ประวัติอาจารย์กู้ลี่เซิง
- 24/07/2019
- Posted by: Liang
- Category: Xiaochen's blog ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
กู้ลี่เซิง ฉายาหลี่ว์ผิง เกิดในราชวงค์ชิงปีรัชสมัยกวงซวี่ที่สามสิบ (ปี 1903) เมื่ออายุ 5 ขวบได้ติดตามลุงเรียนวิชาแพทย์และร่อนเร่ใช้วิชาแพทย์รักษาผู้คนเลี้ยงชีพอยู่ในหนานจิง มลฑลเจียงซู ทำให้กู้ลี่เซิงมีวิชาแพทย์สูงมาก เมื่อครั้งยังเด็กเริ่มต้นเรียนมวยเส้าหลินจากครูมวยมีชื่อของที่นั่น ภายหลังในช่วงต้นทศวรรษที่ 20 ได้รับการฝากฝังให้เป็นเสมียนในบ้านของนายไปรษณีย์สกุลหวัง ในเวลานั้นครูมวยตระกูลหยางเลื่องชื่อฉายา “ไท่จี๋ตี้อี้เหริน” หรือ “อันดับหนึ่งของมวยไท่จี๋” คือ “หยางเส้าโหว” หลานชายของปรมาจารย์หยางลู่ฉาน ได้มาสอนมวยไท่จี๋อยู่ที่สถาบันยุทธ์แห่งชาติประจำหนานจิง (หนานจิงจงยางกว๋อซู่กว่าน) นายไปรษณีย์ตระกูลหวังจึงได้จ้างให้หยางเส้าโหวมาสอนมวยที่บ้าน ตอนแรกนั้นกู้ลี่เซิงยืนดูอยู่ข้างๆ ทุกวัน จึงจำได้และนำไปฝึกตาม วันหนึ่งนายไปรษณีย์ตระกูลหวังจะจัดเลี้ยงข้าวหยางเส้าโหว จึงสั่งให้กู้ลี่เซิงเดินทางไปสั่งอาหารล่วงหน้าที่ร้านอาหารในริมทะเลสาบ พอสั่งอาหารเสร็จกู้ลี่เซิงไม่มีอะไรทำ จึงออกไปรำมวยที่ศาลาข้างๆ ระหว่างนั้นหยางเส้าโหวกับนายไปรษณีย์ตระกูลหวังเดินทางมาถึงพอดี หยางเส้าโหวมองแต่ไกลเห็นมีคนรำชุดมวยของตัวเอง จึงเข้าใจว่ามีใครแอบเรียนมวยแล้วมาฝึกอยู่ที่นี่ พอเดินเข้าไปใกล้พบว่าเป็นกู้ลี่เซิงจึงได้สอบถาม กู้ลี่เซิงอธิบายว่าตนนั้นไม่ได้ขโมยเรียน เพียงแต่เห็นทุกวันจึงจำได้ หยางเส้าโหวเห็นว่ากู้ลี่เซิงมีพรสวรรค์ไม่เลว ภายหลังจึงรับเป็นลูกศิษย์และถ่ายทอดวิชาให้ ด้วยการสอนของอาจารย์หยางเส้าโหว บวกกับการฝึกฝนอย่างตั้งใจ กู้ลี่เซิงจึงได้รับสืบทอดวิชาที่แท้จริงของมวยไท่จี๋ตระกูลหยาง
ปี 1930 อาจารย์หยางเส้าโหวลาโลก กู้ลี่เซิงได้รับคำแนะนำจากเพื่อนคือกู้จิ่งจาง (ต่อมาได้รับฉายาว่าราชันย์มวยจีนแห่งตะวันตกเฉียงใต้) ให้ไปเรียนมวยกับอาจารย์หยางเฉิงฝู่ซึ่งเป็นน้องชายของอาจารย์หยางเส้าโหวอีกด้วย
ปี 1937 อาจารย์หยางเฉิงฝู่เสียชีวิต ญี่ปุ่นบุกโจมตีมลฑลเจียงหนานและยึดเมืองหังโจว เกิดสงครามการต่อสู้ยาวนานแปดปี กู้ลี่เซิงล่าถอยตามสำนักงานไปรษณีย์จากภัยสงครามมาถึงเมืองกุ้ยหยาง มลฑลกุ้ยโจว หลังจากหลายปีจึงเริ่มสอนมวยไท่จี๋ที่นั่น
ปี 1944 มีการจัดงานการกุศลบริจาคเพื่อผู้ลี้ภัย (ภัยสงคราม) ในกุ้ยหยาง กู้ลี่เซิงขึ้นเวทีแสดงกระบี่ไท่จี๋ ชื่อเสียงจึงเริ่มเป็นที่รู้จัก
ปี 1947 มีการจัดงานประลองยุทธ์ในกุ้ยหยางตามนโยบายส่งเสริมการฝึกวิทยายุทธ์ของทางการในเวลานั้น เพื่อเป็นกิจกรรมของสถาบันยุทธ์แห่งชาติประจำมลฑลกุ้ยโจว กู้ลี่เซิงเป็นหัวหน้ากรรมการตัดสิน และเป็นผู้จัดงานร่วมกับครูมวยชื่อดังอื่นๆ เช่น กู้หรู่จาง, กู้จิ่งจาง, หยางเซิน ต่างๆ กู้ลี่เซิงได้ขึ้นแสดงการผลักมือของมวยไท่จี๋ตระกูลหยางร่วมกับวังสือไห่, และยังแสดงกระบี่ไท่จี๋, ไท่จี๋ฉางเฉวียน, และมวยไท่จี๋วงแคบตระกูลหยาง ขณะที่หลูจื่อหลิง ศิษย์อาจารย์หยางเฉิงฝู่เป็นผู้ขึ้นแสดงมวยไท่จี๋ตระกูลหยางวงกว้าง ซึ่งจากครั้งนี้ทำให้กู้ลี่เซิงมีชื่อเสียง รู้จักในนามของ “สามกู้แห่งตะวันตกเฉียงใต้” (ซีหนานซานกู้) ร่วมกับครูมวยจื้อหรานเหมินฉายาฝ่ามือเหล็กกู้หรู่จาง และราชันย์มวยแห่งตะวันตกเฉียงใต้กู้จิ่งจาง
ว่ากันว่า ครั้งหนึ่งมีครูมวยทงปี้และสิ่งอี้ซึ่งเดินทางมาจากซานตงนามหวังโหม่ว (โหม่วเป็นคำใช้แทนการเรียกชื่อจริง) ฝ่ามือพิจ่างของมวยทงปี้ของเขานั้นหนักนับพันชั่ง มียอดฝีมือไม่น้อยพ่ายแพ้ภายใต้การพิ (ฝ่ามือผ่า) เดียวของเขา เมื่อครั้งที่กู้ลี่เซิงประลองกับหวังโหม่วผู้นี้ พอสัมผัสก็เกาะติดคุมศอกทั้งสองข้างของหวังไว้แล้ว พลังที่ปานพลังผ่าขุนเขาไท่ซานของหวังไม่มีที่ใช้ จะก้าวไปข้างหน้าก็เหมือนเจอเหวลึก จะถอยก็เหมือนเหยียบบนผิวน้ำแข็งบาง กู้ลี่เซิงปล่อยเน่ยจิ้นออกมาหนึ่งครั้ง หวังก็ปลิวออกไปสี่เมตร ร่างกายกระแทกเข้ากับประตูแตกในท่านั่งทะลุเข้าไปในประตู ก้นของเขายังนั่งอยู่บนบานประตูทะลุไปยังด้านหลัง
ไม่เพียงแต่มวยไท่จี๋ กู้ลี่เซิงยังมีวิชาแพทย์จีนสูงล้ำ มีปีหนึ่งลูกชายกู้ลี่เซิงร่วมงานปลูกต้นไม้ประจำเมือง ไม่ทันระวังถูกจอบของคนอื่นสับโดนหัวแตกกว้าง เมื่อนำส่งโรงพยาบาลหมอบอกว่าไม่รอดแล้ว กู้ลี่เซิงจึงบอกว่าให้หมอทำการเย็บแผลห้ามเลือด ที่เหลือตัวเองจะจัดการเอง หลังจากนั้นกู้ลี่เซิงใช้วิชาแพทย์จีนค่อยๆ รักษาลูกชายด้วยตัวเอง หลังจากหนึ่งปีก็หายเป็นปกติ เป็นที่น่าอัศจรรย์ของคนที่ได้เห็นเป็นอย่างยิ่ง
ต่อมาเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรม เนื่องจากกู้ลี่เซิงเคยเผยแพร่มวยในสถาบันยุทธ์แห่งชาติ จึงถูกรัฐบาลคอมมิวนิสต์จับกุมเข้าคุก ภายหลังออกจากคุกมาก็มีเหตุให้ลูกชายคนเล็กเสียชีวิต กู้ลี่เซิงไม่ยอมเอาเผาศพลูกชายตามนโยบายรัฐบาลเวลานั้น แต่แอบเอาไปฝังตามธรรมเนียมดั้งเดิม ทำให้ภรรยาของตัวเองแจ้งทางการและตัดความสัมพันธ์ (เวลานั้นลูกฟ้องแม่ สามีฟ้องเมียเยอะแยะ) ต่อมามีเหตุอื่นหลายอย่างสุดท้ายกู้ลี่เซิงจึงถูกจับเข้าคุกอีกครั้ง และเสียชีวิตในคุกในปลายปี 1978
ประวัติการจัดกิจกรรมการต่อสู้และแข่งขันมวยต่างๆ ในกุ้ยหยางและการแสดงมวยของกู้ลี่เซิงนั้น ถูกบันทึกอยู่ในบันทึกประวัติวัฒนธรรมเมืองกุ้ยหยางเขตหนานหมิงจนถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามการสอนของกู้ลี่เซิงนั้นมีปัญหาอย่างหนึ่ง เนื่องจากกู้ลี่เซิงเป็นคนแรกๆ ที่นำมวยไท่จี๋เผยแพร่ในกุ้ยหยาง ดังนั้นการเผยแพร่ในช่วงต้นจึงเน้นที่กิจกรรมหมู่ เน้นสอนคนจำนวนมากตามนโยบายส่งเสริมมวยเพื่อสุขภาพของรัฐบาล กู้ลี่เซิงจึงสอนฟรีทั้งในห้องฝึกใหญ่และในสวนสาธารณะ มีผู้เรียนแต่ละครั้งหลายร้อยหลายพันคน ผู้ที่เคยเรียนมวยไท่จี๋สายกู้ลี่เซิงในกุ้ยหยางนั้นมีนับไม่ถ้วน โดยทั่วไปเป็นการเรียนเพียงท่าวงกว้างเท่านั้นแต่อ้างว่าเป็นสายหยางเส้าโหวของกู้ลี่เซิง ซึ่งในความเป็นจริงคุณภาพฝีมือและการถ่ายทอดที่แท้จริงของกู้ลี่เซิงนั้นถูกถ่ายทอดผ่านศิษย์ในเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
อาจารย์ฉือชิ่งเซิง (หนึ่งในอาจารย์ของผู้เขียน) เป็นศิษย์ในคนสุดท้ายของกู้ลี่เซิง เมื่อที่กู้ลี่เซิงพำนักในกุ้ยหยางนั้นได้เช่าบ้านครอบครัวสกุลฉืออยู่ เมื่ออาจารย์ฉือยังเด็กนั้นกู้ลี่เซิงรักใคร่เหมือนลูก จึงถ่ายทอดวิชาให้จนหมดสิ้น ทั้งชุดมวย ดาบ กระบี่ ทวน พลอง เมื่อที่อาจารย์ฉือยังวัยรุ่นกลับมาจากเข้าประจำการทหาร กู้ลี่เซิงรู้ว่าชีวิตตนเองเหลือไม่มาก จึงได้เรียกอาจารย์ฉือมาถ่ายรูปด้วยเพื่อเป็นหลักฐานการเป็นศิษย์อาจารย์ (สมัยนั้นชอบถ่ายรูป) ถือเป็นศิษย์ในเพียงคนเดียวที่มีรูปร่วมกับกู้ลี่เซิง
อาจารย์ฉือชิ่งเซิงสืบทอดปณิธานเผยแพร่มวยไท่จี๋ ไม่เคยเปลี่ยนรูปแบบมวยตามกระแสนิยม (จีนยุคหลังนิยมชุดแข่งขัน) แม้อาจารย์ฉือจะไม่นิยมโปรโมทตัวเอง แต่ก็ยังเป็นที่รู้จักในหมู่ครูมวยไท่จี๋เลื่องชื่อทั้งหลาย หลานอาจารย์ชุยอี้ซื่อคือชุยจ้งซาน หลี่เต๋ออิ้งครูมวยไท่จี๋สายแข่งขัน หยางหย่งหลานอาจารย์หยางเส้าโหว และครูมวยท่านต่างๆ ต่างก็มีความสัมพันธ์อันดีกับอาจารย์ฉือชิ่งเซิง ปัจจุบันอาจารย์ฉือนำเอามวยไท่จี๋วงกว้างชุดเก่าเข้าสมัครมรดกชาติ เพื่อให้เป็นที่รู้จักและรักษาการสืบทอดไว้ และยังอนุญาติให้ผมเผยแพร่มวยไท่จี๋สายกู้ลี่เซิงไปทั่วโลกได้
เรียบเรียงโดย
เหลียง