มวยไท่จี๋ตระกูลหยางแบบเก่า
- 25/07/2019
- Posted by: Liang
- Category: Xiaochen's blog ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
ชื่อเรื่อง: มวยไท่จี๋ตระกูลหยางวงกว้างแบบเก่าสิบสามท่า/杨氏太极拳老架十三势大功架
ผู้แต่ง: เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมเขตหนานหมิง/จางจิ้งหยี่
ผู้แปล: เหลียง
มวยไท่จี๋หรือไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก) คือศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าของจีนโบราณ หลังจากหลายร้อยปีมวยไท่จี๋ก็สืบทอดไปทั้งในและนอกประเทศแบ่งเป็นสำนักเฉิน, หยาง, อู่, อู๋, ซุน ต่างๆ มวยไท่จี๋ตระกูลหยางคือหนึ่งในสำนักหลักอันสำคัญ มวยไท่จี๋ตระกูลหยางวงกว้างแบบเก่าสิบสามท่าคือมวยไท่จี๋ตระกูลหยางที่บรรพชนรุ่นแรกหยางลู่ฉาน (1799-1872) ปรมาจารย์ผู้ก่อตั้งวิชาเป็นผู้ให้กำเนิด หรือก็คือมวยไท่จี๋ตระกูลหยางที่มีรูปแบบเดียวกับในยุคต้น ซึ่งถึงปัจจุบันมีประวัติยาวนานมาถึง 200 กว่าปีแล้ว
มวยไท่จี๋ตระกูลหยางแบบเก่าสิบสามท่าแบบกว้างคือมวยไท่จี๋ตระกูลหยางที่ปรมาจารย์หยางลู่ฉานถ่ายทอดให้แก่บุตรชาย (ปรมาจารย์รุ่นสองหยางปานโหว, หยางเจี้ยนโหว) ถ่ายทอดสืบต่อถึงหลาน (รุ่นที่สามอาจารย์หยางเส้าโหว) จากหลานถ่ายทอดให้แก่ลูกศิษย์กู้ลี่เซิง (ผู้สืบทอดมวยไท่จี๋ตระกูลหยางรุ่นที่สี่) จึงถ่ายทอดสืบต่ออีกครั้งยังศิษย์สืบทอดปิดประตูฉือชิ่งเซิง (ศิษย์ปิดประตูหมายถึงศิษย์คนสุดท้าย)
มวยไท่จี๋ตระกูลหยางวงกว้างแบบเก่าสิบสามท่ามีคุณค่ารวมทั้งความแตกต่างที่สำคัญกับชุดมวยแบบดั้งเดิมและแบบแข่งขันดังนี้
หนึ่ง คือการประสานวงฉันซือนอกและใน (ฉันซือเชวียน-หมายถึงวงการหมุน ในตระกูลหยางบางทีเรียกหลอเสวียนจิ้น ไม่ใช่ฉันซือจิ้นแบบตระกูลเฉิน จุดนี้ตัวผู้แต่งคือจางจิ้งหยี่นำเนื้อหามาจากแหล่งอื่น คือจากหนังสือของศิษย์อาจารย์เถียนเจ้าหลิน เข้าใจว่าเนื้อหาที่จะสื่อนั้นเหมือนกันจึงมีการหยิบมาใช้ ซึ่งมักเป็นที่นิยมทำกันในสังคมสื่อของจีน – ผู้แปล) รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อวงฉันซือภายใน ท่วงท่ามวยนั้นกระชับ จิ้นแกร่งเก็บซ่อนภายใน วงฉันซือค่อนข้างเล็ก การเคลื่อนไหวยิ่งละเอียดอ่อน ความเร็วค่อนข้างเชื่องช้านุ่มนวลอย่างสม่ำเสมอ ฟาจิ้นเปลี่ยนเป็นภายนอกอ่อนหยุ่นแต่แกร่งในและเก็บซ่อนในศูนย์กลาง ให้ความสำคัญยิ่งกับการเคลื่อนหมุนวงฉันซือภายในให้มาขับเคลื่อนวงฉันซือภายนอกให้เคลื่อนไหว อาศัยเน่ยชี่ (ชี่ภายใน) มาเคลื่อนท่าร่างภายนอก อาศัยเอวมาเคลื่อนกาย อาศัยกายเคลื่อนมือ จนกระทั่งเน่ยชี่สามารถขับเคลื่อนอวัยวะภายในทั่วร่างรวมทั้งแขนขาและโครงกระดูกทั้งหมด เวลาฝึกกง (รำมวย) ต้องให้จิ้นส่งถึงปลายยอดทั้งสี่ เป็นการฝึกฝนที่เกิดจากการขับเคลื่อนของในนอกประสานและการพัฒนาของอี้และชี่จากภายใน
สอง คือฟาจิ้นหวนกลับรอบสอง (ฟาเออร์หุยจิ้น) การฟาจิ้นนี้เปรียบแล้วอ่อนหยุ่นซ่อนเร้นกว่ามวยไท่จี๋ตระกูลเฉิน ซึ่งหลังฟาจิ้นจบท่าแล้วก็ชักนำ-สะเทิน (หยิ่นฮว่า) กลับเล็กน้อย แล้วฟาจิ้นอีกครั้ง นี่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบยุคต้นของมวยไท่จี๋ตระกูลหยางในช่วงที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาจากการสืบทอดของมวยไท่จี๋ตระกูลเฉิน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นมวยไท่จี๋ตระกูลหยางวงกลาง, วงกว้าง ทั้งหมดต่างก็มีการฟาจิ้นแบบเก็บซ่อนภายในนี้
สาม คือชุดมวยท่วงท่ากว้างใหญ่ เชื่องช้าราบรื่น ท่วงท่านุ่มนวลเชื่องช้า เปิดขยายกว้าง เก็บแข็งแกร่งอ่อนหยุ่นไว้ภายใน เบาและหนักครบถ้วน รับสืบทอดเอา เผิง, หลีว์, จี่, อ้าน, ไฉ่, เลี่ยะ, โจ่ว, เค่า, ทั้งแปดประตู (แปดจิ้น) ; ก้าวหน้า, ถอยหลัง, เหลียว (ซ้าย), แล (ขวา), มั่น (กลาง) ห้าก้าว (ทิศทางห้าธาตุ) ซึ่งเป็นทั้งโครงสร้าง, เนื้อหาภายใน, และรูปแบบการเคลื่อนไหวของมวยไท่จี๋สิบสามท่าไว้อย่างหมดสิ้น ชุดมวยแบ่งเป็นหกส่วน สืบทอดและรวบรวมไว้ซึ่งหลักโบราณและชุดมวยแบบเก่าตามการฝึกแบบสืบทอดลับซึ่งปรากฏใน “เคล็ดทั้งเก้าของหยางปานโหว” (ปานโหวจิ่วเจวี๋ย) ไว้อย่างครบครัน
สี่ คืออาศัยปรัชญาและทฤษฎีไท่จี๋มาเป็นเนื้อหาและหลักการในการฝึก อาศัยนิ่งสงบสยบเคลื่อนไหว, แข็งอ่อนประสาน, ยืมแรงคล้อยตาม, อาศัยอ่อนแอชนะแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นคุณจุดเด่นของวิชามวยต่อสู้ด้วยมือเปล่าไท่จี๋ตระกูลหยาง ขณะเดียวกันยังมีคุณค่าที่สามารถดื่มด่ำและเพลิดเพลินกับศาสตร์วิชา และยังเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงอีกด้วย
อาจารย์ฉือชิ่งเซิงยึดมั่นตามคำสั่งสอนของอาจารย์กู้ลี่เซิงผู้ล่วงลับ ทุ่มเทชีวิตด้วยความพยายามทั้งกายใจมุ่งมั่นศึกษาหลักและวิชามวยไท่จี๋เฉวียนอย่างไม่ขาดตอน นับถึงตอนนี้ร่ำเรียนฝึกฝนวิชามวยไท่จี๋มามากกว่า 60 ปีแล้ว ตอนนี้ได้นำวิชามวยไท่จี๋ตระกูลหยางแบบดั้งเดิมนี้สมัครมรดกวัฒนธรรมชาติ เพื่อให้วิชามวยไท่จี๋ตระกูลหยางวงกว้างแบบเก่าสิบสามท่านี้ได้รับการปกป้อง เผยแพร่ และสืบทอดสืบต่อไป