การใช้เอวเพื่อแรงภายใน โดย อ.เหมย ยิง เชิง (MD)
- 31/07/2017
- Posted by: Liang
- Category: ไท่จี๋เฉวียน (มวยไท่เก๊ก)
***บทความนี้เป็นบทความจากเว็บเก่า จึงพิมพ์ไท่จี๋เฉวียนเป็นไทจี๋ฉวนตามความสะดวกในการพิมพ์เวลานั้น***
ไทจี๋ฉวนให้ความสำคัญกับ “ใช้จิตเคลื่อนเป็นอันดับแรก ก่อเกิดความเคลื่อนไหวของร่างกาย แสดงออกเป็นท่าร่าง” นี่เป็นการรวมเข้าด้วยกันของ จิตวิญญาณ(เสิน) เจตจำนง(อี้) พลังงายภายใน(ชี่) และร่างกาย เพื่อแสดงออกถึงศิลปะการต่อสู้ขั้นสูง
การผสานภายใน หมายถึงการโคจรพลังงานภายในด้วยเจตจำนง ซึ่งจะช่วงยกระดับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และยกระดับทางความคิดทางจิตใจของสมอง ในทุกการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเล็กแคบแค่ไหนก็ตามล้วนต้องควบคุมด้วยเจตจำนง ตลอดเวลาผู้ฝึกต้องบรรลุถึงสามประสานใน ซึ่งประกอบด้วย การผสานจิตกับเจตจำนง ผสานเจตจำนงกับพลังงานภายใน และผสานพลังภายในกับแรงกำลัง การผสานนอกหมายถึงการแยกความแตกต่างของการเปลี่ยนแปลงระหว่างว่างและเต็มในการเคลื่อนไหวของไทจี๋ฉวน ลักษณะภายนอกประกอบด้วยร่างกายภายนอกได้แก่ ขา ลำตัว และแขน โดยการทำให้ข้อต่อหลักทั้งเก้าส่วนผ่อนคลาย และเคลื่อนไหว จะช่วยยกระดับของการประสานท่อนบนและท่อนล่างของร่างกายร่วมทั้งร่างกายทุกส่วน ภายในและภายนอกต้องรวมกันด้วยการประสานของท่าร่างและจิตสำนึก ทั้งสองส่วนนี้ต้องไม่แยกจากกัน ทุกท่าการเคลื่อนไหวคล้องสัมพันธ์กับจิตสำนึกและเจตจำนง
กล่าวทางทางสรีระวิทยาของการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ การเคลื่อนไหวเกิดจากข้อต่อซึ่งเชื่อมกระดูกเข้าด้วยกัน และกล้ามเนื้อในส่วนนั้นๆ ในร่างกายมนุษย์ประกอบด้วย 206 จุดของการเชื่อมต่อระหว่างกระดูก จุดเชื่อมต่อที่เคลื่อนไหวได้คือส่วนของข้อต่อ การเคลื่อนไหวเกือบทั้งหมดของร่างกายเกิดขึ้นจาก ข้อต่อ และกล้ามเนื้อ/เส้นเอ็น เชื่อมยังกระดูก การเคลื่อนไหวนี้ถูกควบคุมให้สัมพันธ์กันโดยการควบคุมของระบบประสาท
ไทจี๋ฉวนเป็นศิลปะการต่อสู้ขั้นสูงที่มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง ซึ่งไม่เพียงแต่ใช่เทคนิคภายนอกเท่านั้น ตำราเล่มหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ภายในฝึกฝนหนึ่งปราณ ภายนอกพัฒนาเส้นเอ็น กระดูก และผิวหนัง” คำว่า “หนึ่งปราณ” ในที่นี้หมายถึง พลังงานศูนย์กลางภายในหรือ “หยวนชี่” ซึ่งมักจะถูกเรียกว่า “พลังงานก่อนฟ้า หรือ เทียนหยวนชี่” พลังภายในหรือแรงภายใน (เน่ยจิ้ง) ซึ่งแสดงออกภายใต้การควบคุมของจิต
ตำราไทจี๋กล่าวว่า “ใช้จิตขับเคลื่อนพลังภายใน”, “ภายนอกพัฒนากระดูกเส้นเอ็นและเนื้อหนัง” และระบุถึงการใช้ “เน่ยจิ้งขับเคลื่อนร่างกาย” ซึ่งเกิดจากการเคลี่อนไหวบิดหมุนอย่างต่อเนื่องของกระดูกสันหลัง เอว ข้อมือ เข่า ข้อเท่า ฯลฯ การผสานเข้าซึ่งกันและกันของทั้งภายนอกและภายในโดยการฝึกไทจี๋ฉวนนี้ เพียงแต่เพิ่มความคล่องแคล่ว และการตอบสนองของข้อต่อต่างๆในร่างกาย แต่ยังพัฒนาเน่ยจิ้งได้อย่างสูงยิ่งด้วย
ระหว่างการฝึกไทจี๋ฉวน ทุกการเคลื่อนไหวต้องให้ความสำคัญกับการผสานท่อนล่างและท่อนบนของร่างกายเข้าด้วยกัน ในตำราไทจี๋กล่าวไว้ว่า “เมื่อจุดหนึ่งเคลื่อน ทุกส่วนล้วนเคลื่อน” แต่ละการเคลื่อนไหวต้องเกิดจากการหมุนของเอวซึ่งทำให้ทุกส่วนของร่างกายล้วนเคลื่อนไหวเป็นหน่วยเดียวกัน ทุกส่วนของร่างกายต้องผสานกับการเคลื่อนไหวของเอว พลังกำเนิดจากเท้า พุ่งผ่านขา ควบคุมโดยเอว แสดงออกทางมือและนิ้ว ล้วนเกิดในหนึ่งปราณ (หยวนชี่) โดยการควบคุมตามแนวทางนี้จะสามารถปล่อยแรงภายใน (ฟาจิ้ง) ได้
เอวและกระดูกสันหลัง จิตเพ่งด้วยตาติดตาม มือเท้าตามการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวท่อนบนและล่างเชื่อมโยงกันอย่างเป็นธรรมชาติ หัวใจหลักของการผสานบนล่างเข้าด้วยกันคือความคล่อง แคล่วรวดเร็วของใจ (ซิน) หรือเจตจำนง (อี้) เท้าต้องทำให้ร่างกายมั่นคงและยึดแน่น การหยั่งรากนี้ต้องควบคุมโดยเอวและหว่างขา (คว่า) เอวคือส่วนควบคุมในการปล่อยแรงภายใน (ฟาจิ้ง) เพื่อการนี้ร่างกายส่วนบนและส่วนล่างต้องเป็นหนึ่งเดียว
ลักษณะอีกอย่างของการผสานการเคลื่อนไหวของร่างกายท่อนบนและท่อนล่าง คือการผสานสามผสานนอก นั้นคือการรวมหรือเชื่อมต่อของ “ มือและเท้า ศอกและเข่า ไหล่และสะโพก ” หมายความว่าในระหว่างการฝึก ส่วนที่กล่าวไว้ต้องผสานซึ่งกันและกัน ในขณะเดียวกันลำตัวทุกส่วนต้องติดตามเป็นหน่วยเดียวกัน ทำให้ร่างกาย มือ การก้าว และสายตาเคลื่อนไหวอย่างสำพันธ์กัน ทำให้สามารถรวมเจตจำนง (อี้) และรวมรวมแรงภายใน (เน่ยจิ้ง) แสดงออกเป็นหน่วยเดียวกัน
แรงภายในคืออะไร ? ในเบื้องต้นแรงภายใน (เน่ยจิ้ง) จะหมายถึง แรงกำลัง (จิ้งลี่) ที่สร้างขึ้นภายในร่างกาย ลี่ และ จิ้ง ไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสมบูรณ์ แต่มันยังคงมีความแตกต่างกัน ลี่เป็นเหลี่ยมแต่จิ้งโค้งกลม ลี่ฝืดแต่จิ้งคล่อง ลี่ช้าแต่จิ้งเร็ว ลี่กระจายแต่จิ้งรวมศูนย์ ไทจี๋ฉวนคือศิลปะการต่อสู้ที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเน่ยจิ้ง ไม่ใช่กับแรงดิบอย่างสัตว์ป่า เน่ยจิ้งนี้นี้ต้องมีอยู่ตลอด ไม่ว่าในการฝึกร่ายรำ การฝึกผลักมือ หรือการฝึกอื่นๆ
เน่ยจิ้งคือแรงยืดหยุ่น (สภาพ elastic ) และแรงต้าน (เหมือนแรงต้านอากาศที่พยุงให้เครื่องบินลอยตัว) จากภายใน ซึ่งแข็งแรงภายนอกและอ่อนหยุ่นภายใน ดังที่หยางเฉิงฝู่กล่าวไว้ว่า
“ ไทจี๋ฉวน คือสำลีหุ้มเหล็ก ” หรือดังที่กล่าวว่า “ ไม่แสดงความแข็งแกร่งออกทางภายนอก แต่เก็บซ่อนไว้ภายใน” เน่ยจิ้งในไทจี๋ฉวนแบ่งออกเป็นแปดลักษณะประกอบด้วย เผิงจิ้ง ลู่จิ้ง จี่จิ้ง อั่นจิ้ง ไฉ่จิ้ง เลี๊ยะจิ้ง โจ่วจิ้ง เค่าจิ้ง แม้ชื่อของเน่ยจิ้งเหล่านี้จะแตกต่าง แต่ทั้งหมดล้วนเกิดจากการบิดหมุนของพลังรังไหม
ตำราไทจี๋กล่าวไว้ว่า “แรงของฝ่ามือ ข้อมือ ศอก ไหล่ หลัง เอว สะโพก เข่า เท้า ข้อต่อส่วนบนและส่วนล่าง ทั้งเก้าปล่อยออกโดยเอว”, “เมื่อพลังภายในอยู่ที่ฝ่ามือ แกนอยู่ที่เอว” และ “เมื่อฝึกฝนการต่อสู้โดยไม่ฝึกเอว ยากที่จะบรรลุได้ถึงขั้นสูง” ดังนั้นในการฝึกกุญแจในการบรรลุถึงเน่ยจิ้งอยู่ที่การฝึกฝนเอว
ตามหลักสรีระวิทยา เอวอยู่ในส่วนของร่างกาย เหนือเอวและล่างชายโครง ด้านหน้าของเอวต่ำจากสะดือลงไปสองนิ้ว (จุดชี่ห่าย) ส่วนหลังของเอวเป็นที่ตั้งของจุดหมิงเหมินซึ่งตั้งบนกระดูกสันหลังตรงข้ามสะดือ ส่วนนี้ได้ถูกยึดถือเป็นศูนย์กลางของร่างกายเมื่อพลังถูกปล่อยจากตันเถียน และเมื่อพลังถูกเก็บรวมสู่ตันเถียน
“พลังภายในจมสู่ตันเถียน บนว่างล่างเต็ม พลังภายในรวมที่จุดศูนย์กลาง ว่างและเต็มถูกเก็บไว้ภายใน” พลังรังไหมปล่อยออกจากไต ปรากฏที่ตันเถียน กระจายไปทั่วร่าง ภายในกระตุ้นระบบอวัยวะภายนอกและกระดูก ภายนอกเคลื่อนกล้ามเนื้อ กระดูก และผม(ขน) เน่ยจิ้งจะเคลื่อนทั่วร่างถึงจุดปลายทั้งสี่ เมื่อเน่ยจิ้งเต็มเปี่ยม จะเกิดความรู้สึกมากมายขึ้นในร่างกายเช่น ผิวหนังร้อนขึ้น การขยายตัวของนิ้ว การถ่วงของส้นเท้า การจมต่ำในตันเถียน และรวมทั้งปรากฏการณ์อื่นๆ
หลักของไทจี่ฉวนต้องการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างว่างและเต็มดังที่กล่าวไว้ว่า “ เมื่อแบ่งแยกเต็มและว่าง ทุกส่วนย่อมเคลื่อนตามกัน นำพลัง(ของคู่ต่อสู้)ให้พบกับความว่างและยืมแรง(ของคู่ต่อสู้)โจมตี ” ถ้าไม่สามารถแบ่งแยกเต็มและว่างได้จะไม่สามารถเคลื่อนทั้งร่างเป็นหน่วยเดียวกันได้ และย่อมไม่สามารถสลายแรงของคู่ต่อสู้ได้ผลคือไม่สามารถยืมแรงของคู่ต่อสู้โจมตีกลับได้ เต็มและว่าง คือการเปลี่ยนแปลงระหว่างไตและเอว ศูนย์การของการเปลี่ยนแปลงนี้ที่จุดหมิงเหมินระหว่างไตทั้งสอง รวมจิตที่หมิงเหมินต่อเนื่องเพื่อให้ร่างกายสมดุลและป้องกันการเอนเอียงของร่างกาย ในการเคลื่อนไหวใช้จุดหมิงเหมินเป็นจุดศูนย์กลางของการขับเคลื่อนแรงเพื่อเปลี่ยนระหว่างเต็มและว่าง เพื่อให้เกิดความผ่อนคลาย และเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวที่จม และเคลื่อนโค้งระหว่างกล้ามเนื้ออกและหลัง เมื่อทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจึงจะสามารถเติมร่างกายด้วยเน่ยจิ้ง สลายแรงด้วยการเคลื่อนไหวแบบวงกลม และสามารถยืมแรงของคู่ต่อสู้ได้ ดังที่กล่าวไว้เสมอว่า “ร่างกายทั้งหมดคือหมัด” หรือ “ร่างกายทั้งหมดคือไทจี๋”
ในแง่กลศาสตร์เอวคือแรงผลักดันของการเคลื่อนไหว ในตำรากล่าวไว้ว่า “หมิ่งเหมินซึ่งอยู่ระหว่างไตคือกุญแจแห่งแรงผลักดันสำหรับส่วนบนและส่วนล่างของร่างกาย” เอวต้องรักษาและควบคุมให้ศูนย์กลางของการเคลื่อนไหวเบาคล่องและมั่นคง ถ้าการเคลื่อนไหวเพียงเกิดของแขนและมือร่างกายจะไม่เชื่อมต่อ ดังที่กล่าวไว้ว่า “กำลังของการเคลื่อนเกิดเพียงแขนไม่เคลื่อนเอวเทคนิคทั้งหมดย่อมสูญสลาย”
แล้วเราควรจะพัฒนาความว่องไว เพิ่มพลัง และสร้างความยืดหยุ่นของเอวเพื่อสร้างและยกระดับแรงภายในหรือเน่ยจิ้งได้อย่างไร ? หลักการของไทจี๋ฉวนกล่าวไว้ว่า ท่วงท่าและเทคนิคต่างๆในการฝึกควรกระทำอย่างถูกต้อง ต้องคลายช่วงคอดึงจิตวิญญาณขึ้น คลายไหล่จมศอก เก็บอกจมเอว เปิดและทำหว่างขาให้โค้ง งอเข่าคลายสะโพก จมพลังลงสู่ตันเถียน ฯลฯ ซึ่งหนึ่งสิ่งที่สำคัญมากคือเก็บอกและจมเอว ต้องสามารถบิดหมุน ปลุกเร้า และจมเอว ต้องสามารถผ่อนคลาย ปิด และรัดหว่างขา เมื่อบิดเอวหว่างขาต้องรัดแน่นไม่เช่นนั้นแรงภายในย่อมสลาย เมื่อปลุกเร้าช่วงเอวหว่างขาต้องคลายไม่เช่นนั้นแรงภายในย่อมฝืดเคือง เมื่อจมช่วงเอวหว่างขาต้องปิดไม่เช่นนั้นแรงย่อมเกิดเพียงผิวเผิน ในใจความนี้คือจะต้อง คลาย จม ตั้งตรง และมีพลัง ตั้งตรงคือร่างกายตั้งขึ้นและตรงร่างกายต้องคงศูนย์ สงบนิ่ง ด้วยการรักษาการตั้งของก้นกบนั้น จิตวิญญาณถึงบรรลุจุดยอดบนศรีษะ โดยการรักษาท่าร่างที่ตั้งตรงจึงสามารถคงศูนย์ร่างกายเพื่อส่งแรงภายใน ออกสู่ภายนอกได้เต็มที่จากศูนย์กลางการหมุนของเอว ผ่อนคลายโดยให้เอวหดเข้าเล็กน้อยโดยการคลายความเกร็งในส่วนของชายโครงจะช่วยจมเอวลงล่าง เมื่อเอวคลายตัวสมบูรณ์ พลังงายภายในย่อมจมลงสู่ตันเถียนตามธรรมชาติทำให้ร่างกายส่วนล่างมั่นคง อีกทั้งร่างกายสามารถเคลื่อนไหวได้โค้ง ว่องไว และมีพลังยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเอวไม่ควรคลายมากเกินไป ถ้าเอวอ่อนไปย่อมไม่มีพลัง เช่นกันถ้าเอวใช้แรงมากเกินไปย่อมฝืดเคือง ความฝืดเคืองย่อมทำลายการคงศูนย์กลางของร่างกายภายในการเคลื่อนไหวอย่างว่องไวและการปล่อยพลังภายใน จมเอวคือยอมให้เอวจัดตัวลงตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการก้าวหน้า ถอยหลัง หรือการหมุนตัว การจมเอวจะเป็นการควบคุมศูนย์กลางของร่างกายที่ดีที่สุด สำคัญคือพึงจำไว้ว่าเอวคือศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของระยางค์ ตามหลักที่ว่า “ผสานการเคลื่อนไหวของท่อนบนและท่อนล่าง”
โดยการรวมศูนย์พลังของข้อต่อทั้งเก้าทั้งช่วงบนและช่วงล่างด้วยเอวจะทำให้สามารถปล่อยเน่ยจิ้งได้ นี่ไม่สามารถเรียนได้ในช่วงข้ามคืน หรือเรียนได้ง่ายดายโดยไม่มีอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ การบริหารต่อไปนี้มาจากท่ามือเมฆซึ่งช่วยอธิบายการใช้เอวนำการเคลื่อนไหวของแขนและมือ
-ยืนในท่าม้าสูง นำหนักทั้งสองข้างเท่ากัน แขนซ้ายอุ้มอยู่ด้านหน้าโดยฝ่ามือหันเข้าในระดับคอ ฝ่ามือขวายืดออกยังข้างขวาของร่างกายโดยฝ่ามือหันลงพื้นในระดับเอว
-ลำตัวท่อนบนค่อยๆหมุนต่อเนื่องไปทางซ้ายให้ฝ่ามือผ่านกัน ฝ่ามือซ้ายหมุนไปข้างหน้าขณะที่ฝ่ามือขวาหมุนหันฝ่ามือเข้าพร้อมเคลื่อนขึ้นด้านบน ฝ่ามือทั้งสองผ่านกันที่ระดับอก จากนั้นผ่ามือซ้ายเคลื่อนลงยังระดับเอวให้ฝ่ามือหันลง ฝ่ามือขวาเคลื่อนขึ้นระดับลำคอโดยหันฝ่ามือเข้าหาตัว ทำซ้ำอีกครั้งในทิศทางตรงข้าง
-การหมุนทั้งหมดควรเป็น180องศา ไปยังด้านขวาและซ้าย การบิดหมุนไม่เพียงแต่ทำให้ชำนาญในการใช้เอวแต่ยังช่วยในการนวดอวัยวะภายในของร่างกายส่วนล่าง การบริหารนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับ กระเพาะ ตับ ไต ลำไส้ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ และม้าม การบริหารนี้ยังมีประโยชน์อย่างมากต่อส่วนล่างและกระดูกสันหลัง