เนื้อหา
มวยไท่จี๋ตระกูลหยางเน้นหนักที่ฟาจิ้น
- 06/05/2021
- Posted by: Liang
- Category: Xiaochen's blog
การฟาจิ้น เป็นหนึ่งในเทคนิคการใช้จิ้นหรือแรงของมวยไท่จี๋ที่พิเศษ เพราะมันไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อยากเรียน แต่ยังสร้างความน่าสงสัยต่อผู้ที่ไม่เข้าใจอีกด้วยว่าในยุคสมัยนี้เราจะยังฟาจิ้นไปทำไม? และมันสำคัญยังไง?
ในมวยไท่จี๋ เอาจริงๆ จิ้นก็เป็นจิ้นไท่จี๋เดียวแหละ แต่ถ้าแบ่งการใช้หลักๆ ก็มีจิ้นที่พยายามที่จะติดกับอีกฝ่าย คือจิ้นฝั่งควบคุมเกาะติดทั้งหลาย กับจิ้นที่พยายามแยกจากอีกฝ่าย ก็คือการ “ฟ่าง” หรือปล่อย รวมถึงการฟาจิ้นด้วย ซึ่งถ้าฟาเพื่อปล่อยคนออกก็เรียก “ฟาฟ่าง”
จิ้นฝั่งควบคุม เอาจริงๆ ดูเหมือนจะมีประโยชน์มากกว่าการฟาคนออกเสียอีก เพราะมันยังใช้ควบคุมคนเวลาประชิดได้ แต่การฟาจิ้นฟาปลิวไปคนก็เดินกลับมา
มันจริงที่ฟาจิ้นเป็นอะไรที่พื้นๆ ในบรรดาแรงของมวยไท่จี๋ และเป็นแค่หนึ่งในการใช้จิ้น แต่การจะตัดสินว่าฟาจิ้นมีประโยชน์แต่เพียงเท่านั้นแล้วถามว่าฝึกไปทำไม เพราะฟาคนไปอีกฝ่ายก็เดินกลับมาอยู่ดี ก็เหมือนการถามว่าจะขี่จักรยานทำไม ในเมื่อเรามีรถยนต์ ซึ่งการถามเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่รู้ว่าการขี่จักรยานยังมีประโยชน์อื่นมากกว่าการถึงที่หมายและความเร็ว
ครูมวยตระกูลหยางหลายท่านต่างก็อธิบายตรงกันว่า ฟาจิ้นนั้นมีเคล็ดที่ฝึกเพียงเคล็ดเดียว นั่นคือ ซุ่น (順) หรือก็คือการไหลผ่านตามกันไปโดยไม่มีติดขัด อะไรทำนองนั้น
ฟาจิ้นนั้นมีเคล็ดที่ฝึกเพียงเคล็ดเดียว นั่นคือ ซุ่น (順)
ครูมวยตระกูลหยาง
ซุ่นในฟาจิ้น ก็คือการฝึกให้จิ้นเคลื่อนผ่านเส้นทางจิ้นในร่างกายไปยังคู่ฝึกอีกฝ่ายโดยไม่ติดขัด ซึ่งเส้นทางจิ้นนี้เรียกว่า “จิ้นลู่ (勁路)” ซึ่งจิ้นลู่นี่ก็เปรียบเหมือนถนนให้รถวิ่งนั่นแหละครับ
เราฝึกไท่จี๋ เริ่มจากมวยช้า หลักเบื้องต้นคือต้องให้ร่างกายบนล่างทำงานร่วมกันได้โดยไม่มีติดขัด เป็นการสร้างเส้นทางให้เชื่อมกัน ยังมีต้องจัดท่าทางต่างๆ ให้ถูกต้อง เพื่อให้การเคลื่อนไหวนั้นส่งแรงออกมาได้อย่างถูกต้องและไม่ขาดตอน พัฒนาเป็นจิ้นลู่ขึ้นมา
เมื่อมีจิ้นลู่ หรือเส้นทางจิ้น ก็ต้องฝึกฟาจิ้นให้จิ้นเดินทางผ่านจิ้นลู่ เหมือนถนนที่ต้องการรถน่ะครับ
ในคัมภีร์เดิมๆ อธิบายว่า จิ้นนั้นมีรากที่เท้า ฟาออกที่ขา ควบคุมโดยเอว สำแดงลักษณ์ที่นิ้วมือ ในตระกูลหยางมีเพิ่มเติมว่าฟาออกที่หลัง จิ้งที่ออกไปก็เดินทางผ่านจิ้นลู่นี่แหละ (แต่กระบวนการนี้ไม่ใช่การผลักขาไปข้างหน้านะครับ จิ้นเคลื่อนไหวไม่อยู่ที่การผลัก การผลักนั้นใช้กำลังหรือลี่ คนละอย่างครับ)
การฝึกฟาจิ้น ก็คือการฝึกให้จิ้นนั้น “ซุ่น” ผ่านจิ้นลู่นี่เอง
การฝึกสะบัดพลองหรือทวนในมวยไท่จี๋ก็เช่นกัน การส่งจิ้นออกไปที่หัวทวน ก็คือการฝึกส่งจิ้นผ่านจิ้นลู่ไปสะบัดหัวทวนหรือพลองนั่นเอง ทำให้การฝึกพลองยาวนั้นสำคัญมากในมวยไท่จี๋
เมื่อจิ้นเคลื่อนไหวผ่านในร่างกายได้อย่างไม่ติดขัด ก็ย่อมใช้จิ้นได้อย่างอิสระ ไม่ใช่แค่ฟาคนปลิว แต่ยังรวมถึงการตีการต่อย
ก็พูดกันง่ายๆ ถ้าในมวยไท่จี๋ จิ้นคุณไม่ซุ่น คุณจะตีคนอื่นได้ยังไง? ถูกมั้ยครับ
นอกจากนี้ที่คนมักเข้าใจผิดคือ คิดว่าฟาได้คือมีพลังแล้ว ทำได้แล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงคือ มันหมายถึงแค่คุณเริ่มพอจะฝึกอะไรได้เท่านั้นเอง และจะได้ผลดีจากฟาจิ้นจริงๆ คุณต้องฝึกฟาผ่านท่วงท่าและจิ้นลู่ในท่วงท่าแต่ละแบบ จนเกิด”เน่ยจิ้น” หรือแรงภายใน และ “กงลี่” หรือพลังสะสมจริงๆ ขึ้นมา
ดังนั้นการฟาไกลๆ หรือทำคนกระโดดขึ้นมาได้หรือไม่ มันหมายถึงคุณมีเน่ยจิ้นเพียงพอหรือไม่นั่นเอง
ว่าไปก็เหมือนขี่จักรยานครับ ใครก็ขี่เหมือนกัน อาม่าก็ขี่จักรยานไปตลาดได้ แชมป์ขี่จักรยานก็ขี่จักรยานเหมือนกันแต่สองคนนี้ฝึกมามากน้อยต่างกัน เปรียบเทียบกันไม่ได้เลย
ดังนั้นว่ากันง่ายๆ ถ้าคุณคิดว่านักมวยสากลบางเจ้าที่ฝึกโยนน้ำหนักทุกวัน แล้วเค้าแข็งแรงขึ้น ต่อยแรงขึ้น การฝึกฟาจิ้นโดยการโยนคนออกไปบ่อยๆ ก็ทำให้คุณแข็งแรงขึ้น ต่อยหนักขึ้นเช่นกันนั่นแหละ เพียงแต่เมื่อคุณชำนาญขึ้น อายุมากขึ้น คุณควรมองหาเทคนิคที่ละเอียดและมากขึ้นไปกว่านั้นบ้างตามเวลา ทำให้ภายหลังคุณอาจจะแค่ฟ่างสบายๆออกไปก็ได้ นั่นก็เป็นเรื่องที่ค่อยว่ากันไป
แต่ฟาจิ้นแบบพื้นฐานก็ยังคงมีคุณประโยชน์ของมันอยู่ในตัวที่ไม่ควรมองข้าม เช่นเดียวกับจักรยานที่ก็มีคุณของมันและไม่ควรถูกเอาไปเปรียบกับรถยนต์
จึงเป็นที่ว่ากันว่า “มวยไท่จี๋ตระกูลหยางเน้นหนักที่ฟาจิ้น”
เหลียง