บทสัมภาษณ์ไท่จี๋แม็กฝรั่งเศส
- 15/07/2019
- Posted by: Liang
- Category: Xiaochen's blog ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
อาจารย์เหลียงได้รับสัมภาษณ์จากนิตยสารไท่จี๋ต่างประเทศของฝรั่งเศส Taichimag ฉบับที่ 19 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ครูมวยไท่จี๋ชาวไทยได้รับเกียรตินี้ การสัมภาษณ์ครอบคลุมเนื้อหาของมวยไท่จี๋ในหลายหัวข้อ ทั้งยังเป็นการแนะนำอาจารย์เหลียงให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก ภายหลังบทความนี้ยังถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ และแปลกลับมาเป็นภาษาไทยอีกทีโดยอาจารย์เหลียงเอง จึงสามารถรับรองความถูกต้องของการแปลได้ ซึ่งเนื้อหาจากแม็กกาซีนมีดังต่อไปนี้
อาจารย์เหลียงเต๋อหัว (กวางตุ้ง Leung Takwah) กำเนิดที่ฮ่องกง อาศัยและเติบโตที่ประเทศไทยตั้งแต่แปดขวบ บิดาเป็นคนฝอซานดังนั้นเมื่อเหลียงเต๋อหัวยังเด็กจึงได้เรียนมวยสกุลหงและยังได้เรียนมวยไท่จี๋ตระกูลอู๋ซึ่งเป็นมวยไท่จี๋ที่นิยมในฮ่องกง
เมื่ออายุ 23 เหลียงได้ค้นหามวยไท่จี๋ที่เขาสนใจจากครูมวยหลายท่าน ภายหลังยังเดินทางยังประเทศจีนและได้เป็นศิษย์ในสืบทอดสายวิชากู้ลี่เซิง (กู้หลี่ว์ผิง) ผ่านอาจารย์ฉือชิ่งเซิง ศิษย์ในคนสุดท้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ของกู้ลี่เซิง (กู้ลี่เซิงเป็นศิษย์ของทั้งอาจารย์หยางเส้าโหวและหยางเฉิงฝู่)
ปัจจุบันเหลียงเต๋อหัวสอนมวยไท่จี๋ในประเทศไทย และยังเดินทางสอนมวยไท่จี๋ทั่วทั้งในยุโรป, อเมริกา และเอเชียในเวิร์คช็อปและคลาสต่างๆ
Taichimag No.19, ปารีส ฝรั่งเศส
Taichimag: สวัสดีครับคุณเหลียง อยากขอให้คุณแนะนำตัวเองกับผู้อ่านหน่อยได้หรือไม่? คุณเป็นคนไทยที่ถือกำเนิดในจีนใช่ไหม? คุณเริ่มฝึกมวยได้อย่างไรและตั้งแต่เมื่อไหร่?
สวัสดีครับ ชื่อจีนของผมคือเหลียงเต๋อหัว (จีนกลาง) ผมเกิดที่ฮ่องกง ส่วนคุณพ่อผมมาจากฝอซานในมลฑลกวางตุ้ง (จีนแผ่นดินใหญ่) ส่วนแม่เป็นคนไทยครับ หลังจากที่ครอบครัวเรามีปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาอื่นหลายๆ อย่างที่ฮ่องกง เราจึงได้ย้ายครอบครัวมายังประเทศไทยเมื่อตอนที่ผมอายุได้แปดขวบและผมได้เติบโตที่นั่น เนื่องจากคุณพ่อผมเป็นคนฝอซานจึงเคยเรียนมวยสกุลหงจากที่นั่น และยังเคยเรียนมวยไท่จี๋ตระกูลอู๋จากฮ่องกงมาเล็กน้อย ผมจึงเคยเรียนมวยเหล่านี้เมื่อตอนยังเด็ก ต่อมาผมมีเรื่องชกต่อยตอนอยู่ชั้นมัธยมปลาย คุณพ่อผมเข้าใจว่ามวยทำให้ผมก้าวร้าว จึงเลิกสอนมวยผมไป
หลังจากที่ผมหนีออกจากบ้านและเลิกเรียนมหาวิทยาลัยในครั้งแรกจากปัญหาทางบ้านเมื่ออายุ 23 ผมได้พบกับครูมวยไท่จี๋และเรียนมวยกับท่านเหล่านั้น หลังจากนั้นเมื่อผมกลับเข้ามหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ก็ได้สอนมวยไท่จี๋ที่นั่น ภายหลังผมยังเดินทางไปประเทศจีนเพื่อศึกษาเพิ่มเติมทั้งมวยไท่จี๋และมวยอื่นๆ และได้เป็นศิษย์ในสืบทอดในมวยไท่จี๋สายกู้ลี่เซิง (กู้หลี่ว์ผิง) ซึ่งเป็นศิษย์ของทั้งหยางเส้าโหวและหยางเฉิงฝู่ ปัจจุบันผมสอนมวยไท่จี๋ทั้งในเอเชียและยุโรป และกำลังมีเวิร์คช็อปทั่วโลก
Taichimag: อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณอยากฝึกมวยไท่จี๋ในครั้งแรก?
เริ่มแรกคือเมื่อผมยังเด็กผมมีสุขภาพไม่ดี คุณพ่อผมจึงสอนมวยเพื่อให้ผมแข็งแรงขึ้น ซึ่งตอนนั้นผมวิ่งเร็วๆ ยังไม่ได้เลย แต่หลังจากที่ฝึกมวยแล้วสุขภาพผมก็ดีขึ้น
ภายหลัง เมื่อผมเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปีแรก ผมเริ่มมีปัญหากับทางบ้าน เนื่องจากครอบครัวผมเป็นครอบครัวจีนวัฒนธรรมเก่า นั่นหมายความว่าผมไม่สามารถปฏิเสธความต้องการของครอบครัวได้ ผมจึงหนีจากความกดดันนั้นและเลิกเรียนหนังสือ ผมเริ่มทำงานผิดกฏหมายซึ่งช่วงนั้นผมทำโทรศัพท์โทรราคาถูกแบบผิดกฏหมายโดยการขโมยเบอร์มือถือ ทั้งยังเรียนการสะเดาะกุญแจ, ล้วงกระเป๋า, และเรื่องผิดกฏหมายหลายอย่าง
วันหนึ่ง ผมได้ดูภาพยนต์เรื่องจางซานเฟิง ภาพยนต์เกี่ยวกับมวยไท่จี๋และการที่จางซานเฟิงค้นพบสัจธรรมและตัวตนและสร้างมวยไท่จี๋ขึ้นมา ซึ่งนั่นทำให้ผมหันกับมามองตัวเองอีกครั้งและผมเริ่มคิดว่าวิถีชีวิตผิดกฏหมายเช่นนี้ไม่ใช่อะไรที่ผมต้องการ ผมจึงเริ่มคิดเปลี่ยนตัวเองอีกครั้ง และในขณะเดียวกันผมก็อยากเรียนมวยไท่จี๋อีกครั้งด้วย ผมจึงเริ่มมองหาครูสอนมวยไท่จี๋ ในเวลานั้นผมมีเงินเก็บไม่น้อยจากธุรกิจผิดกฏหมาย ผมจึงนำเงินเดินทางไปกรุงเทพเนื่องจากเพื่อนผมแนะนำว่าในกรุงเทพมีมวยไท่จี๋ตามสวนเต็มไปหมด ซึ่งที่ผมพบนั้นผิดจากที่ผมคิดเนื่องจากมวยไท่จี๋เป็นเพียงมวยเพื่อสุขภาพตามสวนเท่านั้น (เมื่อก่อนผมเข้าใจว่ามวยไท่จี๋จะเป็นสำนักเหมือนในหนัง เนื่องจากผมมาจากบ้านนอก ไม่รู้เรื่องราวโลกภายนอกเลยแม้แต่นิดเดียว) แต่ผมก็ลองฝึกมวยไท่จี๋สายต่งอิงเจี๋ยซึ่งแทบจะเป็นมวยไท่จี๋สายเดียวในประเทศไทยเวลานั้น และขณะเดียวกันผมก็สืบหาครูมวยที่สอนผมส่วนตัวได้จริงๆ หลังจากสองเดือน ผ่านการแนะนำของหลายท่าน ผมก็ได้พบกับอาจารย์คนแรกที่สอนมวยไท่จี๋วงกว้างสายหยางเฉิงฝู่แก่ผม ผมพักกับท่านที่ร้านขายของแห้งนำเข้าจากจีนโดยช่วยงานในร้านพร้อมๆ กับเรียนมวยไท่จี๋ หลังจากนั้นหลายเดือนท่านก็บอกผมว่าผมไม่ต้องเรียนกับท่านแล้ว เนื่องจากลูกพี่ลูกน้องผู้พี่ของท่านจะเดินทางมาจากจีน ให้ผมเรียนกับลูกผู้พี่ท่านแทน ซึ่งลูกผู้พี่ท่านยังรู้มวยสายหยางเส้าโหวด้วย ซึ่งต่อมาท่านก็เป็นครูมวยคนแรกในสายเส้าโหวของผม ผมไม่เพียงแต่ได้เรียนท่ารำ แต่ยังได้เรียนหลักการเปลี่ยนแปลงของท่ารำแต่ละแบบนับตั้งแต่มวยไท่จี๋วงกว้างแบบเก่าไปจนถึงวงแคบ มวยเร็ว และอื่นๆ จากอาจารย์ท่านนี้
นอกจากวิชามวยแล้วนี้ท่านยังสอนผมหลักปรัชญา วิชาอี้จิง รวมทั้งหลักการใช้ชีวิตให้กับผม นำผมกลับสู่ชีวิตที่ถูกต้องและควรจะเป็นอีกครั้ง ดังนั้นหลังจากที่ผมเรียนมวยอยู่เกือบสามปี ผมจึงกลับไปเริ่มต้นชีวิตผมอีกครั้ง ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเรียนหนังสืออีกครั้ง ภายหลังเมื่อที่ครอบครัวผมประสบปัญหาทางการเงินและไม่ได้ส่งเงินให้ผมเพื่อเรียนหนังสือ ผมก็ได้สอนมวยไท่จี๋ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นส่งเสียตัวเองเรียน และมวยไท่จี๋ก็เปลี่ยนชีวิตผมอีกครั้ง นับแต่นั้นผมทั้งสอนและเรียนมวยไท่จี๋ ทั้งยังเดินทางไปเรียนเพิ่มเติมจากประเทศจีน เข้าเป็นศิษย์ในสายกู้ลี่เซิงจนเริ่มสอนแบบเปิด และเดินทางสอนมวยไท่จี๋ไปทั่วโลก
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ผมเริ่มเรียนมวยไท่จี๋เพราะผมอยากมองหาสิ่งที่มีคุณค่าที่ผมสามารถทำและสร้างคุณค่าในชีวิตของตัวเอง และสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองไปยังวิถีชีวิตที่ดีขึ้นได้ครับ
Taichimag: ผมเห็นคุณให้ความสำคัญกับคุณภาพของการการซง/ 松 (การคลาย) ในการสอนของคุณอย่างมาก อยากให้คุณอธิบายว่าทำไมมันถึงสำคัญกับคุณขนาดนี้?
ในมวยไท่จี๋นั้น หลักสำคัญที่สุดคือการไม่ใช้แรง ถ้าคุณใช้แรงนั่นไม่ใช่มวยไท่จี๋ และการจะฝึกไม่ใช้แรงนั้นคุณต้องฝึกซง ดังนั้นการซงจึงเป็นหัวใจสำคัญของการฝึก ไท่จี๋เฉวียนนั้นคือมวยภายใน หมายความว่าเราไม่ให้สำคัญกับการเคลื่อนไหวสะเปะสะปะภายนอก แต่ใส่ใจที่การเคลื่อนไหวภายในเป็นหลัก เช่นการใช้อี้ (จิต) และชี่ เราจึงต้องซงเพื่อคลายความเกร็งออกไปจากร่างกายและปล่อยให้ร่างกายเคลื่อนไหวไปตามการนำของอี้และชี่ ดังนั้นหากเราซงได้ เราก็สามารถเคลื่อนไหวโดยปราศจากความเกร็ง อี้และชี่ก็จะสามารถเคลื่อนไหวผ่านร่างกายได้อย่างอิสระ และสามารถสร้างคุณภาพของแรงจิ้นในร่างกายของเราอีกด้วย ดังนั้นผมจึงกล่าวได้ว่าเราไม่สามารถมีจิ้นหรือแรงของมวยไท่จี๋โดยปราศจากการซง
Taichimag: คุณคิดว่าคุณภาพที่ต้องการในการฝึกมวยไท่จี๋นั้นเป็นสิ่งที่ธรรมชาติอยู่แล้วหรือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ปกติตามธรรมชาติที่เราจะได้จากการฝึกฝนอย่างทุ่มเทเท่านั้น?
ในภาษาจีน เมื่อเราพูดถึงมวยไท่จี๋ เราจะอ้างถึงคำว่า “จื้อหราน” หรือ “ธรรมชาติ” อยู่ตลอดเวลา หมายความว่าเราต้องฝึกมวยไท่จี๋ให้สอดคล้องกับหลักธรรมชาติในทุกๆ การเคลื่อนไหวให้ได้มากที่สุด คุณต้องผ่อนคลาย คลายข้อต่อและร่างกายทั้งหมด ผสานกายกับจิตเข้าด้วยกัน หายใจตามธรรมชาติ ปล่อยให้ชี่จมอย่างสงบ แต่ปัญหาก็คือเรามักจะใช้ชีวิตด้วยพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง เราใช้แรงเกร็งจากกล้ามเนื้อมากเกินไป อ่อนแอจากงานคอมพิวเตอร์ สะสมไปด้วยความเครียดและความเกร็งทำให้ชี่ลอยขึ้น ลมหายใจก็เปลี่ยนเป็นสั้นและตื้น และถึงแม้ว่าเราจะมีการออกกำลังกายแต่ก็มุ่งเน้นไปที่การพัฒนากล้ามเนื้อที่เกินความจำเป็นและไม่เคยต้องใช้งานในชีวิตประจำวัน และอื่นๆ
ดังนั้นเมื่อเราเพิ่งเริ่มฝึกมวยไท่จี๋ เราจึงไม่สามารถแยกแยะธรรมชาติจากไม่ธรรมชาติได้เลย การฝึกมวยไท่จี๋จึงต้องมุ่งแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมชาติ ซึ่งการฝึกเช่นนี้ย่อมทำให้เรารู้สึกผิดธรรมชาติเพราะเราใช้พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องจนเป็นธรรมชาติไปแล้วนั่นเอง จนกว่าเราจะคุ้นชินกับโครงสร้าง พฤติกรรม และความรู้สึกที่สอดคล้องกับธรรมชาติจริงๆ แล้ว เราถึงจะสามารถรู้ถึงการฝึกมวยไท่จี๋ตามหลักธรรมชาติได้
Taichimag: คุณฝึกยืนจ้านจวงหรือไม่? หากใช่ มันสำคัญกับคุณอย่างไร? คุณแนะนำให้ฝึกยืนจ้านจวงนานแค่ไหน?
แน่นอน ผมฝึกฝนการยืนจ้านจวงและมันก็เป็นการฝึกที่สำคัญการฝึกหนึ่งในมวยไท่จี๋ ในสายสำนักของผมนั้นมีการยืนจ้านจวงหลายท่า และทุกท่าก็จะมีเป้าหมายการฝึกเฉพาะ แต่โดยหลักการทั่วไปแล้วพวกมันจะให้ผลหลักเหมือนกัน การยืนจ้านจวงช่วยให้เราคลายความเกร็งออกจากร่างกายของเรา ช่วยในการจัดความสอดคล้องอย่างถูกต้องของร่างกาย ขยายร่างกายเราออกไปทั้งหกทิศทาง ช่วยเพิ่มความรู้สึกและความเข้าใจในการใช้และการทำงานของภายใน เช่น เสิน, อี้, และชี่ และช่วยให้เราจมชี่ลงสู่ตันเถียนได้ด้วย
จ้านจวงยังช่วยให้เราจัดร่างกายและจิตเข้าด้วยกันและเติมเต็มร่างกายของเราด้วยชี่ ดังนั้นมันจึงมีประโยชน์ทั้งต่อการต่อสู้ป้องกันตัวและสุขภาพ
ในการฝึกจ้านจวง ผมแนะนำให้ยืนระหว่าง 20 ถึง 40 นาทีก็พอ หากเราใช้เวลายืนสั้นไปเราจะไม่สามารถได้ประโยชน์เพียงพอเท่าที่ควร แต่หากเรายืนนานไป ร่างกายเราจะเริ่มเหนื่อยและเมื่อยล้าจนจิตใจเราไม่สามารถประสานกับร่างกายได้อีกต่อไป และยังอาจจะทำให้ร่างกายเกิดการบาดเจ็บได้ด้วย
Taichimag: ว่ากันว่าสองพี่น้องหยางเส้าโหวและหยางเฉิงฝู่ต่างก็เรียนมวยจากอาจารย์ในตระกูลเดียวกัน แต่กลับมีความแตกต่างกันอย่างมาก คุณสามารถอธิบายความแตกต่างของทั้งสองสายนี้ได้หรือไม่?
ผมสามารถกล่าวได้ว่า ทั้งสองท่านนั้นต่างก็เรียนมวยของตระกูลเช่นเดียวกัน แต่จากที่ผมรู้ ในสมัยก่อนนั้นชุดมวยในตระกูลหยางจะมีการเปลี่ยนแปลงที่หลากหลาย ดังนั้นมันจึงมีอิสระในการปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะนิสัยและทักษะถนัดของผู้ที่ฝึก นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมอาจารย์รุ่นเก่าๆ มักจะรำมวยไม่เหมือนกัน เราเริ่มมีชุดมวยมาตรฐานหลังจากที่หยางเฉิงฝู่ตีพิมพ์ชุดมวยในหนังสือของท่าน และหลังจากนั้นรัฐบาลก็นำไปเป็นชุดมวยมาตรฐานชุดสั้น
ในอดีตนั้น ครูมวยตระกูลหยางทุกท่านต่างก็เรียนมวยชุดเดียวกันแต่แตกต่างกัน พูดได้ว่าครูมวยตระกูลหยางนั้นต่างฝึกมวยชุดพื้นฐานเดียวกัน นั่นคือชุดมวยยาวหรือชุดมวยช้า แต่พวกท่านเหล่านั้นอาจจะแสดงออกมาต่างกัน บุตรชายทั้งสองของหยางลู่ฉานคือหยางปานโหวกับหยางเจี้ยนโหวต่างก็เรียนมวยชุดเดียวกันจากบิดาแต่พวกท่านกลับฝึกและแสดงออกมาอย่างแตกต่าง ภายหลังหยางเส้าโหวเรียนมวยจากลุงหยางปานโหว ส่วนหยางเฉิงฝู่เรียนมวยจากบิดาคือหยางเจี้ยนโหว นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพวกท่านต่างมีทักษะที่แตกต่างกัน เนื่องจากผมเคยเรียนทั้งสายหยางเส้าโหวและหยางเฉิงฝู่ ผมพบว่าในชุดมวยพื้นฐานนั้น ทั้งหยางเส้าโหวและหยางเฉิงฝู่ต่างก็เรียนชุดมวยพื้นฐานวงกว้างชุดเดียวกัน แต่หยางเฉิงฝู่เน้นที่การเคลื่อนไหวเชื่องช้า และการเปิดขยายด้วยการยืนกว้างและต่ำ ให้ความสำคัญกับการจมชี่ การใช้พลังนั้นตรงและเรียบง่าย ส่วนหยางเส้าโหวนั้น แม้ชุดมวยจะดูเล็กแคบกว่าแต่ก็ยังเต็มเปี่ยมด้วยการยืดขยายภายใน ในแต่ละท่าจะมีวงเพิ่มมากกว่าและมีพวกโสวฝ่า (รูปแบบเทคนิคมือ) มากกว่า เน้นที่อี้ชี่ และมีการเคลื่อนไหววงเป็นรูป “8” ทั้งภายนอกและภายในและสร้างการเคลื่อนไหวแบบหลอเสวียนหรือวงจรแบบสกรู และหยางเส้าโหวยังเน้นที่วงแคบและการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว ยังเน้นที่การฟาจิ้น, เทคนิครูปมือ, การก้าวเท้า, และการต่อสู้อิสระ ในการผลักมือนั้น ในสายเส้าโหวจะมีรูปแบบผลักมือที่มากกว่าสายเฉิงฝู่ และเน้นที่การผลักมือก้าวเท้ามากกว่า รวมทั้งเน้นที่การผลักมือและท่าเท้าอิสระที่เรียกว่า “ล่านไฉ่ฮวา” (ย่ำดอกไม้อย่างอิสระ) แต่ดูเหมือนว่าสายเฉิงฝู่จะเน้นที่ผลักมือยืนนิ่งและการหยั่งรากมากกว่า
Taichimag: ดูเหมือนว่าการผลักมือในตระกูลหยางจะถูกทำให้เรียบง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสายตระกูลอู๋ของอู๋เจี้ยนเฉวียน โดยส่วนตัวคุณคิดเห็นว่าอย่างไรเกี่ยวกับการฝึกนี้?
โดยปกติการผลักมือเป็นเพียงการฝึกอย่างหนึ่ง เมื่อเรากล่าวถึงการผลักมือหรือทุยโส่ว มันจึงหมายถึงรูปแบบชุดฝึกผลักมือ ไม่ใช่การผลักมือแข่งขันหรือแม้แต่การผลักมืออิสระที่มุ่งเอาชนะแต่อย่างใด แต่ในปัจจุบันนี้ผู้ฝึกส่วนใหญ่ไม่ได้ฝึกผลักมือกันจริงๆ พวกเขาเปลี่ยนมันให้เป็นรูปแบบการผลักง่ายๆ ที่ใช้ผลักกันโดยไม่มีรูปแบบของการผลักมือหรือแม้แต่เปลี่ยนมันไปเป็นการแข่งขันที่มุ่งเอาชนะโดยไม่เลือกวิธี พวกเขาพยายามเก่งผลักมือเพื่อผลักกันแต่ไม่ใช่ทักษะการต่อสู้ป้องกันตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วนี่ไม่ใช่เป้าหมายของมวยไท่จี๋ เช่นที่อาจารย์มวยตระกูลหยางกล่าวไว้ “มวยไท่จี๋นั้นฝึกเพื่อสุขภาพและการต่อสู้ป้องกันตัว หาใช่เพื่อผลักมือ” และเนื่องจากการผลักมือนั้นเป็นเครื่องมือในการฝึก ดังนั้นเราจึงต้องการมีชุดรูปแบบการผลักมือที่หลากหลายเพื่อฝึกฝนในหลากหลายเป้าหมาย มวยไท่จี๋ตระกูลอู๋นั้นมาจากมวยไท่จี๋ตระกูลหยาง ดังนั้นที่จริงแล้วตระกูลหยางเองก็มีชุดฝึกผลักมือที่หลากหลายและหลายชุดฝึกก็เหมือนกับตระกูลอู๋ ตัวอย่างเช่นในสายสำนักของผมนั้นเราเริ่มจากการผลักมือเดี่ยวหลายชุด ตามด้วยการผลักมือคู่อีกหลายชุด จากนั้นจึงตามด้วยชุดผลัดมือสี่ทิศตรง (ซื่อเจิ้งทุยโส่ว) พร้อมด้วยการก้าวเท้า เช่น ก้าวสามถอยสาม, ห้าก้าวหรือก้าวดอกเหมย, ก้าวเท้าเก้าวิหาร, ก้าววงกลม, แล้วจึงตามด้วยการผลักมือแบบสี่ทิศเฉียงหรือต้าหลีว์พร้อมกับการก้าวอีกหลากหลายแบบ ซึ่งชุดผลักมือเหล่านี้เป็นการฝึกที่จะช่วยให้ผู้ฝึกสามารถพัฒนาและสร้างความคุ้นเคยกับวงของมวยไท่จี๋และทักษะต่างๆ เช่นแรงเกาะติด และแรงพื้นฐานทั้งแปด ได้แก่ เผิง, หลีว์, จี่, อ้าน, ไฉ่, เลี๊ยะ, โจ่ว, และเค่า ร่วมทั้งฝึกทักษะเหล่านี้ร่วมกับการก้าวเท้าแบบต่างๆ ซึ่งเราต้องแน่ใจว่าเราได้พัฒนาทักษะเหล่านี้อย่างถูกต้องเพียงพอก่อนที่จะฝึกการผลักมือและก้าวเท้าอย่างอิสระที่เรียกว่า “ล่านไฉ่ฮวา” และการสานโส่วหรือการประลองมืออิสระ และโดยทิศทางเช่นนี้เราจึงจะสามารถแน่ใจว่าเราสามารถรักษารูปแบบของมวยไท่จี๋ในการต่อสู้และประลองมือได้อย่างถูกต้องจริงๆ
Taichimag: คุณฝึกฟาจิ้นในการผลักมือหรือไม่?
แน่นอน ซึ่งในการฝึกผลักมือนั้นมีสี่ขั้นสำหรับการใช้ทักษะฝีมือของคุณ ได้แก่ ฟัง (ทิง), สะเทิน (ฮว่า), ควบคุม (หนา), ปล่อย (ฟา) ดังนั้นฟาจิ้นจึงเป็นจิ้นที่เราใช้ในขั้นสุดท้ายหลังจากที่เราควบคุมอีกฝ่ายได้และไม่จำเป็นต้องตามเกาะติดอีกต่อไปแล้ว ซึ่งการฟาจิ้นในการผลักมือนั้นคือ “ฉางจิ้น” หรือแรงยาว เป็นแรงที่เราใช้ส่งอีกฝ่ายออกไปโดยไม่ทำร้ายให้อีกฝ่ายบาดเจ็บ เมื่อที่เราฟาจิ้นในการผลักมือนั้นไม่ใช่เพราะเราต้องการฟาอีกฝ่ายออกไปเพื่อเอาชนะอีกฝ่าย เราฟาจิ้นออกไปเนื่องจากเราสามารถควบคุมอีกฝ่ายจากความผิดพลาดของเขาเอง เมื่อวงหรือแรงของอีกฝ่ายเกิดข้อผิดพลาดไปจากหลักมวยไท่จี๋ เมื่อนั้นเขาย่อมถูกควบคุมโดยการ “หนา” ซึ่งนี่เป็นความผิดพลาดของเขาเอง หาใช่เพราะเราพยายามจะผลักหรือดึงเขาเพื่อฟาเขาออกไป ความหมายก็คือเราฝึกการผลักมือเพื่อพัฒนาความถูกต้องในแรงจิ้นของเรา เพื่อให้เราสามารถฟังและสะเทินแรงอีกฝ่ายได้โดยไม่ถูกควบคุมจากอีกฝ่ายนั่นเอง
Taichimag: คุณสอนเรื่องการใช้จิตหรือ “อี้” อย่างไร? และฝึกได้อย่างไร?
คัมภีร์มวยกล่าวไว้ “อี้และชี่คือกษัตริย์ กระดูกและเนื้อคือขุนนาง” และมีกล่าวว่า “ใช้อี้ไม่ใช้กำลัง” ความหมายก็คือเราต้องใช้อี้หรือจิตของเราในการชี้นำและสั่งการร่างกาย เมื่ออี้เคลื่อน ร่างกายของเราก็เคลื่อนไหวตาม
ในการฝึกและการสอนของผมนั้น เราใช้อี้กำหนดทิศทั้งห้า ได้แก่ หน้า, หลัง, ซ้าย, ขวา, และกลาง เมื่อเราก้าวไปตามทิศทางของอี้นี่ก็คือก้าวหน้า เมื่อเราก้าวตรงข้ามก็คือถอยหลัง เมื่อเรามองไปทางซ้ายตามอี้นี่ก็คือเหลียวซ้าย เมื่อเรามองขวาไปกับอี้นี่ก็คือแลขวา อี้เราต้องรับรู้ถึงศูนย์กลางนี่ก็คือตั้งมั่นกลางหรือจงติ้ง นี่คือสิ่งที่เรารู้จักในนามของ “ห้าก้าว” ของมวยไท่จี๋ ดังนั้นอี้จึงเป็นตัวกำหนดที่มั่นของเราในพื้นที่ (space) เมื่อผมฝึกรำชุดมวยอี้ของผมต้องเคลื่อนไหวไปก่อน กำหนดทิศทางที่จะไปแล้วอี้ของผมจึงนำความรู้สึกและชี่ ชี่จึงนำมือและร่างกายทั้งหมดให้เคลื่อนไป นี่ก่อให้เกิดความรู็สึกภายในจากการที่อี้ดึงร่างกายไปยังทิศทางและเคลื่อนไหวร่างกายทั้งหมด ทั่วทั้งร่างกายจะต้องคลายและจม ปล่อยให้อี้นำร่างกายไป อี้คือหยางที่นำร่างกาย ส่วนร่างหายคือยินที่ปล่อยคล้อยตาม ด้วยการฝึกเช่นนี้ อี้ย่อมถูกฝึกให้แข็งแรงจนสามารถสั่งการเคลื่อนไหวร่างกายได้ ส่วนร่างกายก็จะเคลื่อนไหวตามอี้ จนอี้และร่างกายสามารถทำงานประสานร่วมกัน นี่ก็คือความหมายของการใช้อี้ไม่ใช้กำลัง
Taichimag: คุณคิดว่ามีข้อแตกต่างระหว่างการฝึกของคนในอดีตกับปัจจุบันหรือไม่?
แน่นอน ผมคิดว่าแตกต่างกันพอสมควร หยางเฉิงฝู่เคยกล่าวไว้ว่า “มวยไท่จี๋คือหนึ่งเดียว” ความหมายก็คือ แม้จะมีหลายสำนักซึ่งต่อมาแบ่งเป็นตระกูล หยาง, อู๋, อู่, และซุน แต่แท้จริงแล้วแต่เดิมพวกเขาเพียงฝึกมวยไท่จี๋ชุดยาวชุดเดียวกันในต่างทิศทางเท่านั้น แต่ทุกวันนี้กลับมีการสร้างชุดมวยสั้นต่างๆ มากมาย และส่วนใหญ่แล้วก็เป็นแค่ชุดมวยที่ไม่ได้มีระบบมวยรองรับแต่อย่างใด
สมัยก่อนนั้น คนฝึกมวยไท่จี๋เพื่อสุขภาพและการต่อสู้ป้องกันตัว พวกเขาจึงฝึกชุดเน่ยกงต่างๆ แต่ปัจจุบันผู้คนฝึกแค่เพื่อสุขภาพแต่ขาดเนื้อหาวิชามวย แม้ในประเทศจีนเองคนส่วนใหญ่ก็ฝึกเพื่อสุขภาพและการแข่งขันประกวดท่ารำสวยงามเท่านั้น
Taichimag: การหายใจมีความสำคัญในการฝึกและการสอนของคุณอย่างไร?
การหายใจนั้นแม้เป็นสิ่งสำคัญ แต่เราจะไม่ฝึกการหายใจในมวยไท่จี๋ตรงๆ แน่นอนว่าในการฝึกชุดเน่ยกงและการยืนจ้านจวงบางอย่างบางท่า อย่างเช่นใน “ท่ายืนหายใจเต่าทองคำ” เราจำเป็นต้องสนใจกับการหายใจผ่านกระดูกสันหลังไปยังจุดมิ่งเหมินและการหายใจจะกลายเป็นการหายใจแบบย้อนทวนเหมือนเต่า แต่เราเองต้องไม่บังคับการหายใจแบบย้อนทวน แต่มันสามารถเกิดขึ้นเองได้เมื่อมีการหายใจตามธรรมชาติอย่างถูกต้องและยืนในท่าที่ถูกต้องสำหรับการฝึก
แต่สำหรับการฝึกรำชุดมวยนั้น เราไม่ควรสนใจการควบคุมลมหายใจ หากเราควบคุมลมหายใจชี่จะติดขัดและไม่ไหลเนื่องจากอี้ของเราอยู่ที่ลมหายใจแทนที่จะเคลื่อนนำชี่ให้ไหลอย่างอิสระ ปรมาจารย์อู๋เจี้ยนเฉวียนผู้ก่อตั้งสำนักตระกูลอู๋กล่าวว่า “เมื่อเรากินหรือดื่ม ไม่มีใครคิดเรื่องควบคุมลมหายใจและฉันก็ไม่เคยได้ยินว่าจะมีใครได้รับบาดเจ็บเลย แต่หากฉันแนะนำว่าเมื่อให้ควบคุมลมหายใจในเวลากินหรือดื่ม แน่นอนว่าต้องได้รับบาดเจ็บแน่นอน นี่คือคำอธิบายที่ง่ายที่สุดที่ว่าทำไมเราไม่ควรควบคุมลมหายใจในเวลารำมวย” ดังนั้นเราจึงไม่ควรควบคุมลมหายใจในการรำมวย แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะไม่ควบคุมลมหายใจในการรำมวย แต่หลังจากการฝึกฝนยาวนานลมหายใจก็จะลึก, ยาว, และละเอียดขึ้นเอง และลมหายใจก็จะสัมพันธ์กับทุกการเคลื่อนไหวในชุดมวย และเราจะเริ่มรู้สึกสบายกับลมหายใจและชี่จะเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระด้วย