หลักการและจุดเด่นของมวยสิงอี้
- 31/07/2017
- Posted by: Liang
- Category: สิงอี้เฉวียน-ซินอี้เฉวียน
หลังจากที่มวยซินอี้ลิ่วเหอเดิมได้ถ่ายทอดถึงยุคของท่านหลี่ลั่วเหนิงแล้ว มวยนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงชื่อเป็นมวยสิงอี้อย่างที่รู้จักกันในปัจจุบัน และในยุคสมัยของท่านหลี่ลั่วเหนิงนี่เองที่ทฤษฎีของมวยสิงอี้ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ จนกลายเป็นทฤษฎี 5 ธาตุ 12 ลักษณ์อันโดดเด่นของมวยสิงอี้ (五行– 十二形)
คำว่าสิงอี้ (形意) ในมวยสิงอี้นั้น คำว่าสิง (形) หมายถึงรูปลักษณ์ ขณะที่ (意) หมายถึงจิต มวยสิงอี้จึงหมายถึงมวยที่เน้นที่การฝึกจิตสำนึกและรูปลักษณ์ โดยหมัดจิตก็คือการฝึกหมัดตามหลักห้าธาตุหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหมัดห้าธาตุ ส่วนหมัดรูปลักษณ์ก็คือการฝึกลักษณะการเคลื่อนไหวของสัตว์สิบสองอย่างเรียกว่าหมัดสิบสองท่าสัตว์ หมัดห้าธาตุเน้นฝึกพลัง (勁力) ขณะที่หมัดสิบสองท่าสัตว์นั้นเน้นที่การนำเอาจิตวิญญาณของสัตว์แต่ละชนิดมาแสดงออกทางการเคลื่อนไหว
ทฤษฎีห้าธาตุของจีนนั้นมีมานานกว่าห้าพันปี ถือเป็นทฤษฎีพื้นฐานที่ควบคู่กับทฤษฎีหยินหยางและอัฐลักษณ์ด้วย ทฤษฎีห้าธาตุคือแนวคิดของการแบ่งคุณสมบัติของทุกสรรพสิ่งในจักรวาลออกเป็นห้ากลุ่มโดยอิงกับคุณสมบัติของธาตุห้าอย่างอันมี ดิน ทอง น้ำ ไม้ และไฟ นอกจากในแง่ของคุณสมบัติของแต่ละธาตุแล้ว ยังมีเรื่องของความสัมพันธ์ของธาตุที่มีต่อกันอีกด้วย ซึ่งแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ได้แก่ความสัมพันธ์แบบเกิด และความสัมพันธ์แบบข่ม
ความสัมพันธ์แบบเกิดก็คือการเกิดหรือส่งเสริมจากธาตุหนึ่งไปอีกธาตุหนึ่ง คือดินกำเนิดทองเพราะทองนั้นเกิดขึ้นมาภายในดิน ทองกำเนิดน้ำเพราะทองสามารถหลอมละลายเป็นของเหลวได้ น้ำกำเนิดไม้เพราะน้ำหล่อเลี้ยงไม้ให้เติบโต ไม้กำเนิดไฟเพราะไม้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับไฟ และไฟกำเนิดดินเพราะไฟสามารถเผาผลาญสิ่งต่างๆให้กลับไปเป็นธุลีได้ ส่วนความสัมพันธ์แบบข่มก็คือการที่ธาตุหนึ่งไปควบคุมและข่มทำลายอีกธาตุหนึ่ง คือดินข่มน้ำเพราะดินสามารถกั้นและกักน้ำได้ น้ำข่มไฟเพราะน้ำดับไฟได้ ไฟข่มทองเพราะไฟสามารถหลอมทองได้ ทองข่มไม้เพราะทองคือโลหะแข็งที่สามารถตัดไม้ได้ และไม้ข่มดินเพราะรากไม้ดูดสารอาหารจากดินและชอนไชรากทำลายดินได้
หมัดห้าธาตุของมวยสิงอี้ก็คือท่าหมัดห้าแบบที่อิงอยู่บนทฤษฎีห้าธาตุนี้ได้แก่ หมัดผ่า (พิเฉวียน) คือธาตุทอง ลักษณะของแรงที่ใช้คือการตีหมัดลงเหมือนขวานทองผ่าไม้ หมัดทะลวง (จ้วนเฉวียน) คือธาตุน้ำ ลักษณะของแรงคือหมุนเป็นเกลียวเหมือนน้ำวนและมีลักษณะแรงเหมือนน้ำซึมผ่านการป้องกันของฝ่ายตรงข้าม หมัดทะลาย (เปิงเฉวียน) คือธาตุไม้ ลักษณะของแรงคือยืดตรงไปข้างหน้าเหมือนไม้เติบโต หมัดปืนใหญ่ (เผ้าเฉวียน) คือธาตุไฟ ลักษณะของแรงคือการเปิดกระจายออกเหมือนไฟระเบิดออกจากปากปืนใหญ่ และหมัดขวาง (เหิงเฉวียน) คือธาตุดิน ลักษณะของแรงคือเคลื่อนขวางเหมือนดินสกัดน้ำ และนอกจากนี้หมัดห้าธาตุของมวยสิงอี้ยังมีความสัมพันธ์เกิดและข่มตามทฤษฎีห้าธาตุอย่างสมบูรณ์อีกด้วย เช่นหมัดผ่าธาตุทองสามารถกำเนิดหมัดทะลวงธาตุน้ำและสยบหมัดทะลายธาตุไม้ได้เป็นต้น
สำหรับสิบสองท่าสัตว์นั้นก็คือการนำทักษะอันเฉพาะเจาะจงของสัตว์แต่ละชนิดมาแสดงออกด้วยการเคลื่อนไหว ซึ่งการเลียนแบบการเคลื่อนไหวและทักษะของสัตว์นี้ถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของศิลปะการต่อสู้แบบจีนเลยก็ว่าได้ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับสิบสองท่าสัตว์ในมวยสิงอี้นั้นมีความแตกต่างจากการเลียนแบบท่าสัตว์ในมวยจีนชนิดอื่นอยู่มาก นั่นคือในมวยสิงอี้นั้นจะเน้นที่การลอกเลียนรูปแบบภายในและจิตวิญญาณของสัตว์ชนิดนั้นมากกว่าท่าทางการเคลื่อนไหวภายนอก เช่นในท่าพยัคฆ์จะเน้นที่ความกล้าหาญในการทะยานตัวไปข้างหน้าราวกับพยัคฆ์ตระครุบเหยื่อมากกว่าจะเน้นที่เรื่องของวิชาที่เลียนแบบการใช้กงเล็บของพยัคฆ์อย่างในมวยทั่วไป
ปัจจุบันนี้มวยสิงอี้ได้เป็นหนึ่งในสามสุดยอดมวยภายใน ที่มีหลักการฝึกอันถูกต้องตามมุมมองของมวยภายในโดยบริสุทธิ์ขนานแท้ เพียงแต่แตกต่างจากมวยไท่จี๋ (มวยไท่เก๊ก) ที่มวยสิงอี้นั้นเน้นที่การแสดงด้านกร้าวแกร่ง แต่มวยไท่จี๋นั้นเน้นที่การแสดงด้านอ่อนหยุ่น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้มวยสิงอี้นั้นเริ่มเป็นที่แพร่หลายและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง จนแม้แต่นำเอาบางท่าบางส่วนอย่างไม่สมบูรณ์มาฝึกเพื่อสุขภาพไป แต่ผู้เขียนขอเตือนไว้สักนิด วิชามวยสิงอี้นั้นมีลักษณะเฉพาะตน หากไม่เข้าใจแล้วย่อมฝึกไม่ได้ดี นี่คือหนึ่ง สองคือวิชานี้แม้จนถึงปัจจุบัน เคล็ดความต่างๆก็ยังไม่ได้ถ่ายทอดแบบเผยแพร่อย่างถูกต้อง สมัยที่เริ่มเผยแพร่มวยนี้สู่สาธารณะหรือที่เรียกว่า “กงไค” นั้น ยังมีคำกล่าวว่า ”练形意拳招邪” ซึ่งหมายความว่า “ฝึกมวยสิงอี้เป็นการชักนำปีศาจเข้ามา” เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นเมื่อคนทั่วไปที่ไม่ได้ฝึกในสายวิชาผ่านครูบาอาจารย์อย่างถูกต้องนั้น เมื่อฝึกแล้วร่างกายกลับยิ่งอ่อนแอลง ทั้งเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งบาดเจ็บภายใน (ตรงข้ามกับครูมวยสายตรงหรือผู้สืบทอด ซึ่งมักจะมีอายุยืนยาวเกิน 90 ปี เสียส่วนใหญ่) ดังนั้นขอให้ผู้ฝึกและผู้ถ่ายทอดวิชามวยนี้พึงสังวรณ์