า เป็นชุดบริหารเพื่อฝึกฝนภายในและร่างกายให้ทำงานประสานกัน ชุดฝึกยืนจ้านจวงซึ่งเน้นที่สามชุดฝึกจ้านจวงหลักของตระกูลหยาง ได้แก่หม่าปู้จวง (อู๋จี๋จวง), ซุ่นปู้จวง (ชวนจื่อจวง), และตู๋ลี่จวง และชุดฝึกกงอื่นๆ
- ชุดผลักมือ 36 ท่า เป็นชุดผลักมือที่ยังคงรักษารูปแบบผลักมือดั้งเดิมไว้ หลายกระบวนหายไปจากตระกูลหยางปัจจุบัน หรืออยู่ในตระกูลอู๋ในชื่ออื่นแทน เน้นหนักที่การผลักมือก้าวเท้า เช่นก้าววงกลม ก้าวดอกเหมยหรือ 5 ก้าว ก้าวเท้า 9 วิหารหรือ 9 ก้าว และยังมีการผลักแบบต้าหลีว์ในหลายแบบ ล่านไฉ่ฮวาหรือเด็ดดอกไม้อิสระ และสานโส่ว
- ชุดกระบี่ไท่จี๋แบบเก่า 64 ท่า เป็นชุดกระบี่ที่มีวงจรซับซ้อนกว่าแบบปัจจุบัน
- ชุดดาบไท่จี๋ 13 ท่า และชุดเข้าคู่สี่ดาบ
- ชุดพลองไท่จี๋ ได้แก่ชุดพลองเกาะติด และชุดฝึกเดี่ยวเช่นชุดฝึกกงลี่ (ฝึกพลัง)
- ชุดทวนใหญ่ 13 ท่า ชุดทวนเล็ก 24 ท่า และชุดทวนเกาะติด 49 ท่า
กู้ลี่เซิงเป็นครูมวยที่เผยแพร่มวยไท่จี๋ในวงกว้างในกุ้ยหยาง เป็นผู้ร่วมจัดงานประลองยุทธ์ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อส่งเสริมสถาบันยุทธ์แห่งชาติ (จงยางกว๋อซู่กว่าน) ในกุ้ยหยาง มีชื่อเสียงเคียงคู่กับราชันย์หมัดตะวันตกเฉียงใต้กู้จิ่งจาง และฝ่ามือทรายเหล็กกู้หรู่จาง แต่ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเพราะการลี้ภัยมากุ้ยหยางนั้นถือเป็นการอยู่ในท้องที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่อย่างปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ เช่นเดียวกับหยางเจิ้นเซิง บุตรชายอาจารย์หยางเส้าโหวที่ร่องรอยสูญหายไปในช่วงสงครามหลักจากเดินทางมาสอนมวยที่เมืองคุนหมิง ยูนนาน แม้แต่กู้หรู่จางก็ถูกบันทึกว่าร่องรอยเงียบหายไปหลังจากย้ายมากุ้ยหยาง แต่อย่างไรก็ตามกิจกรรมและการแสดงมวยของกู้ลี่เซิงนั้นได้รับการบันทึกในบันทึกประวัติศาสตร์วัฒนธรรมของเขตหนานหมิงซึ่งยังคงตรวจสอบได้ในปัจจุบัน
เรียบเรียงโดย
เหลียง