แต่เดิมนั้นความเกี่ยวพันของมวยสิ่งอี้ และมวยซินอี้ลิ่วเหอนั้นล้วนไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการศึกษาค้นคว้าประวัติอย่างละเอียด มีงานเขียนและงานวิจัยจากหลายกลุ่ม จึงได้ข้อสรุปชัดเจนออกมาดังนี้ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง สามารถยึดถือเป็นแนวทางที่ถูกต้องได้
ท่านแม่ทัพเยว่เฟย (งักฮุย)
แม่ทัพเยว่เฟย (แต้จิ๋ว-งักฮุย) เกิดในสมัยราชวงค์ซ่งเหนือ ในมลฑลเหอหนานปัจจุบัน ในช่วงเวลาที่เยว่เฟยเป็นหนุ่มนั้นราชวงค์ซ่งเหนือถูกรุกรานอย่างหนักจากชนเผ่าจินหรือจินกว๋อ (กิมก๊ก) จนทำให้ฮ่องเต้สองพระองค์ของราชวงศ์ซ่งเหนือ คือซ่งฮุยจงและซ่งชินจงถูกพวกจินจับตัวไปเป็นเชลยศึก จนในที่สุดนำมาสู่จุดจบของราชวงศ์ซ่งเหนือและต้องย้ายราชธานีมาอยู่ทางใต้กลายเป็นราชวงค์ซ่งใต้ขึ้นมาแทน เยว่เฟยรู้สึกเจ็บแค้นแทนชาติบ้านเมืองยิ่งจึงได้ตั้งปณิธานที่จะเข้ารับราชการทหารเพื่อขับไล่ชาวจินออกไปจากแผ่นดิน ซึ่งมารดาของเขาได้สนับสนุนปณิธานนี้และได้สักคำว่า จวินจง เป้ากว๋อ (จงรักภักดี พิทักษ์ชาติ) บนหลังของเยว่เฟยก่อนที่เข้าจะสมัครเข้าเป็นทหารในราชวงค์ซ่งใต้
ด้วยความมุ่งมั่นและความสามารถ เยว่เฟยสร้างผลงานต่อเนื่องจนได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นแม่ทัพใหญ่และสร้างกองทัพให้เข้มแข็งจนมีชื่อเสียงขจรขจายและเป็นที่ครั่นคร้ามต่อกองทัพของชาวจินเป็นยิ่งนัก กองทัพของเยว่เฟยสามารถตีเอาพื้นที่ของราชวงค์ซ่งเหนือคืนมาได้จำนวนมาก และในที่สุดแม่ทัพเยว่เฟยได้ยกทัพตีชาวจินถอยร่นไปจนเกือบถึงนครหลวงเดิม แต่สุดท้ายเยว่เฟยกลับถูกขัดขวางโดยขุนนางกังฉินที่ชื่อว่า ฉินฮุ่ย ผู้สนับสนุนการประนีประนอมกับชาวจิน และนั่นทำให้แม่ทัพเยว่เฟยถูกเรียกตัวกลับนครหลวงและถูกใส่ร้ายจนต้องถูกประหารชีวิตในที่สุด
ชาวจีนให้ความยกย่องและเทอดทูนแม่ทัพเยว่เฟยเป็นอย่างมาก และในขณะเดียวกันก็เกลียดชังฉินฮุ่ยอย่างที่สุด จนทำให้ชาวจีนนำแป้งมาประกบเป็นสองชิ้นทอดน้ำมันกินแทนตัวฉินฮุ่ยและภรรยาเพื่อระบายความแค้นเรียกว่า โหยวจ๋าฮุ่ย แปลว่า (ฉิน) ฮุ่ยทอดน้ำมันซึ่งขนมนั้นก็คือปาท่องโก๋นั่นเอง และนอกจากนี้ที่ศาลเจ้าของแม่ทัพเยว่เฟยที่ริมทะเลสาบซีหูยังได้มีการสร้างรูปปั้นของฉินฮุ่ยและภรรยานั่งคุกเข่าให้กับรูปปั้นของท่านแม่ทัพเยว่เฟย และชาวจีนที่มากราบไหว้แม่ทัพเยว่เฟยที่ศาลเจ้านี้ก็มักจะถ่มน้ำลาย ก่นด่า แม้แต่กระโดดถีบรูปปั้นของฉินฮุ่ยและภรรยาเพื่อเป็นการระบายความโกรธแค้น
และด้วยวีรกรรมของท่านแม่ทัพเยว่เฟยนี้เองที่ได้กลายเป็นต้นแบบคุณธรรมของชาวยุทธจักรทั้งหลาย และได้กลายเป็นที่มาของวิชามวยสิงอี้ในอีกราวๆ ห้าร้อยปีให้หลัง
ปรมาจารย์จีหลงเฟิง
สมัยปลายราชวงศ์หมิง ต่อต้นราชวงศ์ชิง ได้มีบุรุษผู้หนึ่งนาม จีจี้เข่อ นามที่ให้ผู้อื่นเรียกคือ จีหลงเฟิง(ค.ศ.1620-1680) แห่งผูโจว มลฑลซานซี ว่ากันว่าท่านได้ออกเดินทางท่องเที่ยวทั่วมลฑลซานซีและเสฉวน ได้ค้นพบตำราหลักการวิชามวยครึ่งเล่มซึ่งเขียนโดยแม่ทัพเย่เฟยในถ้ำแห่งหนึ่ง บนเขาจงหนานจึงได้นำหลักการวิชามาศึกษาค้นคว้า ตำราเล่มนั้นถูกเรียกว่า อู่มู่อี๋ซู ซึ่งก็คือพินัยกรรมบู๊มักที่กิมย้งได้นำไปขยายเรื่องราวในนิยายกำลังภายในเรื่องมังกรหยกภาคแรก (จอมยุทธ์ยิงอินทรี) ว่าซ่างกวานเจี้ยนหนาน (เซี่ยงกัวเกี่ยมน้ำ) ได้ลักลอบเข้าวังเพื่อนำพินัยกรรมบู๊มักซึ่งเป็นตำราพิชัยสงครามของแม่ทัพเยว่เฟยเขียนซ่อนไว้ออกมาเก็บไว้ที่ภูเขาห้านิ้วของพรรคฝ่ามือเหล็ก จนในที่สุดก๊วยเจ๋งได้ตำรานี้มาครอบครองและในภายหลังยังได้สอดตำรานี้ไว้ในดาบฆ่ามังกรจนเป็นเรื่องราวในภาคดาบมังกรหยก (กระบี่อิงฟ้าดาบฆ่ามังกร) อีกด้วย
ว่ากันว่าหลังจากที่จีหลงเฟิงศึกษาตำราหลักการวิชามวยของท่านแม่ทัพเยว่เฟยแล้ว ก็ได้อาศัยเคล็ดความวิชาการต่อสู้ที่อยู่ในตำรานี้สร้างวิชามวยขึ้นมาแขนงหนึ่งซึ่งในช่วงที่ท่านจีหลงเฟิงได้คิดค้นวิชามวยขึ้นมานั้นแผ่นดินจีนถูกรุกรานโดยชาวแมนจูและอยู่ในการปกครองของราชวงค์ชิงแล้ว จีหลงเฟิงนั้นมีใจคิดอยากตั้งขบวนการต้านชิงจึงได้เดินทางไปยังวัดเส้าหลินเหนือเพื่อซ่อนตัวและแอบติดต่อชาวยุทธ์ต่างๆ ในช่วงที่หลบตัวอยู่ในวัดเส้าหลินนั้นจีหลงเฟิงได้แสดงวิชามวยของตนให้เหล่าหลวงจีนวัดเส้าหลินดูซึ่งวิชามวยที่จีหลงเฟิงแสดงออกมานั้นได้รับการชมเชยและยกย่องจากหลวงจีนวัดเส้าหลินเป็นอย่างมาก จนทางเส้าหลินเองได้นำวิชานี้สร้างเป็นวิชามวยของเส้าหลินขึ้นชื่อว่า ซินอี้ปา ส่วนจีหลงเฟิงนั้นได้ศึกษาวิชาจากวัดเส้าหลินด้วยและได้แรงบันดาลใจจากรูปแบบมวยที่เลียนแบบท่าสัตว์ของเส้าหลิน จึงได้นำรูปแบบท่าสัตว์มาพัฒนาวิชามวยของตนกลายเป็นรูปแบบสัตว์แบบห้ารูปสิบลักษณ์ ห้ารูปคือลักษณะร่างกายและการเคลื่อนไหวห้าอย่าง คือไหล่หมี กรงเล็บเหยี่ยว เท้าไก่ กายมังกร และพยัคฆ์โอบเศียร ส่วนสิบลักษณ์คือการใช้รูปแบบของสัตว์สิบอย่างมาแสดงออกเป็นท่ามวยสิบแบบ เช่น ท่าพยัคฆ์ ท่ามังกร ท่าม้า ท่าวานร เป็นต้น จีหลงเฟิงอยู่เส้าหลินถึงสิบปีจนเมื่อเห็นว่าราชวงค์ชิงนั้นวางรากฐานแข็งแกร่งเกินโค่นล้มได้แล้วจึงได้ล้มเลิกความคิดที่จะโค่นล้มราชวงค์ชิงและเดินทางกลับบ้านเดิมของตน ที่นั่นจีหลงเฟิงได้เริ่มถ่ายทอดวิชามวยของตนให้ลูกศิษย์และลูกหลานของตน และวิชามวยของจีหลงเฟิงนี้ต่อมาเรียกว่ามวย ซินอี้ลิ่วเหอเฉวียน (หกประสานจิตใจ) ซึ่งยังคงมีการถ่ายทอดจนถึงปัจจุบัน
จากเรื่องราวของท่านแม่ทัพเยว่เฟยกับตำราที่ถูกพบโดยท่านจีหลงเฟิงนี้แม้ว่าจะคลุมเคลือและไม่ชัดเจนนักและไม่มีหลักฐานใดแสดงว่ามวยสิงอี้ในปัจจุบันมีความเกี่ยวข้องอื่นใดกับท่านแม่ทัพเยว่เฟย แต่ด้วยความดีงามของท่านแม่ทัพเยว่เฟยที่มีต่อแผ่นดิน จึงยังผลให้ครูมวยส่วนใหญ่ยังคงให้เกียรติเชิดชูท่านเป็นปรมาจารย์มวยสิงอี้ และเรื่องราวของท่านจีหลงเฟิงกับตำราของท่านแม่ทัพงักฮุยนี้ก็ได้กลายเป็นตำนานที่มาของวิชามวยสิงอี้ในปัจจุบัน
ท่านจีหลงเฟิงมีศิษย์สองคน หนึ่งคือเฉาจี้อู่ หนึ่งคือหม่าเสวียลี่ ว่ากันว่าตอนที่ท่านหม่าเสวียลี่ต้องการเรียนมวยนั้นได้แกล้งเป็นใบ้และเข้าทำงานรับใช้ในบ้านท่านจีหลงเฟิงเพื่อแอบเรียนวิชาถึงสามปี จนในที่สุดท่านจีหลงเฟิงเห็นซึ้งในความจริงใจและความพากเพียรจึงได้รับเป็นศิษย์ และท่านหม่าเสวียลี่ได้อยู่เรียนวิชาต่ออีกถึงสามปี จนเมื่อบรรลุวิชาแล้วจึงได้เดินทางกลับบ้านเดิมที่มลฑลเหอหนานและได้ถ่ายทอดวิชามวยซินอี้ลิ่วเหอที่นั่นจนแพร่หลาย ส่วนท่านเฉาจี้อู่นั้นเมื่อสำเร็จวิชาแล้วก็เข้าสอบราชการจนสอบได้ตำแหน่งจอหงวนบู๊และได้เข้ารับราชการฝ่ายทหารในมลฑลส่านซี ภายหลังได้ถ่ายทอดวิชาให้ศิษย์เอกสองคนคือไต้หลงปังและไต้หลิงปังสองพี่น้อง (เรื่องนี้บางตำนานเล่าว่าท่านหม่าเสวียลี่นั้นเรียนมวยกับท่านเฉาจี้อู่ ไม่ใช่ท่านจีหลงเฟิง)
ไต้หลงปัง (ค.ศ.1713 – 1803) เป็นชาวมลฑลซานซี ฝึกฝนวิชาซินอี้ลิ่วเหอจากเฉาจี้อู่จนเชี่ยวชาญและได้ถ่ายทอดวิชาให้บุตรชายสองคนคือไต้เหวินจุนและไต้เหวินสงด้วย ซึ่งบุตรชายทั้งสองเองก็พัฒนาวิชามวยจนมีฝีมือสูงส่ง และไต้หลงปังเป็นผู้พัฒนาท่าสัตว์จากสิบลักษณ์เป็นสิบสองลักษณ์อย่างในปัจจุบัน ว่ากันว่าหลังจากสำเร็จวิชาแล้วไต้หลงปังได้เปิดสำนักคุ้มภัย และนั่นทำให้ท่านไต้หลงปังมีศัตรูมากมาย จนเมื่อยามที่ไต้หลงปานแก่ตัวและได้กลับไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านเกิด กลุ่มโจรที่เคยถูกไต้หลงปังสังหารในงานคุ้มภัยก็ได้ติดตามมาแก้แค้นและทำให้บุตรคนโตคือไต้เหวินจุนเสียชีวิต จากเหตุการณ์นี้ทำให้ไต้หลงปังกล่าวกับบุตรชายที่เหลืออยู่คือไต้เหวินสงว่าพวกเราประสบเคราะห์ภัยครั้งนี้เพราะวิชาการต่อสู้ ต่อไปนี้จงอย่าได้เผยแพร่และถ่ายทอดวิชานี้แก่คนนอกตระกูลเป็นอันขาด ซึ่งนั่นทำให้วิชานี้ได้รับการถ่ายทอดอยู่ภายในตระกูลไต้เท่านั้น และวิชาซินอี้ลิ่วเหอในตระกูลไต้นี้ได้ถูกเรียกว่ามวยซินอี้ตระกูลไต้
ปรมาจารย์มวยสิงอี้ หลี่ลั่วเหนิง
ต่อมาท่าน หลี่ลั่วเหนิง (ค.ศ.1802 – 1888) ชื่อเฟยหยู ชื่อที่ตั้งให้เรียกคือเหนิงหราน ส่วนลั่วเหนิงคือฉายาซึ่งเพี้ยนมาจากฉายาเดิมคือเหล่าหนง (แปลว่าชาวนาแก่) เกิดปี ค.ศ. 1802 (ที่จริงปีเกิดของท่านมีระบุไว้ไม่ตรงกันในหลายแหล่ง) ในมลฑลเหอเป่ย เป็นผู้ที่มีความรักในวิชาศิลปะการต่อสู้เป็นอย่างมากและฝึกฝนวิชามวยจนมีพื้นฐานดี ได้ยินเรื่องของท่านไต้หลงปังจึงเดินทางไปยังมลฑลซานซีเพื่อหวังเรียนวิชาด้วยวัย 37 ปี แต่ในยามที่ท่านหลี่ลั่วเหนิงเดินทางไปถึงบ้านตระกูลไต้นั้น ท่านไต้หลงปังได้เสียชีวิตไปแล้ว และลูกชายของท่านคือไต้เหวินสงก็ได้ยึดถือคำของบิดาคือไม่ถ่ายทอดวิชาแก่คนนอก จึงปฏิเสธที่จะสอนวิชามวยให้ท่านหลี่ แต่อย่างไรก็ตามลูกพี่ลูกน้องของท่านไต้เหวินสงชื่อกัวเหว่ยหานซึ่งได้เรียนมวยซินอี้ตระกูลไต้ด้วยเช่นกันกลับชื่นชอบท่านหลี่เป็นอย่างมากจึงได้ถ่ายทอดวิชามวยให้ท่านหลี่ซึ่งท่านหลี่ได้ตั้งใจฝึกฝนวิชาอย่างหนัก จนวันหนึ่งท่านกัวจึงได้พาท่านหลี่ไปพบท่านไต้เหวินสงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ท่านไต้เหวินสงเห็นถึงความสามารถและความพยายามของท่านหลี่จึงได้รับท่านหลี่เป็นศิษย์และท่านหลี่ได้ศึกษาวิชามวยอยู่กับท่านไต้เหวินสงนานถึงสิบปี ต่อมาท่านหลี่ได้ถูกยกชื่อขึ้นว่าเป็นศิษย์ท่านไต้หลงปังโดยตรงเนื่องจากท่านไต้เหวินสงไม่ต้องการได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ของท่านหลี่ซึ่งเท่ากับเป็นการขัดคำสั่งของบิดาตนเอง ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าท่านหลี่ลั่วเหนิงคือศิษย์ของท่านไต้หลงปัง
ท่านหลี่ลั่วเหนิงได้เปลี่ยนชื่อวิชาซินอี้ตระกูลไต้ที่เรียนมาเป็น สิงอี้เฉวียน อย่างที่เรียกกันในปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากคำว่าซิน (ใจ) และคำว่าอี้ (จิต) ในชื่อเดิมนั้นมีความหมายซ้ำซ้อน จึงตัดทอนชื่อเดิมออกไปและแทนคำใหม่ด้วยคำว่าสิง (รูปลักษณ์) จนถึงประมาณปี ค.ศ. 1856 ชื่อสิงอี้จึงเฉวียนจึงได้เป็นที่แพร่หลาย ท่านหลี่ยังได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบมวยสิงอี้ให้มีลักษณะของการใช้ศอกปิดชายโครงและตั้งหมัดระดับอก การโจมตีและการออกหมัดที่ใช้ร่างกายและการก้าวสืบเท้าตามเพื่อผสานและควบคุมแทนที่การออกหมัดโจมตีโดยการเหยียดแขนออกไปเช่นในรูปแบบเดิม ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงท่าสิบสองลักษณ์สัตว์ และยังได้สร้างชุดฝึกแบบคู่ขึ้นอีกด้วย จึงถือได้ว่าท่านหลี่ลั่วเหนิงคือบิดาแห่งมวยสิงอี้เฉวียนอย่างในปัจจุบัน ท่านหลี่ลั่วเหนิงนั้นมีศิษย์ที่โดดเด่นสามคน คือ เชอยี่ไจ, กัวหยุนว์เซิน และหลิวฉีหลาน
อาจารย์เชอยี่ไจ
เชอยี่ไจ (ค.ศ.1833 – 1914) ชื่อคือเชอหย่งหง เป็นชาวซานซี ในวัยเด็กนั้นยากจนมากถูกขายให้อยู่ที่บ้านตระกูลอู่ ด้วยความลำบากในวัยเด็กและความอยุติธรรมที่ได้รับท่านจึงตั้งใจฝึกฝนศิลปะการต่อสู้มาก เริ่มต้นได้ฝึกมวยกับลูกหลานเจ้าบ้านตระกูลอู่ซึ่งเป็นมวยเส้าหลิน และต่อมาบ้านตระกูลอู่จึงส่งท่านไปฝึกมวยที่บ้านตระกูลเมิ่งซึ่งเป็นเพื่อนกันซึ่งครูมวยที่บ้านตระกูลเมิ่งจ้างมาสอนนั้นคือท่านหลี่ลั่วเหนิง ท่านหลี่ลั่วเหนิงพอใจในตัวท่านเชอยี่ไจมากและนั่นทำให้ท่านเชอยี่ไจได้กลายเป็นศิษย์ในคนแรกของท่านหลี่ ในภายหลังท่านหลี่ยังได้พาท่านเชอยี่ไจไปพบท่านไต้เหวินสงเพื่อต่อยอดวิชาด้วย และก่อนที่ท่านไต้จะเสียชีวิตในวัย 96 ปีท่านได้มอบตำราเคล็ดลับมวยซินอี้ตระกูลไต้ให้แก่ท่านเชอด้วย
หลังจากที่ท่านหลี่ลั่วเหนิงได้เดินทางกลับยังมลฑลเหอเป่ยแล้ว ท่านเชอได้สอนมวยสิงอี้อยู่ที่มลฑลซานซี ทำให้มวยนี้มีชื่อเสียงโด่งดังและแพร่หลายในมลฑลซานซีมากขึ้นและกลายเป็นมวยสิงอี้สายซานซีในที่สุด
อาจารย์กัวหยุนว์เซิน
กัวหยุนว์เซิน (ค.ศ.1829 – 1900) เป็นชาวมลฑลเหอเป่ย ในวัยเด็กนั้นค่อนข้างก้าวร้าวและชอบใช้กำลังความรุนแรง เมื่อท่านกัวได้ขอเรียนมวยสิงอี้กับท่านหลี่ลั่วเหนิง ท่านหลี่ปฏิเสธที่จะสอนท่านกัวเนื่องจากนิสัยก้าวร้าวของท่านกัว ท่านกัวจึงสมัครเข้าทำงานเป็นคนงานก่อสร้างอยู่ใกล้ๆ กับบ้านท่านหลี่เพื่อแอบดูท่านหลี่สอนลูกศิษย์และท่านกัวได้แอบขโมยเรียนท่ามวยสิงอี้ท่าหนึ่งชื่อ เปิงเฉวียน หรือหมัดทะลายและแอบฝึกฝนด้วยตัวเองถึงสามปี เมื่อท่านหลี่รู้เรื่องนี้และพบเห็นท่าหมัดทะลายของท่านกัว ท่านหลี่จึงรู้ว่าท่านกัวพยายามฝึกฝนเป็นอย่างมาก และทำให้เห็นถึงความพยายามของท่านกัว ท่านหลี่ลั่วเหนิงจึงได้ตกลงรับท่านกัวหยุนว์เซินเป็นศิษย์นับแต่นั้น
หลังจากหลายปีของการศึกษาวิชามวย ท่านกัวหยุนว์เซินก็เชี่ยวชาญหมัดห้าธาตุของมวยสิงอี้ โดยเฉพาะหมัดทะลายหรือเปิงเฉวียนที่ท่านได้ฝึกด้วยตัวเองแต่ต้นนั้นท่านกัวมีความชำนาญเป็นพิเศษและหมัดของท่านนั้นก็ทรงพลังอย่างยิ่ง ซึ่งต่อมาท่านกัวใช้วิชามวยสิงอี้มายึดอาชีพเป็นนักล่าค่าหัวเงินรางวัล และครั้งหนึ่งท่านได้ลงมือรุนแรงจนตีโจรเสียชีวิตและนั่นทำให้ท่านต้องกัวติดคุกอยู่ถึงสามปี
ช่วงที่อยู่ในคุกนั้น ท่านกัวต้องติดขัดกับสภาพในคุกทำให้ไม่สามารถฝึกฝนได้ดังก่อน ท่านจึงต้องใช้การเคลื่อนไหวที่น้อยเพื่อฝึกฝนมวยสิงอี้ของท่าน ท่าหมัดทะลาย(เปิงเฉวียน)ของท่านนั้นเมื่อผ่านการฝึกฝนในช่วงเวลาที่อยู่ในคุกแล้วกลับยิ่งน่ากลัวขึ้นกว่าเดิมและเป็นการเคลื่อนไหวที่ก้าวเท้าหน้าออกไปเพียงครึ่งก้าวเท่านั้น ท่าหมัดทะลายของท่านจึงถูกเรียกว่า หมัดทะลายครึ่งก้าว (ป้านปู้เปิงเฉวียน) ว่ากันว่าฝีมือของท่านกัวยามที่ออกจากคุกนั้นยังสูงกว่าเมื่อครั้งก่อนเข้าไปอยู่ในคุกเสียเอง และท่านกัวก็มีชื่อเสียงจากท่าหมัดทะลายของท่าน จนมีฉายาว่า “หมัดทะลายครึ่งก้าว ตีทั่วใต้ฟ้าไร้ผู้ต่อต่าน”
ท่านกัวหยุนว์เซินมีศิษย์ไม่มากนัก ที่โดดเด่นยิ่งมีสองท่าน หนึ่งคือผู้ที่ต่อมาได้เป็นปรมาจารย์มวยไท่จี๋ (ไท่เก๊ก) ตระกูลซุนคือท่านซุนลู่ถัง อีกหนึ่งคือผู้ที่ต่อมาเป็นปรมาจารย์ผู้คิดค้นมวยอี้เฉวียนหรือต้าเฉิงเฉวียนคือท่านหวังเซี่ยงไฉ่
หลิวฉีหลาน (ค.ศ.1832 – 1905) เป็นศิษย์เอกของท่านหลี่ลั่วเหนิงอีกท่าน และเป็นชาวมลฑลเหอเป่ยเช่นเดียวกับท่านกัวหยุนว์เซิน ท่านหลิวฉีหลานกับท่านกัวหยุนว์เซินมักจะเดินทางไปเผยแพร่มวยสิงอี้ด้วยกันเสมอ ท่านหลิวฉีหลานนั้นมีความเป็นครูมวยที่เพรียบพร้อมทั้งความรู้และความสามารถทำให้ท่านมีศิษย์มากและทำให้มวยสิงอี้มีการเผยแพร่อย่างกว้างขวางมากขึ้น ศิษย์ที่โดดเด่นของท่านก็เช่น ท่านหลี่ฉุนยี่ ท่านจางเจ้าตง เป็นต้น
มวยสิงอี้ที่ถ่ายทอดผ่านท่านกัวหยุนว์เซินและท่านหลิวฉีหลานนั้น ต่อมาได้กลายเป็นรูปแบบที่สืบทอดกันในมลฑลเหอเป่ย และกลายเป็นหนึ่งในสายวิชาหลักของมวยสิงอี้ควบคู่กับสายดั้งเดิมคือสายเหอหนาน และสายซานซีที่ถ่ายทอดโดยท่านเชอยี่ไจในที่สุด
อาจารย์หลี่ฉุนยี่
หลี่ฉุนยี่ (ค.ศ.1847 -1921) เป็นชาวมลฑลเหอเป่ย ชื่อที่ตั้งให้เรียกคือจงหยวน แต่คนทั่วไปมักจะเรียกท่านจากชื่อตัวของท่าน ในวัยเด็กนั้นท่านมีฐานะยากจนมากและมีอาชีพเป็นคนลากรถ ท่านมีความสนใจในวิชาการต่อสู้อย่างบมากและท่านเริ่มต้นด้วยการเรียนมวยยาว (ฉางเฉวียน) และเริ่มมีกลุ่มเพื่อที่ศึกษาศิลปะการต่อสู้ด้วยกัน เช่นท่านจางเจ้าตง และท่านหลี่ฉุนยี่ยังเป็นเพื่อนสนิทกับท่านเฉิงถิงหัวแห่งมวยปากว้าจ่าง (ฝ่ามือปากว้า) ด้วย
เมื่อท่านหลี่อายุได้ราวยี่สิบ กลุ่มของท่านหลี่ก็ได้เดินทางไปขอเป็นศิษย์ท่านหลิวฉีหลาน และได้เข้าเป็นศิษย์ในศึกษาวิชามวยสิงอี้จนหมดสิ้น นอกจากนี้ท่านหลี่ยังได้รับคำแนะนำจากท่านหลิวฉีหลานเองให้ไปเรียนวิชาเพิ่มเติมจากอาจารย์ลุงคือท่านเชอยี่ไจ และนั่นทำให้ท่านหลี่ฉุนยี่ได้รับสืบทอดท่าสัตว์เพิ่มอีกสองท่าซึ่งท่านเชอยี่ไจได้เรียนมาจากท่านไต้เหวินสง ทำให้มวยสิงอี้สายเหอเป่ยมีท่าสัตว์เป็นสิบสองท่าอีกด้วย
ท่านหลี่ฉุนยี่เมื่อสำเร็จวิชามวยแล้วเคยประกอบอาชีพเป็นผู้คุ้มภัย และใช้ดาบเป็นอาวุธทำให้ท่านมีฉายาว่า “ดาบเดี่ยวแซ่หลี่” (ตานเตาหลี่) ท่านยังเคยเปิดโรงเรียนศิลปะการต่อสู้ขึ้นที่เทียนจินและทำให้มวยสิงอี้ได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และหลังจากนี้จึงเข้าสู่ยุคใหม่ของมวยสิงอี้ และแบ่งเป็นสายวิชาตามที่รู้จักกันในปัจจุบันในที่สุด