ฟาจิ้น และรสชาติ (ของฟาจิ้น)
- 04/08/2017
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
บทความนี้แปลจากบทหนึ่งจากหนังสือ “การถ่ายทอดจริงแท้ของหลักเหตุผลมวยไท่จี๋” (ไท่จี๋เฉวียนหลี่ฉวนเจิน) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1986 เขียนโดย จางยี่จิ่ง จางหงจั้ว ศิษย์ของอาจารย์หลีหย่าเซวียน เนื้อหาประกอบด้วยหลักวิชามวยไท่จี๋ของอาจารย์หลีหย่าเซวียน ถือเป็นหนังสือวิพากษ์หลักวิชามวยไท่จี๋ที่ดีมากที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยมีมา หลักวิชาถูกต้อง จริงแท้ และได้รับการถ่ายทอดตรงจากครูมวยรุ่นใหญ่ของตระกูลหยางอย่าง อ.หลีหย่าเซวียน ซึ่งเรียนมวยกับ อ.หยางเจี้ยนโหว และกราบ อ.หยางเฉิงฝู่เป็นอาจารย์ เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้จึงสามารถใช้เป็นหลักอ้างอิงวิชามวยไท่จี๋ตระกูลหยางได้เป็นอย่างดี
ฟาจิ้น และรสชาติ (ของการฟาจิ้น)
ความงดงามของการฟาจิ้นของมวยไท่จี๋นั้นช่างอัศจรรย์ มีผลพิเศษที่ทำให้คน (ที่โดน) แตกตื่นประหลาดใจ การตีอีกฝ่ายออกไปเกินหนึ่งจ้าง (3.3 เมตร) นั้น ถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป ยอดฝีมือยิ่งสามารถตีออกไปเกินสามจ้าง (10 เมตร) หากไม่ได้ประสบด้วยตนเอง อาจจะคิดว่าฉัน (ผู้เขียนบทความ-ศิษย์ อ.หลีหย่าเซวียน) “โกหก โม้โอ้อวด พูดไร้สาระ” ได้ และเนื่องจากความความน่าอัศจรรย์ของการฟาจิ้นที่ทำให้คนต้องประหลาดใจนี้ จึงได้เป็นแรงผลักดันให้ผู้คนมากมาย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีกำลังใจอยากฝึกมวย ทำให้มวยไท่จี๋นี้เกิดการเติบโตและเจริญรุ่งเรืองเป็นที่นิยมขึ้นมาในภายหลัง หากได้ประสบกับความน่าอัศจรรย์ของฝีมือแขนงนี้แล้ว ตัวเองยังยึดกุมวิชาไว้ไม่ได้ (คือยังฟาจิ้นไม่ได้) ทั้งต่อฝีมือและจิตใจ จะไม่รู้สึกคันยากจะเกาได้อย่างไร?
หากเปรียบการเรียนมวย (ไท่จี๋) กับต้นผลไม้ชนิดหนึ่ง ฟาจิ้นก็คือการถึงแล้วซึ่งฤดูเก็บเกี่ยวอันสมบูรณ์ สามารถเก็บผลไม้มารับประทานได้แล้ว ดังนั้น ฟาจิ้นเป็นหรือไม่ ก็คือผลแสดงว่าฝึกมวยได้ถูกต้องได้มาตรฐานหรือไม่ ฟาจิ้นได้พิศดารพอหรือไม่ (เช่นตีออกไปได้ไกลหรือใกล้ ตีออกไปได้หมดจดได้มลทิล ต่างๆ) คือเครื่องแสดงว่าเรียนมวยมามีผลสำเร็จสูงหรือต่ำนั่นเอง
อาจารย์จูหวายหยวนฟาจิ้น
คัมภีร์มวยกล่าวไว้ว่า “ฟาจิ้นต้องจมโดยการซงอย่างหมดจด มุ่งไปยังทิศทางเดียว” “เมื่ออ่อนหยุ่นจนถึงที่สุดแล้ว ภายหลังย่อมเปลี่ยนเป็นแกร่งกล้า” และยังมีกล่าวว่า “ผู้อื่นไม่รู้เรา แต่เรารู้เขาแต่ฝ่ายเดียว วีรบุรุษนั้นไร้เทียมทานได้ด้วยเหตุผลเหล่านี้” เหล่านี้ล้วนแต่เป็นประโยคเลื่องชื่อที่มีความเกี่ยวข้องกับการฟาจิ้นเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งความแข็งแกร่งสุดยอดของการฟาจิ้นนั้น ก็คือมาจากความอ่อนหยุ่นถึงขีดสุดเปลี่ยนแปลงออกมา ต้องซงอย่างสะอาดหมดจด พลังงานไม่มีการขัดข้องจากภายในแม้แต่น้อย ระดับความเร็วของการฟาจิ้นจึงจะรวดเร็วถึงที่สุดได้ มีแค่ตามวิถีทางนี้ ถึงจะได้รับผลของการฟาจิ้นอันโดดเด่นของมวยไท่จี๋ได้
รสชาติของการฟาจิ้น แต่ละคนไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว นี่ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับความลึกซึ้งของระดับกงฟู แต่ยังเกี่ยวข้องกับระดับความเข้าใจของหลักมวย (ไท่จี๋) และการแสวงหาการฟาจิ้นของแต่ละคน ทั้งยังเกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของแต่ละบุคคลอีกด้วย กล่าวไปแล้ว รสชาติของการฟาจิ้น สามารถแบ่งได้เป็น จ้ง (หนัก) , ชิง (เบา) , ชุ่ย (เปราะ), มู่ (ไม้ หมายถึงทื่อเหมือนตอไม้) สี่อย่าง พวกนี้คือกล่าวจากความรู้สึกของฝ่ายที่ถูกตี เนื่องจากความรู้สึกของฝ่ายผู้ฟาจิ้นกับผู้ถูกตีก็มิได้แตกต่างกันเสียทั้งหมด
- หากผู้ที่ฟาจิ้นมีร่างกายแข็งแรง แรงจม (เฉินจิ้น) ดี พลังงานมาก ย่อมสามารถฟาจิ้นที่มีลักษณะไปทาง “หนักหน่วง” ออกมาได้ แต่ว่าหนักหน่วงนั้นไม่ใช่แข็ง ซึ่งต้องแยกให้ชัด แข็งนั้นมาจากการเคลื่อนไหวของมือเท้า ทั่วร่างไม่สามารถรวมตัวอย่างสมบูรณ์ หรือเพราะใช้กำลัง (ลี่) มากใช้อี้ (จิต) ไม่พอ
- หากจังหวะและทิศทางถูกยึดกุมไว้อย่างแม่นยำ ทั้งฟาจิ้นภายใต้เงื่อนไขของการยืมแรง (เจี้ยลี่) ที่ดี อย่างนี้ที่รู้สึกได้ย่อมไม่ใช่ถูกแรงหนักหน่วงตีออกไป แต่จะปรากฏว่ารู้สึกเบา เหมือนลมฤดูใบไม้ร่วงพัดผ่านใบไม้ให้หลุดลอย ลอยเบาๆ ก็บินออกไปแล้ว และยังสามารถลอยบินออกไปได้ค่อนข้างไกล ไม่ใช่แค่หนึ่งถึงสองจ้าง (1 จ้าง = 3.3 เมตร) ยังสามารถลอยออกไปเกินสามจ้างอีกด้วย
- หากผู้ที่ฟาจิ้น มีลักษณะนิสัยปลอดโปร่งร่าเริง ความฉลาดเกินคน ทำการเด็ดขาด มีศักยภาพที่คล่องแคล่วว่องไว มักจะฟาจิ้นที่คมชัดเจนเด็ดขาดออกมา (ภาษาจีนเรียกว่าเป็นจิ้นที่เปราะ คือแตกขาดง่าย ชัดเจน เด็ดขาด) เหมือนฟ้าร้องลั่นกรอกหูในพายุกลางฤดูร้อน มีลักษณะที่รวดเร็วและทำให้แตกตื่นตกใจ จิ้นชนิดนี้สามารถทำลายความคิดต่อสู้ของอีกฝ่ายได้อย่างง่ายดาย ทำให้คนต้องแลบลิ้นเบิกตา (หมายถึงตกใจ) หลั่งเหงื่อเย็นเยียบ (นี่มันสำนวนโกวเล้งนี่นา) มีผลที่ทำให้คนรู้สึกคาดไม่ถึง
- กงฟูไม่บริสุทธ์ (หมายถึงฝึกมวยอื่นมาเสริม) ความฉลาด กงฟู ความซงและอ่อนหยุ่นล้วนแต่ไม่เพียงพอ อย่างนี้ย่อมฟาได้แค่จิ้นที่หนักทื่อไม่คล่องออกมาได้ ส่วนใหญ่คือการเคลื่อนไหวขัดข้อง ระดับความเร็วเชื่องช้า หรือใช้แรงกำลังใหญ่โตไปจับ ไปหยุด ไปกด ไว้ก่อน แล้วตามด้วยใช้พวกแรงแข็งทั่วไปออกมา เพื่อผลักฝ่ายตรงข้ามออกไป อย่างนี้อีกฝ่ายรู้ตัวอยู่ก่อนแล้วว่ามีแรงขนาดใหญ่เข้ามา การฟาจิ้นชนิดนี้ ขัดกับหลักที่ว่า “ผู้อื่นไม่รู้เรา” ไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายยอมรับได้ทั้งปากและใจ คือฟาจิ้นชนิดที่ต่ำที่สุด นี่คือเรียนมวยไท่จี๋ไม่ได้ถึงทักษะวิชาที่แท้จริง และยังต้องการผลอันรวดเร็ว เป็นการฟาจิ้นที่พยายามเอาตัวเองไปบังคับเพื่อหวังผลชนะผู้อื่น
ที่ต้องให้ความสำคัญก็คือ ไม่ว่าผู้ถูกตีจะถูกจ้ง ชิง หรือชุ่ย ล้วนแต่จะต้องเป็นเรื่องที่ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าก่อน กำลังเลอะเลือนอยู่ก็ถูกตีออกไปแล้ว ถึงจะถือว่าได้มาตรฐาน รสชาติของการฟาจิ้นทั้งสามแบบแรกนั้นจึงเป็นอะไรที่ยอมรับได้ เนื่องจากสอดคล้องกับหลักบนคัมภีร์มวยที่ว่า “ผู้อื่นไม่รู้เรา” “ผลประโยชน์ล้วนมาจากการยืมแรง” ยังมี “จมด้วยการซงอย่างสะอาดหมดจด” ต่างๆ แต่ที่ต้องพยายามยึดกุมให้ได้อย่างแท้จริงคือ ในการใช้หลักการเหล่านี้นั้นล้วนแต่ต้องไม่ห่างจากเส้นทางความอ่อนหยุ่นที่สุด เบาคล่องอย่างที่สุด ในคัมภีร์มวยอย่างแรกที่กล่าวไม่ใช่ “เมื่อเคลื่อน ทั่วร่างล้วนแต่ต้องเบาคล่อง” หรือ? หากไปเอาพวกแรงแข็งมาฝึกมวย กล่าวตามหลักการแล้วย่อมไม่สามารถได้รับผลความสามารถที่ว่า “เรารู้ผู้อื่นเขาแต่ฝ่ายเดียว” ได้ เมื่อไม่สามารถรู้ผู้อื่น ก็กลายเป็นว่าทำให้หลักซึ่งอยู่ในขอบเขตขั้นสูงของมวยไท่จี๋เฉวียนที่ “อาศัยคนมาเป็นหลัก” (คือกระทำการใดอยู่ที่ฟังแรงจากอีกฝ่ายเป็นหลัก) ถูกลดค่าลดระดับลงมากลายเป็นการใช้อัตตาไปบังคับอีกฝ่าย กลายเป็นระดับของการตีการจับอย่างหยาบ หามีข้อแตกต่างจากมวยทั่วไปไม่
แม้ว่าการฟาจิ้นทั้งสามชนิดแรกนั้นจะสอดคล้องตามหลักการของมวยไท่จี๋ เป็นแนวคิดของการฟาจิ้น แต่น่าเสียดาย ในแวดวงทั้งหมดของมวยไท่จี๋ ผู้คนที่ยึดกุมหลักวิธีการเหล่านี้ได้อย่างแท้จริงกลับมีไม่มาก มีคนไม่น้อยก็เป็นเช่นเดียวกับฉัน (ผู้เขียนบทความ ศิษย์ อ.หลีหย่าเซวียน) เหมือนคนตาบอดเตะลูกขนไก่ ได้แต่บังเอิญเตะถูกได้เป็นครั้งคราวเท่านั้น
การฟาจิ้นแบบที่สี่ ทื่อด้านไม่คล่อง สมควรหลีกเลี่ยง แม้ว่าคนที่ฟาจิ้นแบบพรรค์นี้มีอยู่ไม่น้อย แต่ไม่ใช่ว่าเพราะมีคนทำมาก ก็จะหมายถึงว่ามันถูกต้อง ความถูกผิดของการเรียนศาสตร์วิชานั้น ไม่ใช่เรื่องของการอาศัยการโหวตของคนหมู่มากมาตัดสิน ในทางตรงข้ามแล้วก็ถือว่านี่ (หมายถึงการที่มีคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงหลักที่แท้จริง) เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความยอดเยี่ยมของมวยไท่จี๋ แต่หลักการก็ยากมากเหลือเกิน เนื่องจากมันก้าวข้ามเกินสามัญสำนึกของคนทั่วไป เป็นนามธรรมเกินไป ในระหว่างเส้นทางมีทางที่ไปผิดได้มากมาย คนที่เสียเวลาชั่วชีวิตฝึกฝนอย่างหนัก กลับหลงไปผิดทาง หรือยังวนเวียนอยู่นอกประตู ก็มีอยู่มากมาย