ศิลปะการต่อสู้ของจีนกับมวยไท่จี๋
- 31/07/2017
- Posted by: Liang
- Category: เรื่องทั่วไปในวิทยายุทธ์
ในหลายปีที่ผ่านมานั้น ผมอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่เข้าออกประเทศจีนอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่แท้จริงแล้วประเทศจีนคือประเทศที่ผมไม่ชอบ แม้ว่าผมจะมีเชื้อสายจีนและเกิดในเกาะที่เป็นส่วนหนึ่งของจีนอย่างฮ่องกงก็ตาม แต่ด้วยความที่ผมเติบโตภายใต้วัฒนธรรมการเลี้ยงดูแบบจีนรวมทั้งศึกษาวิชาและศาสตร์ต่างๆ กับครูบาอาจารย์ที่ต่างก็ล้วนมอบความรู้ต่างๆให้ผมด้วยพื้นฐานวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำให้ผมมักไม่ชอบและมองประเทศจีนอันขาดจิตวิญญาณตั้งแต่หลังปฏิวัติวัฒนธรรมด้วยท่าทีที่ไม่ดีนัก แต่อย่างไรก็ตามหลายปีที่ผ่านมาการได้เรียนรู้ศาสตร์และความรู้ต่างๆจากการได้อยู่และพักอาศัยในประเทศจีน ก็ทำให้ผมเองอดที่จะพยายามเผยแพร่และแนะนำศาสตร์วิชาต่างๆด้วยจิตสำนึกของชาวจีนไม่ได้ จึงได้เขียนบทความนี้ในบล็อกของผมก่อนในตอนแรกและตั้งใจจะเขียนยาวต่อเนื่อง แต่ตอนนี้เนื่องจากมีเว็บขึ้นมาก็ได้ตัดตอนและรวมบทความเข้าเป็นเนื้อหาเดียวพร้อมกับเพิ่มเนื้อหาเล็กน้อย เพื่อแนะนำทั่วๆไปถึงศิลปะการต่อสู้จีนกับมวยไท่จี๋เพื่อความเข้าใจเป็นพื้นฐานไปในคราวเดียว
จงกว๋ออู่ซู่ หรือศิลปะการต่อสู้ของจีน
จริงๆแล้วคำว่าจงกว๋ออู่ซู่ซึ่งหมายถึงศิลปะการจีนในปัจจุบันนั้นเป็นคำที่สร้างขึ้นมาใหม่ ในยุคสมัยหมินกว๋อหรือยุคการปกครองก่อนเหมาเจ๋อตุงนั้นศิลปะการต่อสู้ได้ถูกเรียกว่ากว๋อซู่อีกด้วย แม้บ่อยครั้งคำว่าอู่ซู่จะถูกอ้างถึงศิลปะการร่ายรำท่ามวยแบบสวยงามหรือวูซูแบบสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตามคำนี้ได้ถูกยกขึ้นมาใช้อย่างกว้างขวาง และมันยังรวมความหมายถึงศิลปะการต่อสู้ของจีนทั้งหมดอีกด้วย ดังนั้นจงกว๋ออู่ซู่จึงหมายถึงศิลปะการต่อสู้ของจีนนั่นเอง
จงกว๋ออู่ซู่หรือศิลปะการต่อสู้ของจีนนั้นคือศิลปะการต่อสู้แขนงหนึ่ง ซึ่งได้กำเนิด เติบโต และพัฒนาขึ้นมาจากวัฒนธรรมพื้นฐานของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการใช้ชีวิต และวัฒนธรรมเชิงปรัชญา ศาสนา และความเชื่อ ซึ่งภายใต้แผ่นดินที่กว้างใหญ่ของจีนเองบางครั้งก็มีความขัดแย้งแตกต่าง ระหว่างวิชามวยกันเองจนแบ่งเป็นฝักฝ่ายกันอยู่มาก เช่น ฝ่ายเหนือ-ฝ่ายใต้(หนานพ่าย-เป่ยพ่าย) ฝ่ายภายนอก-ภายใน(เน่ยเจีย-ไว่เจีย) ทำให้บ่อยครั้งการคุยกันในวิชามวยก็เหมือนแตกต่างกันคนละภาษา แต่เมื่อมองภาพรวมทั้งหมดอาจจะกล่าวได้ว่ามวยจีนก็เหมือนภาษาจีนเอง ที่แม้ต่างสำเนียงต่างท้องถิ่นต่างมลฑล แต่ก็ยังเป็นภาษาเดียวกันและเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นชาวจีนในภาษาเดียวกันนี้เอง แม้ต่างมาจากคนละที่แต่หากมีความรักใคร่ชอบพอ มีมิตรภาพไมตรีต่อกัน ย่อมส่งสำเนียงพูดคุยกันได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ศิลปะการต่อสู้ของจีน ไม่ใช่นิยายจีน
บ่อยครั้งที่ผมอยู่ในประเทศจีนและได้พบพูดคุยกับผู้ฝึกวิชามวยจีน ในประเทศจีนเองนี่ถือว่าไม่นับผู้ฝึกในเชิงกีฬาหรือการแสดง ผมได้พบว่านักมวยจีนรุ่นเก่าหรือแม้แต่รุ่นใหม่ๆ เอง ไม่ได้ตกอยู่ใต้อิทธิพลของนิยายจีนกำลังภายจากฝั่งฮ่องกง-ไต้หวันเหมือนผู้ฝึกในไทย ผู้ฝึกในจีน(รวมไต้หวัน-ฮ่องกง) มองศิลปะการต่อสู้ค่อนข้างเรียบง่ายว่ามันก็คือศิลปะการต่อสู้อย่างหนึ่ง ซึ่งมีผลดีต่อสุขภาพด้วย แม้บ่อยครั้งด้วยวัฒนธรรมของชาวจีนที่นิยมใช้การเปรียบเปรย หรืออ้างความเชื่อที่อาจจะดูเหมือนอวดอ้างเกินจริงในสายตาของผู้ที่อยู่ใน ต่างประเทศต่างวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเพียงส่วนที่เกิดจากวัฒนธรรมที่เป็นอยู่ แต่ตัวผู้ฝึกและผู้เรียนรู้ศึกษาแล้วโดยส่วนใหญ่ก็ยังมีความเข้าใจอย่างถูก ต้องและตรงไปตรงมาต่อวิชาที่ตัวเองได้ศึกษามาเป็นส่วนใหญ่ ในเรื่องนี้หลายครั้งที่ผมได้พบและพูดคุยกับอาจารย์มวยรุ่นใหญ่หรือที่เรียกว่า ”ต้าซือ” หรืออาจารย์ใหญ่ทั้งหลาย ผมก็พบว่าครูมวยเหล่านี้ต่างพูดคุยถึงวิชาอยู่ในขอบเขตแห่งความจริงเป็นส่วนมาก ท่านเหล่านั้นมักจะไม่ได้อวดอ้างพลังชี่หรือปราณ กำลังภายใน หรือพลังพิเศษอะไร หากเทียบกับหนังสือหรือตำรามวยจีนที่เขียนกันในโลกตะวันตกหรือพูดง่ายๆว่า ที่เขียนกันเป็นภาษาฝรั่งออกมานั้น พบว่าตำราเหล่านั้นมักจะอวดอ้างเกินจริงเสียมากกว่าที่ครูมวยท่านสอนกันไว้จริงๆเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นสำหรับผู้ฝึกมวยจีน จึงพึงตระหนักถึงเรื่องของ “ทัศนะคติและความเข้าใจที่ถูกต้อง” ต่อวิชามวยให้มาก บ่อยครั้งที่ผมเห็นคนที่เพียงแค่เคยอ่านหลักวิชาจากนิยายก็เอามาพูดคุยหรือ อธิบายหลักวิชาให้ผู้อื่นฟัง ครั้นพอผมบอกกล่าวในเรื่องของความถูกต้องและขอบเขตความจริงของวิชา กลับพบว่าส่วนใหญ่แล้วบรรดา “มือใหม่” เหล่านี้มักจะรับไม่ได้และหาว่าผมดูถูกวิชามวยไปเสียอีก เข้าใจผิดไปเองยังไม่ว่าแต่ส่วนใหญ่ยังเห็นเอาหลักผิดๆไปกล่าวอ้างต่อ นี่เท่ากับการสร้างทัศนะคติที่ผู้คนมีต่อมวยจีนให้ไปในทางที่ผิดโดยแท้
ศิลปะการต่อสู้ของจีนคือวัฒนธรรมจีน คือหนึ่งในจิตวิญญาณของจีน
ศิลปะการต่อสู้ ก็คือผลึกทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้นศิลปะการต่อสู้ของจีนจึงเป็นผลึกทางวัฒนธรรมของชาวจีนที่สร้างขึ้นมา จากพื้นฐานการใช้ชีวิต, หลักปรัชญา, ความเชื่อ, และยังได้ผสานและหลอมรวมกับศาสตร์ที่เกิดจากวัฒนธรรมเดียวกันอย่างใกลล้ชิด มวยจีนบางชนิดอาจจะเกิดจากการใช้ชีวิตทั่วไป ทำให้สามารถแสดงมวยได้อย่างเรียบง่ายและตรงไปตรงมา มวยบางอย่างกลับเกิดจากปรัชญาหรือความเชื่อเช่นมวยไท่จี๋ ทำให้การอธิบายบางครั้งอาจจะดูเหมือนว่าเต็มไปด้วยหลักการเพ้อฝันไกลตัว แต่พึงเข้าใจว่าเมื่อมองจากวัฒนธรรมจีนแล้วปรัชญาเหล่านี้หาใช่สิ่งไกลตัว เลย หากแต่มันเป็นปรัชญาที่อยู่แนบแน่นกับความเชื่อและชีวิตของชาวจีนมาช้านานจน เป็นหลักการและความเชื่อเบื้องหลังวัฒนธรรมจีนอันหลากหลายและยาวนานไปแล้ว
ศิลปะการต่อสู้ของจีน คือจิตวิญญาณหนึ่งของชาวจีน มันได้แสดงถึงจิตวิญญาณด้านความแข็งแกร่ง แต่ในขณะเดียวกันมันได้เน้นถึงหลักการแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตนตามวิถีของเต๋า และจริยธรรมจรรยาตามหลักแห่งขงจื้อด้วย สิ่งต่างๆทางวัฒนธรรมนี้หลอมรวมเข้ากันจึงเป็นวิชามวยจีนขึ้นมา ดังนั้นการเรียนมวยจีนสำคัญคือต้องเรียน “อู่เต๋อ” 武德หรือคุณธรรมวิชามวยควบคู่ไปด้วย และน่าเสียดายที่ด้วยการพัฒนาการต่อสู้ในปัจจุบันทำให้มีคนไม่น้อยเอาเทคนิค ต่างๆมาสร้างวิชามวยใหม่ๆ และเรียกมวยนั้นๆว่า “มวยจีน” พร้อมกับอ้างว่ามันร้ายกาจกว่ามวยจีนดั้งเดิม บางครั้งเอาวิชาตัวเองเป็นเครื่องมือไปดูถูกวิชาเดิม โดยที่พวกเขาลืมไปว่ามวยจีนที่แท้จริงไม่ใช่เรื่องของความเก่งมากน้อยหรือ วิชานั้นร้ายกาจเพียงใด แต่สำคัญคือการเรียนรู้หลักคุณธรรมและวัฒนธรรมที่ดีงามพร้อมๆกับการพัฒนา ความเข้มแข็งของตัวเองและชนในชาติทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการเผยแพร่วัฒนธรรมนี้ออกไปด้วยจิตสำนึกที่ดี เพื่อให้ศิลปะนี้เป็นสิ่งที่คนทุกผู้ในโลกสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความ ดีงามทางวัฒนธรรมนี้ร่วมกัน จริงอยู่ว่าแม้บางครั้งในวัฒนธรรมของชาวจีนเองก็มีสิ่งที่ไม่ดีแฝงอยู่ แต่นั่นไม่พึงถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการเผยแพร่มวยจีนอย่างวัตถุประสงค์ แต่พึงนำตัวอย่างที่ไม่ดีนั้นมาเป็นแนวทางแก้ไขและมุ่งพัฒนาสิ่งที่ดีๆขึ้นมา เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีขึ้นมาในสังคมมวยจีนและโลกใบนี้
ภาพยนต์จีนกำลังภายใน เหตุหนึ่งแห่งความเข้าใจผิด
ในยุคที่จีนยังปิดประเทศอยู่นั้นดูเหมือนเราจะสามารถรับรู้ถึงศิลปะการต่อสู้ของจีนผ่านทางภาพยนต์หรือหนังฮ่องกงเป็นส่วนใหญ่ แน่นอนว่าหนังหรือภาพยนต์ไม่ใช่ของเลวร้าย(ผมก็ชอบดู) เพียงแต่ส่วนใหญ่ภาพที่แสดงออกจากภาพยนต์นั้นมักจะมีการเสริมแต่งเกินจริง ซึ่งในยุคที่ข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงไม่ได้มีการเผยแพร่ออกมานั้นการเข้าใจศิลปะการต่อสู้ของจีนแบบผิดๆจากภาพยนต์ก็เป็นไปได้ง่าย ภาพของการส่งเสียงต่อสู้(แบบ ฮ่าๆๆๆ) หรือการป้องปัดรับมือแบบที่สมบูรณ์และรับการโจมตีได้หมดแบบไม่ถูกเนื้อต้องตัวเลยนั้น ได้เริ่มกลายเป็นภาพที่แท้จริงในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อศิลปะการต่อสู้แบบจีน หรือแม้กระทั่งภาพของพลังภายในแบบพิเศษต่างๆ แน่นอนว่าภาพยนต์หรือหนังนั้นหาได้มีผลต่อแค่ชาวต่างชาติที่มองมวยจีนเท่านั้น แม้แต่ชาวจีนเองไม่น้อยก็ยังเข้าใจผิดด้วยซ้ำดังจะเห็นได้จากการพยายามสร้างหรือแสดงวิธีการต่อสู้แบบในหนังหรือภาพยนต์ขึ้นมา และทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อภาพของการต่อสู้หรือป้องกันตัวแบบจีนไปในวงกว้าง ดังนั้นการจะเริ่มฝึกศิลปะการต่อสู้แบบจีนนั้นผู้ฝึกควรแยกแยะประเด็นนี้ให้ออกแล้วมองถึงหลักวิชาที่แท้จริงที่ใช้ในการต่อสู้ในวิชาที่ตนฝึกฝนอยู่จะดีกว่า
ซือฝู่หรืออาจารย์ หนึ่งในความหมายด้านความอ่อนน้อมถ่อมตน และกตัญญูกตเวที
เมื่อเรียนมวยจีนย่อมต้องมีผู้ถ่ายทอดวิชาให้ แม้ว่าสมัยนี้ผู้สอนมวยจีนได้ผันสภาพไปเป็นโค้ชหรือครูฝึกที่เรียกกันว่า “เหล่าซือ” กันหมดแล้ว แต่ภายสำหรับวัฒนธรรมจีนแบบดั้งเดิมรวมทั้งวัฒนธรรมจีนโพ้นทะเลแล้ว คำว่า “ซือฝู่” หรือ “ซี๊ฝู” ในภาษากวางตุ้งยังเป็นหัวใจทางวัฒนธรรมอันแสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน และรู้จักกตัญญูตามหลักขงจื้ออยู่
คำว่าซือฝู่หมายถึงอาจารย์ ไม่เพียงแค่อาจารย์มวยแต่ซือฝู่ยังใช้เรียกผู้ที่มีความรู้และเชี่ยวชาญและ เป็นต้นแบบในศาสตร์วิชาใดวิชาหนึ่งด้วย แม้ดูผิวเผินก็แค่แปลว่าอาจารย์แต่แท้จริงแล้วมันมีความละเอียดอ่อนอยู่ภาย ใน คำว่าซือฝู่นั้นต่อผู้อื่นมันคือความเคารพให้เกียรติและแสดงถึงความอ่อนน้อมของตัวเอง ดังนั้นต่อผู้อื่นคำว่า “ฝู่” จะเขียนด้วย傅 เป็น 師傅 ทุกครั้งที่เราเรียกผู้อื่นว่าซือฝู่ มันได้แสดงให้เห็นถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกัน (ไม่ใช่เรียกกันว่า “ไอ้ห่านั้น” หรือ “ไอ้หมอนี่”) ต่อผู้ที่เป็นอาจารย์ของตน คำว่าฝู่จะเขียนด้วย 父 ซึ่งแปลว่า “พ่อ” เป็น 師父 ดังนั้นคำว่า 師父จึงแสดงถึงความกตัญญูต่อผู้เป็นอาจารย์ดังพ่อของตัวเอง และผู้เป็นอาจารย์ก็ต้องรักและถ่ายทอดวิชาและจริยธรรมจรรยาด้วยความอยากให้ ลูกศิษย์เป็นคนดีดังเช่นที่หวังให้ลูกตัวเองเป็น สิ่งเล็กๆน้อยๆเหล่านี้แม้ผิวเผินแต่กลับแสดงถึงความละเอียดอ่อนและความดี งามทางวัฒนธรรม รวมถึงหลักของขงจื้อที่ควรยึดถือแฝงอยู่ในศาสตร์วิชามวยที่เราต้องศึกษาด้วย
มวยไท่จี๋คือศิลปะการต่อสู้และวัฒนธรรมจีน
มวยไท่จี๋ หรือไท่จี๋เฉวียน หรือ ไท่เก๊ก ตามสำเนียงกวางตุ้งและแต้จิ๋ว คือศิลปะการต่อสู้อันตกผลึกจากวัฒนธรรมเชิงปรัชญาอย่างหนึ่ง เป็นศาสตร์วิชาที่ได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน, โอนอ่อนผ่อนตาม และความสงบไม่ก้าวร้าว ตามหลักปรัชญาเต๋า ถือเป็นหัวใจหลักและภาพลักษณ์ที่ดีงามของชาวจีน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่มวยไท่จี๋ได้รับการยอมรับในวงกว้างจนเป็นหนึ่งใน ตัวแทนวิชาอู่ซู่ของจีน หากพูดถึงว่ามวยที่ได้รับการยอมรับและแพร่หลายมากที่สุดของจีนก็คงไม่พ้นมวย ไท่จี๋นี่เอง
มวยไท่จี๋คือศิลปะการต่อสู้ที่ได้นำเอาหลักวิชาปรัชญาของอี้จิงและเต๋ามาสู่ การใช้งานในการต่อสู้ ทั้งหลอมรวมแนวคิดเรื่องการพัฒนาร่างกายและใจจิตใจมีความแข็งแรงและเข้มแข็ง เพื่อพัฒนากำลังของคนในชาติตามอย่างแนวคิดของวิชาการต่อสู้ของจีนหรือจงกว๋อ อู่ซู่ มวยไท่จี๋จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในศาสตร์วิชาที่เป็นตัวแทนหนึ่งอันเป็นจิต วิญญาณทางด้านวัฒนธรรมจีนและศิลปะการต่อสู้ของจีนได้อย่างน่าภูมิใจ และแม้ว่ามันจะเป็นศาสตร์วิชาของจีนแต่วิชาที่ดีต้องมีความเป็นสากลและเข้า ถึงคนทุกผู้ทุกชนชั้นโดยไม่แบ่งชาย หญิง เด็ก แก่ ซึ่งมวยไท่จี๋นั้นไม่เพียงแต่ได้รับการยอมรับจากชาวจีนเท่านั้น แต่ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้างในระดับโลกโดยไม่แบ่งผู้คนหรือชนชาติ ทุกคนต่างสามารถซึมซับและรับเอาผลในการใช้งาน, สุขภาพที่แข็งแรงจากการฝึก รวมถึงสามารถซึมซับรับเอาความดีงาม, ความเข้มแข็ง, หลักแห่งการครองตน, และจิตวิญญาณของวิชาจากการฝึกมวยไท่จี๋ได้ทั้งสิ้น ดังนั้นมวยไท่จี๋จึงสมควรต่อการศึกษาไม่เพียงแต่ชาวจีนเท่านั้น แต่ยังสมควรต่อการศึกษาของทุกผู้คนในโลกด้วย