เนื้อหา
สำนักมวยของเราสอนอะไรเป็นเรื่องแรก ?
- 06/05/2021
- Posted by: Liang
- Category: Xiaochen's blog
ในสำนักมวยของเรานั้น (จะเรียกโรงเรียนก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้เปิดโรงเรียน เลยต้องเรียกว่าสำนักให้มันฟังเท่ห์ๆ ไปก่อน) แยกแยะการฝึกในส่วนของการเรียนรู้เรื่องแรงและการใช้แรงเพื่อความเข้าใจแรงหรือจิ้น กับการพัฒนาแรงจากภายในออกค่อนข้างชัดเจน แต่การฝึกฝนอย่างถูกต้องตามระบบจะพัฒนาคุณภาพของแรงทั้งตัวแรง และการใช้อย่างร่วมกัน
อย่างคนเข้าใหม่ ผมมักจะสอนเรื่องแรงหรือจิ้นทันทีโดยไม่ปิดบัง เว้นแต่ดูแล้วอีกฝ่ายแค่อยากมาลองเรียนหรือลองเก็บของเก็บวิชาไป ซึ่งเรื่องแรงในส่วนนี้ มักจะเป็นการฝึกแตะสัมผัสฟังแรงกันเลย ขั้นตอนตรงนี้ไม่ยาก หากได้รับการแนะนำอย่างถูกต้อง และผู้ฝึกตั้งใจจริง พยายามทำความเข้าใจ ปฏิบัติตามหลัก เรียนรู้การใช้อี้ ละทิ้งการใช้แรง พยายามช่วยเหลือคู่ฝึกในการฝึกร่วมกัน ต่างฟังแรงช่วยเหลือกัน ทำความเข้าใจว่านี่คือการฝึกฝน ไม่ใช่การต่อสู้ต่อต้าน ก็ย่อมสามารถฝึกและเห็นผลเบื้องต้นของการฝึกได้ ไม่ว่าจะเป็นการถอนราก ทำให้คนลอยขึ้นมา หรือเคลื่อนคู่ฝึกให้ติดไปไม่ว่าหน้าหลังซ้ายขวา ก็ทำได้
แต่ประเด็นคือ ขั้นตอนนี้มันคือการเรียนรู้เรื่องแรง ยังไม่ใช่แรงแท้ จึงมักจะเกิดคำถามว่า แรงเบาขนาดนี้ ถึงจะเคลื่อนคนได้ แต่มันจะเอาไปใช้จริงในการต่อสู้ที่ใช้ความเร็วเต็มที่หรือต่อต้านเต็มที่ได้อย่างไร?
คำตอบคือไม่ได้ครับ มันเป็นการฝึกให้เห็นและเข้าใจแรงเฉยๆ
ขั้นตอนนี้จึงยากที่จะสอนคนที่พยายามใช้แรงเพื่อต่อต้านการฝึกตลอดเวลาและไม่ได้ตั้งใจจะ “ฟัง” แรงที่ได้สัมผัส เพราะมันเป็นคนละขั้นตอนกับการใช้งานจริง
เราเลยมักจะเห็นคลิปที่คู่ฝึกยืนโง่ๆ ให้คนโชว์แตะและคุมแรงแต่ฝ่ายเดียวนั่นแหละครับ
แต่ขั้นตอนการฟังแรงพื้นฐานนี้ สามารถไปต่อยอดในการใช้แรงหรือจิ้นในท่ามวย ชุดมวย การเคลื่อนไหว และการใช้จิ้นในการต่อสู้จริงในภายหลัง
อีกส่วนคือส่วนของการพัฒนาภายใน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องการการพัฒนาแรมปี เพื่อให้เกิดเน่ยจิ้น หรือแรงภายใน
ต้องเข้าใจก่อนครับว่า คำว่าแรงภายในแต่ละที่นิยามไม่ค่อยเหมือนกัน สมัยก่อนกับสมัยนี้ก็ยังนิยามแตกต่างกัน อย่างสมัยนี้มักจะนิยามว่าถ้าขยับคนได้บ้างคือมีภายในแล้ว (ซึ่งในสำนักเราจัดอยู่ในหมวดการเรียนพื้นฐานแรงเท่านั้น) ถ้าอย่างสมัยก่อน ผมขอยกตัวอย่างอาจารย์หยางปานโหวดังนี้
“วิชาทวนไท่จี๋ตระกูลหยางนั้นมีชื่อเสียงเลื่องลือ เนื่องจากปานโหวกงมีนิสัยใจร้อนความแข็งแกร่งก็ดุดัน จึงถูกมารดาสั่งให้ตัดหัวทวนออกเพื่อจะได้ไม่ทำร้ายผู้คน นี่คือเหตุผลที่ตระกูลหยางใช้พลองไม้เทียนขาวไร้หัวทวนในการฝึกและการใช้ ปานโหวกงเมื่อที่ประลองต่อสู้กับศัตรูจะใช้ทวนเหล็กหนัก 37 ชั่ง (19 กิโลกรัม) แต่ถูกปานโหวกงเมื่อที่ฝึกสะบัดพลองสะบัดแตกขาดเป็นเสี่ยง ไท่จี๋เน่ยจิ้นของท่านนั้น ช่างแข็งแกร่งเลิศล้ำน่าตกใจ!”
จะเห็นว่าในนิยามข้างต้น เน่ยจิ้นดูจะเป็นแรงแท้จากภายใน มากกว่าเทคนิคเคลื่อนคนจากการเรียนรู้เรื่องการใช้แรง
ในสำนักเรา เลยมีขั้นตอนการพัฒนาเน่ยจิ้นตรงนี้ ซึ่งก็ฝึกกันยาวอยู่
ที่แปลกคือ มันมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราบอกล่วงหน้าได้เลยว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนในขั้นตอนการฝึก
สิ่งที่มักจะเกิดก็เช่น อยู่ๆ หมดแรงไปหลายเดือน ใช้ชีวิตกลับไปเป็นเด็กแรกเกิด คือทั้งวันต้องการแค่กินกับนอน (เพราะร่างกายต้องการชี่มากขึ้น) หรือซักพักก็รู้สึกแข็งแรงขึ้น แต่พอฝึกไปถึงอีกขั้นนึงกลับรู้สึกว่าไม่เข้าใจแรงทั้งหมดที่เคยฝึกมาก่อนหน้านี้ แต่พอเข้าใจอีกครั้งกลับเข้าใจและพบวิธีใช้แรงที่ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง การหายใจลึกขึ้น ท้องน้อยเต็มขึ้น ร่างกายขยาย บางวันกลับไม่มีแม้แต่แรงเปิดขวด ภายในเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว รู้สึกถึงการแยกกันของเนื้อและกระดูก วันดีคืนดีรู้สึกว่ามีแรงมากขึ้นหลายเท่า บางทีรู้สึกว่าลืมการออกแรงปกติเพราะร่างกายเปลี่ยนสภาพ แรงหยุ่นขึ้น ร่างกายเริ่มมีแรงดีดสะท้อน แผ่นหลังขยาย ฯลฯ
การฝึกตรงนี้ เรียกว่าการฝึกหลัก “เน่ยกงซินฝ่า” และการพัฒนาตรงนี้ต้องไปฝึกร่วมกับการฝึกพัฒนาการใช้แรงในขั้นตอนก่อนหน้า ท่ารำ ผลักมือ ต่างๆ เพื่อพัฒนาจิ้นลู่ ให้เน่ยจิ้นสามารถ “ฟา” ออกมาได้
ซึ่งจิ้นแท้ตรงนี้ ไม่มีการที่อยู่ๆ มาฝึกแตะๆ กันจะทำได้เลย เพราะมันคนละเรื่องกับหมวดแรก ต้องอาศัยการสั่งสมแรมปี ต่อให้เรื่องการใช้แรงเองก็เถอะ การฝึกได้กับการเป็นมันก็คนละเรื่อง อย่างคนยิ่งธนู รู้ขั้นตอนแป๊บเดียวก็ฝึกยิงได้ แต่ยิ้งได้กับยิงเป็นก็ยังคนละเรื่อง คนเป็นจริงๆ ยังต้องผ่านการฝึกยิงลูกธนูมาหลายพันหลายหมื่นลูกอยู่ดี
การจะใช้จิ้นแท้ได้ ก็ต้องให้ภายในนั้นมีความ “ผ่านตลอดตามกัน” หรือ “ซุ่น” ซึ่งก็ต้องฝึกตัวจิ้นลู่ออกมาให้ได้เสียก่อน
ผมเคยเดินทางสอนทั่วโลก และในการสอนของผมก็เป็นการสอนผ่านเวิร์คช็อปต่างๆ ซึ่งทุกเวิร์คช็อปของผม ผมจะไม่รู้เลยว่าจะมีใครมาบ้าง เพราะผมไม่ได้เป็นคนจัดเวิร์คช็อปเอง แต่ทางผู้จัดจะรับคนเข้ามาเอง ผมจึงไม่เคยมีโอกาสได้รู้หรือเตรียมตัวว่าต้องเจอใครบ้างมาก่อนเลย
และในเวิร์คช็อป คนเสียเงินมาย่อมอยากรู้อยากลอง จนถึงอยากพิสูจน์เป็นธรรมดา หลายครั้งก็ต้องเจอคนลองต่อต้านหรือใช้แรงฝืนแปลกๆ คือถ้ามันเยอะไปกว่าขอบเขตที่เรากำหนดในเวิร์คช็อป ปกติผมก็จะข้ามไปบ้าง เพราะไม่ได้ต้องการให้มันเลยเถิด แต่ส่วนใหญ่เราก็ต้องรับมือให้ได้ และผมพบว่า หากขั้นตอนการคุมแรงในการแตะถูกต่อต้าน วิธีดีที่สุด คือฟาเน่ยจิ้นออกไป เพราะขณะที่คนกำลังพยายามสู้แรงที่เราคุม จะไม่ทันรับมือการฟาที่รวดเร็ว และมักจะตกใจได้ง่ายที่ถูกฟาออกไป
นอกจากนี้ การจะฝึกให้เน่ยจิ้นใช้ออกมาได้ และฝึกคำว่า “ซุ่น” ได้ ก็ต้องฝึกฟาจิ้นอยู่ดี
ว่ากันว่าเมื่อครั้งที่หยางเฉิงฝู่พำนักอยู่ที่กว่างโจว ท่านฝึกฟาจิ้นกับลูกศิษย์ โดยฟาลูกศิษย์ไปกระแทกผนังทุกวัน จนกระทั่งผนังล้มครืนพังลงมา
ฟาจิ้นก็เลยมีประโยชน์เช่นนี้
-เหลียง-
21 March 2021